เรื่อง-ภาพ โดย ขวัญชิต โพธิ์กระสังข์
เพราะทุกพื้นที่มีเรื่องราว
เพราะทุกชุมชนมีสิ่งดีงามมากมาย และทุก ๆ ที่ล้วนมีอะไรให้เราได้เรียนรู้อยู่ตลอด
บ่อยครั้งที่การเดินทางทำให้ได้พบเจอสิ่งใหม่
ๆ ดี ๆได้พบเจอ ได้พูดคุย ได้เรียนรู้ไปพร้อม ๆ กัน
แต่ในขณะเดียวกันบ้านเกิดของเราเองก็มีดีอยู่มากมาย หลากหลายมิติ มุมมอง
อยู่ที่เราจะมองเห็น
หากต้องเอ่ยถึงสถานศึกษา ที่แห่งนี้ก็คือหนึ่งในสถานศึกษาที่ต้องเอ่ยถึง
ที่มีการจัดการโดยการมีส่วนร่วมของชุมชนเป็นหลักจริง ๆ แม้จะเป็นโรงเรียนขนาดเล็ก
แต่การจัดการยิ่งใหญ่เกินตัว และจัดการเสมือนองค์กรชุมชนที่ทุกฝ่ายมีบทบาทพอ ๆ กัน+
ที่นี่คือโรงเรียนบ้านกันตรง ต.บึง
อ.เขวาสินรินทร์ จ.สุรินทร์
ครั้งนี้ (เสาร์ 9 พฤศจิกายน 2562) เป็นการเดินทางครั้งที่
4 สำหรับผมเองในรอบปีนี้ ด้วยมีภารกิจนำเสนอเรื่องราวจากชุมชนแห่งนี้ผ่านรายการ “นักข่าวพลเมือง”
และรายการสารคดี “ที่นี่บ้านเรา” ในตอน “กวยเซียนเตรี๊ยะ เด็กเลี้ยงควายที่กันตรง”
ที่มีการนำเสนอและออกอากาศไปแล้วทางช่อง ไทยพีบีเอส (เมื่อ วันพุธที่ 16 ตุลาคม
2562) 4 ครั้งก่อนคือการเดินทางมาเรียนรู้และนำเสนอผ่านรายการฯ
แต่คราวนี้คือการเดินทางมาร่วมยินดีกับผลผลิตของการร่วมแรงร่วมใจของชุมชนอีกหน ที่มีการลงแขกเกี่ยวข้าว
นับว่าเป็นเรื่องที่น่าภูมิใจสำหรับตัวเองด้วย
พิณี หาสุข ครูใหญ่โรงเรียนบ้านกันตรง
กล่าวว่า “วันนี้เรามีกิจกรรมลงแขกเกี่ยวข้าว เราใช้ชื่อกิจกรรมว่า “จับเคียว
เกี่ยวขวัญ” เป็นปีที่ 12 เป็นข้าวมะลิอินทรีย์ 105 บนแปลงนาคุณธรรมจำนวน 8 ไร่
วันนี้พิเศษกว่าทุกปีที่มีเครือข่ายนักเรียนเยาวชนกลุ่มลูกโลกสีเขียว จำนวน 8
จังหวัดอีสานตอนล่าง ซึ่งมาเข้าอบรมทำหลักสูตรสิ่งแวดล้อมศึกษา ในปีหนึ่ง ๆ
จะได้ข้าว 3 ตันกว่า ๆ บางปีก็ได้ 4 ตัน อยู่ที่ความสวยงามของข้าว
ข้าวทั้งหมดนี้ จะนำเข้าโครงการอาหารกลางวันนักเรียน
100 % เป็นอาหารปลอดภัย เด็กจะได้รับข้าวที่มีคุณภาพและปลอดภัย”
รณกร เผ่าวิจารณ์ นายอำเภอเขวาสินรินทร์
จังหวัดสุรินทร์ กล่าวว่า “เห็นภาพบรรยากาศแบบนี้แล้ว นึกถึงภาพสมัยเด็ก
ที่เราลงแขกเกี่ยวข้าว เป็นการช่วยกันในหมู่พี่น้องชาวนา ได้พูดคุยหยอกล้อ
กระเซ้าเหย้าแหย่กันไป ที่นี่เป็นได้ทั้งแหล่งเรียนรู้ต้นแบบ
เป็นทั้งศูนย์เรียนรู้ ที่สำคัญที่เราเห็นคือน้อง ๆ ซึ่งเด็กยุคใหม่เขาไม่รู้จักการเกี่ยวข้าว
การดำนา ให้น้อง ๆ เขาได้ดำนาเป็น เกี่ยวข้าวเป็น รู้จักมัดฟ่อนข้าว ไม่ใช่ใช้รถเกี่ยวแล้วสำเร็จเป็นเมล็ดเลย
ถือว่าเป็นสิ่งที่ดีมากครับ”
ด้าน จีรภัฐร์ ลาทอง นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่
4 โรงเรียนจอมพระประชาสรรค์ จังหวัดสุรินทร์ กล่าวว่า “มากับเพื่อน ๆ
สิบกว่าคนและคณะครู มาร่วมกิจกรรมเกี่ยวข้าว
รวมถึงได้มาทำรายงานส่งคุณครูผ่านงานสารคดีด้วย ได้ความสนุกสนานได้เรียนรู้มากมาย
และได้เพื่อนใหม่ ๆ ด้วยค่ะ”
ทัศวรรณ ศรีชาเชต โรงเรียนปลาค้าววิทยานุสรณ์
จังหวัดอำนาจเจริญ กล่าวว่า “มาเรียนรู้กับพื้นที่ที่นี่ เรามากัน 6 คน
โดยมีนักเรียน 3 คนและคุณครูรวมถึงครูภูมิปัญญาด้วย มาเรียนรู้ร่วมกันได้เห็นระบบนิเวศน์ที่สัมพันธ์กัน
และความอบอุ่นของชุมชนที่นี่ที่ช่วยเหลือกัน ได้มาร่วมเกี่ยวและเก็บฟ่อนข้าวช่วยกัน
สนุกมากค่ะ”
เช่นเดียวกับ ศิริกัญญา
สุวรรณคำ คุณครูจากโรงเรียนบ้านอีเซ (คุรุราษฎร์วิทยา) อ.โพธิ์ศรีสุวรรณ
จ.ศรีสะเกษ กล่าวว่า “ได้มาเห็นธรรมชาติของจริง นักเรียนได้มาลงมือเกี่ยวข้าวด้วยมือตัวเองจริง
ๆ ถือว่าเป็นสิ่งดี ๆ ที่ได้มีโอกาสพานักเรียนมาร่วมกิจกรรมครั้งนี้
มีความสุขมากได้เห็นความร่วมมือหลายภาคส่วนที่ไม่ใช่แค่นักเรียนในโรงเรียน
แต่ยังมีพระสงฆ์ ชุมชน ทหาร ตำรวจ เป็นภาพบรรยากาศที่หาชมได้ยาก รู้สึกอบอุ่นที่ทุกคนร่วมมือกัน”
ด้าน ปรีชา อนันตา พลทหาร
จาก มทบ.25 จ.สุรินทร์ กล่าวว่า “ได้ร่วมลงแขกเกี่ยวข้าวอย่างนี้แล้วคิดถึงบ้านตัวเองเลย
และภาพแบบนี้หาชมไม่ได้แล้ว หายากมากเพราะทุกคนก็ต่างเร่งรีบ ใช้รถเกี่ยวนวดเข้ากันหมดเลย
ถ้าได้มีแบบนี้ทำให้พี่น้องญาติมิตรจะได้มาร่วมกัน คงดีมากครับ อบอุ่นมากครับ”
.
.
แปลงนาแห่งนี้ เมื่อเก็บเกี่ยวผลผลิตข้าวเสร็จแล้ว
จะถูกแปรสภาพเป็นแปลงสวนเกษตรที่จะมีการปลูกพืชผักต่อไป ใช้พื้นที่ให้เกิดประโยชน์
โดยจะมีกิจกรรมต่อมาคือ “พ่อขุด แม่ปลูก ลูกดูแล” ทั้งหมดทั้งมวลคือการเรียนรู้บูรณาการร่วมกันของโรงเรียน
ชุมชนและเครือข่ายฯ ต่อไป
.
นี่คงเป็นอีกเพียงแค่กิจกรรมหนึ่งเท่านั้นที่โรงเรียนขนาดเล็กแห่งนี้ได้จัดขื้น
เพื่อรักษาวิถีวัฒนธรรม
รากเหง้าของบรรพบุรุษให้ลูกหลานได้เรียนรู้และได้สัมผัสเอาไว้ หากไม่ทำก็คงจะสูญสิ้นไปในไม่ช้า
และเป็นการฝึกทักษะให้ลูกหลานนักเรียนได้ใช้ทักษะให้เกิดประโยชน์ในสังคมยุคปัจจุบัน
.
เพราะนี่คือความสุขจากอีกหนึ่งพื้นที่ที่เราพบเจอ
ที่บ้านของเรา ฮักเฮา ความสุขที่บ้านเรา
#ฮักเฮา
#สุขนี้ที่บ้านเรา
#Hug-House
#HugHouse
.
วีดิโอ ประกอบ Hug House :
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น