วันพฤหัสบดีที่ 24 ตุลาคม พ.ศ. 2562

[ มีคลิป ] พรมแดนไม่กั้นวิถีของเรา กฐินสองแผ่นดิน ไทย-กัมพูชา | HUG HOUSE [สุขนี้ที่บ้านเรา]


[ มีคลิป ] พรมแดนไม่กั้นวิถีของเรา ไทย-กัมพูชา  | HUG HOUSE [สุขนี้ที่บ้านเรา]



เรื่อง-ภาพ โดย ขวัญชิต โพธิ์กระสังข์



ทุกครั้งที่ได้ออกเดินทาง  จะด้วยภาระหน้าที่หรือด้วยความเห็นอกเห็นใจของนักเดินทางชวนร่วมออกไปด้วยกันก็ตาม นั่นคือทุกครั้งที่อยากเก็บเกี่ยวเอาประสบการณ์ดี ๆ ไว้ให้มากที่สุด เพราะถือว่าเป็นสิ่งล้ำค่าสำหรับชีวิตที่ได้พบเจอ ได้เห็นผู้คน ได้พูดคุยและเรียนรู้ไปพร้อม ๆ กันด้วย
ครั้งนี้ก็เช่นกัน ได้นำชีวิตออกก้าวไปสู่พรมแดนอีกประเทศหนึ่งที่ห่างจากบ้านเกิดไม่เกิน 100 กิโลเมตร ซึ่งโดยส่วนตัวไม่เคยคิดว่ามันเป็นอีกประเทศหนึ่งเลยก็ตาม เราสื่อสารกันคนละภาษาก็จริง ทว่าผมกลับรู้สึกว่า นี่ก็คืออีกภาษาที่ผมรับรู้เรื่องราวนั้น ๆ

ที่เอ่ยถึงคือ ราชอาณาจักรกัมพูชา
ภูมิเดิม หรือ ข้อมูลในหัวที่มีเกี่ยวกับประเทศแห่งนี้ คือ เป็นประเทศที่ยังคงรักษาสิ่งเก่า ๆ วิถีเดิม ๆ เรื่องราวแบบไทยเราเมื่อสัก 40 ปีก่อนหน้านี้ ส่วนผู้คนคิดว่าคงไม่แตกต่างจากเรามากนัก การสื่อสารคงไม่ยากสำหรับการคาดเดา ส่วนอาหารการกินนั้น ก็คงมีอะไรแบบไทยเรานั่นเอง แม้จะเคยมาประเทศแห่งนี้มาก่อนแล้วหลายครั้งก็ตาม

20 ตุลาคม 2562 เช้าแห่งวันอาทิตย์ คณะร่วมเดินมีรถตู้โดยสารและรถยนต์ส่วนบุคคล รวมแล้วประมาณ 30 คันเห็นจะได้ มุ่งสู่จุดผ่านแดนถาวรช่องสะงำ อำเภอภูสิงห์ จังหวัดศรีสะเกษ เพื่อทำเรื่องผ่านแดน

แต่โชคดีของผม ที่ได้นั่งรถยนต์ส่วนบุคคลกับท่าน ผอ.วรการ น้อยสงวน ซึ่งเป็นคนในพื้นที่ ได้มุ่งหน้าเข้าสู่วัดไพรพัฒนา ก่อน ด้วยมีเป้าหมายแรกคือการต้อนรับผู้ว่าราชการจังหวัดพระวิหาร ประเทศกัมพูชา (ท่าน Brak sowan) ที่ท่านเดินทางมาพักผ่อนเป็นการส่วนตัวและกราบไหว้หลวงปู่สรวง ณ วัดไพรพัฒนานี่เอง

ก่อนที่จะออกเดินทางไปสมทบกับคณะที่รออยู่ที่ด่าน
ใช้เวลาที่ด่านพอสมควร ด้วยว่าคณะที่ร่วมเดินทางและรถที่เพิ่มจำนวนมากกว่าที่ได้แจ้งเอาไว้มาก ทำให้ล่าช้าในการดำเนินการเอกสารในการข้ามพรมแดน แต่กระนั้นก็ไม่ใช่อุปสรรค์นัก

10.10 น. ขบวนรถได้เคลื่อนจากช่องจวม อำเภออัลลองเวง ประเทศกัมพูชา (ข้ามมาจากช่องสะงำ จังหวัดศรีสะเกษ) โดยรถต้องเดินเลนขวาของถนน
ระหว่างทาง สังเกตเห็นภูเขา ทุ่่งนา และต้นไม้ ผลไม้ต่าง ๆ อาทิ มะม่วง มะพร้าว มันสำปะหลัง ข้าวและอื่น ๆ ที่ดูเหมือนว่าจะถูกจัดสรรเป็นแปลงไว้ บางแห่งยังคงเป็นสภาพที่โล่งไม่ได้มีการทำเกษตรใด ๆ สิ่งที่สังเกตเห็นนี้ เหมือนว่าที่ระหว่างทางเหล่านี้ เพิ่งถูกจัดสรรให้ทำการเกษตรได้ไม่นานนัก หากคาดเดาด้วยสายตาคงไม่น่าเกิน 25 ปีก่อนหน้านี้เป็นแน่ ส่วนบ้านเรือนสองข้างถนนที่พานพบ กลับเป็นบ้านไม้ส่วนใหญ่ ชั้นครึ่งไม่สูงนักและมีรถยนต์ไถนาเดินตามประปราย และเมื่อผ่านพื้นที่ที่เป็นตำบล ก็จะรับรู้ได้ด้วยการมีผู้คนสัญจรไปมาเยอะและมีร้านค้าขายของที่อยู่ติดถนน

11.35 น. โดยประมาณ คณะได้มาถึงเป้าหมายแรก นั่นคือ วัดกุ๊กพลุ๊ก ต.โกนกรีล อำเภอสำโรง จ.อุดรมีชัย (Trapeang Tao, Siemreab-Otdar Meanchey, Cambodia ) หรือพิกัดที่ https://www.facebook.com/places/sing-thi-txng-tha-ni-Trapeang-Tao-Siemreab-Otdar-Meanchey-Cambodia/115807325097101/
วัดที่เห็น มีศาลาไม้หลังเก่า 1 หลัง ศาลาไม้หอฉัน 1 หลัง มีกุฏิไม้ และปูนที่อยู่ติดๆ กันอีกจำนวนหนึ่ง และศาลาปฏิบัติธรรมที่สร้างเสร็จแล้วเป็นปูนและกระจกงดงาม ด้านในสะอาดสะอ้าน และมีการก่อสร้างเป็นอุโบสถ ที่ขึ้นโครงสร้างและก่อเป็นรูปร่างเป็นฐานไว้แล้ว และมีพื้นที่ว่าง ๆ มีการปลูกข้าวที่กำลังออกรวงข้าว แก่แต่ยังไม่สุกนัก เป็นพันธุ์ผกาลำดวน ข้าวพันธุ์พื้นถิ่นของชาวกัมพูชาที่นี่
การต้อนรับคณะ มีนักเรียนแต่งชุดนักเรียน เสื้อขาวกางเกงขายาวสีดำ หากคาดคะเนด้วยสายตาแล้ว มากกว่า 100 คนเป็นแน่ยืนเรียงรายสองข้างทางภายในวัดยกมือไหว้ผู้มาเยือนด้วยความยิ้มแย้ม และมีคณะนักดนตรีพื้นบ้านที่มีการแต่งกายเป็นคล้ายมาสคอต ร่างใหญ่ 2 ตัว ที่เต้นไปตามจังหวะดนตรีที่ประโคมด้วยเครื่องดนตรีน้อยชิ้น ประกอบด้วย กลองโทน ซอ และฉาบ
ในขณะเดียวกัน มีการประดับด้วยธงที่แปลกตาภายในวัด ที่เหมือนนำผ้าหลากสี อาทิ สีเขียว สีแดง สีขาว สีน้ำเงิน สีม่วง มามัดทำให้เกิดข้อสงสัยที่ไม่เคยเห็นเพราะแปลกตา หากเป็นเมืองไทยจะพบเจอเพียงธงธรรมจักรสีเหลืองเท่านั้น ทำให้เกิดข้อสงสัยเพื่อรอคำตอบ และมีการขังธงที่ตัดเป็นสามเหลี่ยมขึงยาวตามเชือกด้านบน ทำให้นึกถึงเมื่อยามเด็กเคยตัดกระดาษแก้วแล้วขึงในงานวัดบ้านนอกเรา
คณะมาถึง เจ้าของพื้นที่คณะสาธุชนชาวกัมพูชาเองก็ยืนต้อนรับและมีการนำอาหารมาขึ้นโต๊ะ นิมนต์พระคุณเจ้าจากประเทศไทยและกัมพูชา มาร่วมฉันภัตตาหารเพล และตามด้วยสาธุชน อาหารการกินก็แบบบ้าน ๆ เหมือนเป็นกับข้าวที่ชาวบ้านนำมาจังหันเช่นนั้น
บ่ายโมงโดยประมาณ เริ่มขบวนแห่กองกฐิน รอบอุโบสถและรอบทุ่งนาภายในบริเวณวัดก่อนเข้าสู่ศาลาหลังใหม่ ผู้คนเต็มแน่นอย่างเห็นได้ชัด มีการประกาศใช้เสียงจากคณะทั้งภาษาไทย และภาษาเขมรถิ่นไทย สลับกับภาษาเขมรกัมพูชาเอง ซึ่งทั้งหมดทั้งมวลก็สามารถฟังกันได้

คุณยายชาวเสียมเรียบ กัมพูชา อายุ 70 ปี เล่าให้ฟังเป็นภาษาถิ่นเขมรกัมพูชา แปลได้ใจความว่า “คุณยายมาจากบ้านไซร ซนอม จังหวัดเสียมเรียบ มีลูก 4 คนได้หลานกันหมดทุกคนแล้ว เขาก็แยกย้ายไปทำงานที่อื่นหมด จึงอยู่กับคุณตาแค่สองคนเท่านี้ เพราะถือว่าเป็นงานบุญใหญ่ เลยมาเอาบุญกับคณะ”

คุณยายชาวอุดรมีชัย กัมพูชา วัย 71 ปี กล่าวเป็นภาษาถิ่นเช่นกัน แปลได้ใจความว่า “มาจากบ้านจรืง สังกัดโกนกรีล เขตอุดรมีชัย พอรู้ว่าพี่น้องมาจากประเทศไทย ก็มาด้วย ยายมาด้วยกันสองคน ขี่รถไถมาสองคนกับคุณตา จากบ้านมาที่วัดแห่งนี้ประมาณ สามกิโลเมตร ซึ่งเดิมปีคุณยายเป็นคนที่เกิดที่เมืองไทย พ่ออยู่ศรีสะเกษ แม่อยู่สุรินทร์ แต่ด้วยภัยสงครามเลยได้มาอยู่ฝั่งตรงนี้ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาเลย อบอุ่นและติดตามข่าวคราวของพี่น้องจากฝั่งไทยที่มาเยี่ยมก็จะมาต้อนรับและมาหาแบบนี้ทุกครั้ง”

ในขณะที่เรื่องหลายเรื่องราวที่ได้สื่อสารกัน มีหลายอย่างที่น่าสนใจไม่น้อย รวมไปถึงเรื่องข้าวที่ทางวัดก็ปลูกเอาไว้ในบริเวณวัดที่กำลังมีผลผลิตแต่ยังไม่พร้อมเก็บเกี่ยวนัก ซึ่งเป็นข้าวจ้าวพื้นถิ่นของชาวกัมพูชา ชื่อว่า “ข้าวผกา ลำดวน” สำเนียงภาษาถิ่นเรียก “ปะเกีย-ฮือตวลย์” หรือภาษาต่างชาติใช้คำว่า “Phka-Rumdoul” สูงประมาณ 120-130 ซม. นับว่าเป็นข้าวที่เคยคว้ารางวัลข้าวที่ดีที่สุดในโลกติดต่อกันมาเป็นเวลา 3 ปี ระหว่างปี 2012-2014 เลยทีเดียว ในการประกวด “World Best Rice” ที่ใช้เกณฑ์ในการตัดสิน 5 ด้านหลัก ได้แก่ ด้านกลิ่น รสชาติ ความเหนียวนุ่ม ความชื้น และรูปร่างลักษณะของข้าว นั่นเอง

ไม่นานนัก เสียงประกาศตามสายเข้าลำโพงฮอร์น ที่ตั้งบนเสาร์ไม้ไผ่หน้าศาลาก็ดังขึ้นด้วยสำเนียงภาษาไทย สลับกับภาษาถิ่นแจ้งบอกลำดับพิธีการทอดกฐิน รวมถึงมีการเจริญพระพุทธมนต์ในสำเนียงด้วยบทสวดสำเนียงภาษาถิ่นกัมพูชา ก็ดูมีมนต์เสน่ห์ขลังแบบกัมพูชาไม่น้อยเลย
อาจารย์วรการ น้อยสงวน ผู้นำคณะจากอำเภอภูสิงห์ จังหวัดศรีสะเกษ กล่าวว่า “การทำบุญทอดกฐินสามัคคีครั้งนี้ เป็นการเชื่อมความสัมพันธ์อันดีระหว่างสองประเทศ ซึ่งมีพรมแดนติดกัน โดยกฐินนี้มีชาวกัมพูชาที่มาจากจังหวัดเสียมเรียบ จังหวัดอุดรมีชัย จังหวัดบันเตียเมียนชัยและจังหวัดพระวิหาร ราชอาณาจักรกัมพูชา ส่วนที่มาจากประเทศไทยก็นำโดยหลวงพ่อเจ้าคณะอำเภอไพรบึง จังหวัดศรีสะเกษ และศิษยานุศิษย์ที่มีในเขตอำเภอภูสิงห์ อำเภอปรางค์กู่ อำเภอขุขันธ์ อำเภอขุนหาญ รวมถึงจังหวัดสุรินทร์และบุรีรัมย์ด้วย และได้ปัจจัยถวายกว่า 10 ล้านเหรียญกัมพูชา”



จากยอดกฐินทุกคณะรวมแล้ว ได้สิบล้านกว่าเหรียญกัมพูชา จากทุกคณะสายบุญทั้งจากฝั่งไทยและกัมพูชาเอง

เมื่อภารกิจในศาลาหลังใหม่ในการดำเนินกิจการทางพิธีกรรมสงฆ์เรียบร้อยแล้ว รถตู้ก็ทยอยเรียงแถวกลับยังจุดผ่านแดนถาวรช่องจวม อำเภออัลลองเวง ประเทศกัมพูชาเพื่อข้ามไปยังช่องสะงำ อำเภอภูสิงห์ จังหวัดศรีสะเกษ ประเทศไทยเรา
เมื่อคณะส่วนใหญ่กำลังทยอยกลับ ผมยังอยู่กับอีกคณะเล็ก ๆ ที่กำลังคุยกับคณะทางวัดยังไม่พร้อมกลับนัก จึงได้เดินทางไปต่ออีกประมาณ 30 กม. ซึ่งอยู่ในพื้นที่อำเภอเดียวกันนั้น เป้าหมายคือที่ว่าการอำเภอสำโรง ที่กำลังมีการแข่งขันเรือประจำปีของที่นี่ มีผู้ใหญ่ของประเทศหลายจังหวัดในกัมพูชาเหนือมาร่วมในงานครั้งนี้ด้วย ในขณะเดียวกันวันนี้เป็นวันอาทิตย์ ทำให้ได้เรียนรู้วิถีของผู้คนที่นี่ด้วย และที่แห่งนี้ก็มีลานกิจกรรมให้เด็ก ๆ ได้มาใช้พื้นที่สนุกสนานรวมถึงจับจ่ายใช้สอยเป็นอย่างมาก ปักหมุดสถานที่แข็งขันเรือประจำปีของอำเภอสำโรง  Somrong, Siemreab-Otdar Meanchey, Cambodia  https://www.facebook.com/places/sing-thi-txng-tha-ni-Somrong-Siemreab-Otdar-Meanchey-Cambodia/110330342319057/?__tn__=kC-R

วันอาทิตย์ เป็นวันครอบครัว ชาวกัมพูชาจะถือว่าเป็นสำคัญอย่างมาก จะออกมาจับจ่ายใช้สอยกันเป็นครอบครัวเลย ดูครึกครื้นมาก ผู้คนมากมาย มีสินค้าที่วางแบกะดิน มีบูธอาหารของกินมากมาย มีผลไม้ด้วย อย่างเช่น น้ำมะพร้าวที่เราซื้อกินนี่ 3 ลูก เป็นเงิน 100 บาทไทย ซึ่งเขาก็รับมาจากประเทศไทยนี่เอง” หนุ่มหน้ามนคนภูสิงห์ วัย 40 ปี ที่มาด้วยกันเล่าให้ฟังถึงบริบทคนกัมพูชาในวันหยุดพักผ่อนเช่นนี้

ครั้นเวลาก็ล่วงเลยผ่านได้เวลา สี่โมง เราก็พากันเคลื่อนจากอำเภอสำโรง จังหวัดอุดรมีชัย ประเทศกัมพูชา ขณะกลับเราพบเห็นรถที่เสมือนหนึ่งรถโดยสารประจำทางของผู้คนที่ขนเพื่อนบ้านและครอบครัวไปทั่วกันในเลนตรงกันข้ามกับเรา นั่นก็คือ รถแต็กแต๊ก หรือรถไถนาพ่วงบ้านเราที่บันทึกผู้โดยสารเต็มคันรถเกือบทุกคัน ทำให้รับรู้ถึงความอบอุ่นแบบบ้าน ๆ รวมถึงรถมอไซค์ หรือที่นี่จะเรียกกันว่า “โมโต” ที่พ่วงด้วยการบรรทุกสินค้าต่าง ๆ เหมือนกับรถกระบะบ้านเราเช่นนั้นเลย ทำให้รู้ถึงคุณค่าของสินค้าที่ตัวเองมีเลย ใช้ได้คุ้มค่ามาก ๆ

ประเทศกัมพูชา ทำให้ผมได้พบเจอผู้คนมากมาย หลากภาษา หลายสิ่งที่ไม่เคยเจอ ไม่เคยรู้ได้รับรู้และสัมผัสในการเดินทางครั้งนี้ ซึ่งก็นับว่าเป็นอีกครั้งของการเดินทางที่มีค่ามาก และคิดว่าที่นี่ยังมีอะไรให้ได้เรียนรู้ ชวนมาสัมผัสอีกไม่น้อยเลย และไม่นานนี้คงได้มีโอกาสเดินทางมาร่วมสัมผัสมนต์เสน่ห์แห่งนี้อีก

ผมสัญญากับความรู้สึกตัวเอง
บันทึกช่วยจำกับตัวเองในวันเดินทางสู่ดินแดนอารยธรรมขอมโบราณ ประเทศกัมพูชา

ขอบคุณทุกความอบอุ่น และขอบคุณทุกท่านที่เมตตาผมตลอดการเดินทาง
ฮักแพงครับผม



วีดิโอลิงค์ youtube : 







































ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ทุ่งกะบาลกะไบแห่งเทือกเขาพรมแดนไทย-กัมพูชา พื้นที่เปิดแห่งใหม่เหมาะกับนักเดินทางและนักประวัติศาสตร์

“บุญ” ต้องฟรี วัดไตรสามัคคี’ จ.ศรีสะเกษ ติดป้ายชัดเจน ทำบุญที่นี่ “ฟรี” ไม่เสียตังค์ [มีคลิป]

ที่วัดไตรสามัคคี ต.โดด อ.โพธิ์ศรีสุวรรณ จ.ศรีสะเกษ เป็นวัดท่องเที่ยวเชิงพุทธอีกแห่งของจังหวัดศรีสะเกษ ที่กำลังเป็นที่นิยมในการทำบุญของพุทธศา...