วันจันทร์ที่ 23 กันยายน พ.ศ. 2562

โขนขุขันธ์’62 ฟื้นคืนชีพ ที่ลานอนุสาวรีย์ตากะจะ ผู้ชมแน่นล้นหลามหาชมไม่ได้แล้ว | HUG HOUSE [สุขนี้ที่บ้านเรา]


โขนขุขันธ์’62 ฟื้นคืนชีพ ที่ลานอนุสาวรีย์ตากะจะ ผู้ชมแน่นล้นหลามหาชมไม่ได้แล้ว | HUG HOUSE [สุขนี้ที่บ้านเรา]

เมื่อ 23 ก.ย. 62 ณ ลานอนุสาวรีย์ตากะจะ อ.ขุขันธ์ จ.ศรีสะเกษ มีการจัดงานสัปดาห์แซนโฎนตาอำเภอขุขันธ์ และมีการจัดนิทรรศการ การเรียนรู้เรื่อง “โขนขุขันธ์” ศิลปะชั้นสูง ที่หายไปจากถิ่นขุขันธ์ร่วม 135 ปี สภาวัฒนธรรมอำเภอขุขันธ์ และ โรงเรียนอนุบาลศรีประชานุกูล จึงได้มีการรื้อฟื้นศิลปะนาฏศิลป์ชิ้นนี้ขึ้นอีกครั้ง โดยใช้เป็นการเรียนการสอนและให้นักเรียนได้ลงมือแสดงด้วยตนเองในปีการศึกษา 2562 ที่ผ่านมา และมีการนำเสนอนิทรรศการ โดยมีการเปิดนิทรรศการโดย ผู้อำนวยการเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาศรีสะเกษ เขต 3 เป็นประธาน รวมถึงมีการแสดงในค่ำคืนของวันที่ 23 กันยายน ด้วย ได้รับการตอบรับจากผู้ปกครองและนักท่องเที่ยวมาร่วมชมและให้กำลังใจอย่างเนืองแน่น
พิธีเปิดนิทรรศการ โขนขุขันธ์

“โรงเรียนของเรา ได้รื้อฟื้น โขนขุขันธ์ ขึ้นมา โดยมีชุมนุมโขนขุขันธ์อนุบาลศรีประชานุกูล ได้ทำการเรียนการสอนในชั่วโมงชุมนุม เพื่อเป็นการรื้อฟื้น อนุรักษ์ และสานต่อเอาไว้ที่เป็นอัตลักษณ์ของอำเภอขุขันธ์เราให้คงอยู่สู่รุ่นหลังต่อไป” ดร.ครรชิต  ไชยโพธิ์ ผู้อำนวยการโรงเรียนอนุบาลศรีประชานุกูล อำเภอขุขันธ์ จังหวัดศรีสะเกษ
ผู้อำนวยการโรงเรียนอนุบาลศรีประชานุกูล อ.ขุขันธ์ กล่าวรายงานต่อ ผู้อำนวยการเขตพื้นที่การศึกษาฯ


“การเรียนรู้ในเรื่องของวรรณกรรม วรรณคดีไทยทั้งหลายเป็นเรื่องของอดีตที่เราเอามาใช้ทำการเรียนการสอนกัน เป็นความงามของภาษาไทย เพียงถ้าเป็นเรื่องวรรณกรรมที่อยู่ในหนังสือ อ่านไปก็อยู่ตรงนั้น แต่ที่โรงเรียนอนุบาลศรีประชานุกูล นำมาปรับใช้ โดยเป็นผู้แสดงจริง เป็นการเรียนรู้ที่เห็นจากของจริง และได้เรียนรู้ในสิ่งที่กระทำเอง เรียนรู้เอง ปฏิบัติด้วยตัวเอง ทำให้รู้สึกว่าการเรียนรู้ง่ายขึ้น และต้องมีการขยายผลไปยังโรงเรียนอื่นให้นักเรียนได้รู้เอง ทำเอง นอกจากการเป็นการอนุรักษ์แล้วยังเป็นการสร้างการเรียนรู้ตามแนวทางวิธีการ Active learning ด้วย” ดร.ไพบูลย์ ศรีสุธรรม ผู้อำนวยการเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาศรีสะเกษ เขต 3
ผู้อำนวยการเขตฯ เดินชมนิทรรศการ ให้กำลังใจ

“โขนขุขันธ์ ถือว่าเป็นศิลปะชั้นสูง ที่มีมาตั้งแต่ก่อนสมัยรัชกาลที่ 5 และมีอายุ 100 กว่าปี ซึ่งได้สูญหายไประยะหนึ่งจากขุขันธ์บ้านเรา สภาวัฒนธรรมอำเภอขุขันธ์จึงได้ปรึกษาหารือกับหลายฝ่ายว่าควรรื้อฟื้นขึ้นมาอีกครั้ง ซึ่งถ้าจะรื้อฟื้นโขนโดยให้ผู้ใหญ่เล่น เราต้องไปจ้างคนมาดู เราจึงให้คนรุ่นลูกรุ่นหลานเราได้เรียนรู้และได้รู้จักความสำคัญของโขนไปด้วย ก็จะมีเป็นการอนุรักษ์ไปในตัวด้วย” นายขวัญชัย ไชยโพธิ์ ประธานสภาวัฒนธรรมอำเภอขุขันธ์
ส่วนหนึ่งจากการเขียนและออกแบบโดยฝีมือนักเรียนและคณะครู

การแสดงโขนขุขันธ์ มีมาสมัยรัชกาลที่ 5 ตั้งแต่ปี 2426 ได้มีการนำโขนมาจากกรุงเทพฯ ตั้งแต่ท่านเจ้าเมืองขุขันธ์ท่านที่ 9 (พระยาขุขันธ์ภักดีศรีนครลำดวน (ปัญญา ขุขันธิน) โดยมีครูโขนจากกัมพูชามาถ่ายทอด โดยใช้ภาษาเขมรในการถ่ายทอด มีการแสดงได้เพียงปีเดียว ก็หายไป และได้มีการฟื้นขึ้นมาอีกครั้งในปี 2511 เพื่อเข้าร่วมแสดงในงานกาชาดและเฉลิมฉลองจังหวัดศรีสะเกษ และหลังจากปี 2515 ก็ไม่ได้นำมาแสดงอีกเลย
กระทั่งในปี 2562 นี้ โรงเรียนอนุบาลศรีประชานุกูล และ สภาวัฒนธรรมอำเภอขุขันธ์ ร่วมกับภาคีเครือข่ายฯ จึงได้มีการรื้อฟื้นให้โขนขุขันธ์ ศิลปะชั้นสูงนี้กลับมามีบทบาทอีกครั้งและได้รับการตอบรับด้วยดีจากทุกภาคส่วน


ขวัญชิต โพธิ์กระสังข์ / กลุ่มอนุรักษ์วัฒนธรรมกวยตำบลโพธิ์กระสังข์
23 กันยายน 2562















วันจันทร์ที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2562

กันตรง : โรงเรียนกล้ารักษ์โลกและรักควายด้วย | HUG HOUSE [สุขนี้ที่บ้านเรา]

สุรินทร์ – โรงเรียนเล็กปลูกสร้างกล้าชีวิตสืบสานปณิธานรักษ์โลกด้วยมือเรา

ระบบการศึกษาไทยในยุคปัจจุบัน ที่เรียกว่า การศึกษาในยุคศตวรรษที่ 21 ที่มุ่งเน้นผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาให้ได้ผลดี ทำให้เกิดการแข่งขันผ่านกระบวนการทางวิชาการที่ลงมาสู่ผู้เรียนโดยตรง โดยมีนโยบายจากเบื้องบนลงมาให้ผู้บริหารเขต สั่งการมากำกับ กำชับผู้บริหารสถานศึกษาและคณะครูอีกทอด แต่ทว่านโยบายต่าง ๆ กลับถูกเรียกได้ว่านโยบายรายวัน รายเดือน รายปีการศึกษา หรือแม้กระทั่งเปลี่ยนผู้บริหารระดับสูงก็จะเปลี่ยนกันไปอีกระลอก และนโยบายเหล่านี้ก็ถูกจัดการให้ครอบคลุมทุกหย่อมหญ้าไม่เว้นโรงเรียนใหญ่โตหรือโรงเรียนเล็ก ๆ จากชายขอบ

ภายใต้การศึกษาที่แข่งขันกันสูงอยู่นั้น ก็ยังมีโรงเรียนขนาดเล็กอีกไม่น้อย ที่ปรับตัวและมีกิจกรรมเด่นที่สร้างขึ้นด้วยบริบทของชุมชน สร้างผลงานจนเป็นทีประจักษ์ด้วยมุมมองของผู้บริหารสถานศึกษา คณะครูและผู้นำชุมชนที่เล็งเห็นความสำคัญของลูกหลานตัวเอง

หนึ่งในบรรดาโรงเรียนเล็ก ๆ เหล่านั้น นั่นก็คือ “โรงเรียนบ้านกันตรง” ตำบลบึง อำเภอเขวาสินรินทร์ จังหวัดสุรินทร์ แห่งนี้ ที่มีนักเรียนเพียง 76 คน เป็นโรงเรียนที่มีบริบทของชุมชนชาติพันธุ์ชาวกวยของสุรินทร์ พ่อแม่ทำนาเลี้ยงควายเป็นหลัก

พิณี หาสุข ครูใหญ่ เล่าว่า “ผมเป็นคนเกิดที่หมู่บ้านนี้ ย้ายมาเป็นครูใหญ่ได้สิบปีแล้ว การจัดการศึกษาก็เหมือนโรงเรียนทั่วไปทุกประการ แต่สิ่งที่สำนึกร่วมกันนั่นคือ ต้องไม่ลืมรากเหง้าวิถีของพ่อแม่ของผู้คนที่นี่ด้วย นั่นคือ วิถีเกษตร ผมจึงนำทักษะเหล่านี้มาให้เด็ก ๆ ได้ซึมซัมและเรียนรู้ไปด้วยกันเลย ไม่ว่าจะเป็นการดำนา การทำเกษตร แม้กระทั่งเรื่องควาย  ๆ และสิ่งที่สำคัญคือการสร้างให้ลูกหลานได้เรียนรู้ความรับผิดชอบ การมีคุณธรรม เป็นต้นกล้าที่มีคุณภาพในอนาคต ผมพาพวกเขาเพาะพันธุ์กล้าไม้ โดยไปเก็บเมล็ดกล้าไม้มาจากที่ต่าง ๆ ที่มี และมอบให้ผู้ปกครองบ้าง มอบให้วัดบ้าง มอบให้หน่วยงานต่าง ๆ บ้าง รวมถึงพากันปลูกในที่สาธารณะและตามหัวไร่ปลายนาของชาวบ้าน และทำแบบนี้มาหลายปี”
พิณี หาสุข / ครูใหญ่โรงเรียนบ้านกันตรง จังหวัดสุรินทร์

ไม่ใช่เพียงแค่เป็นแนวคิดของผู้บริหารท่านนี้เท่านั้น ท่านยังพาลงมือทำมาร่วมสิบปีแล้ว และสิ่งที่ตามมาที่เห็นเป็นที่ประจักษ์คือ อาคารเรียนหลังสีเขียวที่ได้จากการเริ่มต้นของต้นเงินนั่นคือ การขายกล้าพันธุ์ไม้นั่นเอง และมีการระดมทุนจากศิษย์เก่ารวมถึงมีเอกชนร่วมบริจาคมา ใช้อาคารเรียนว่า “อาคารรักษ์สิ่งแวดล้อม” นับว่าเป็นสิ่งที่ไม่ได้เกิดขึ้นง่าย ๆ ของโรงเรียนเล็ก ๆ
ความร่วมมือของชุมชนก็เป็นส่วนสำคัญไม่น้อย เพราะทุกกิจกรรมที่โรงเรียนออกแบบไว้นั้น ล้วนเป็นผลพลังของการใส่ใจชุมชนด้วย ไม่ว่าจะเป็นชุมชนหรือวัดเองก็ให้ความสำคัญด้วยดีมาตลอด โดยเฉพาะกิจกรรมเกี่ยวกับเกษตรจะถูกใช้คำว่า “พ่อขุด แม่ปลูก ลูกดูแล” เสมอ แม้จะดูเป็นคำเชย ๆ แต่ผู้บริหารสถานศึกษาจะใช้กลยุทธนี้ในการดึงชุมชนเข้าร่วมหล่อหลอมทำสิ่งดีงามในการจัดการศึกษาให้กับลูกหลานได้เป็นอย่างดี

ส่วนการศึกษาของที่นี่ ผลสัมฤทธิ์ก็อยู่แนวหน้าในระดับเขตพื้นที่การศึกษา และผลการเรียนของนักเรียนที่อยู่ในเกณฑ์มาตรฐานทุกประการ
นี่เพียงส่วนหนึ่งของโรงเรียนเล็ก ๆ ที่อยู่ในชนบท ที่มีแนวโน้มจะถูกควบรวมยุบไปสู่โรงเรียนขนาดที่ใหญ่กว่า ในรูปแบบแนวคิดของคนเบื้องสูง แต่สิ่งดีงามชุมชนจะสูญไปไหมหากเป็นเช่นนั้นจริง อาคารเรียนที่มาจากพลังของชุมชน ลูกหลานที่นี่เขาไม่ดีพอกระนั้นแล้วใช่ไหม แล้วโรงเรียนขนาดใหญ่ที่จะไปรวมกันนั้นเขาพร้อมที่รับเด็ก ๆ ลูกหลานจากโรงเรียนเล็ก ๆ อื่น ๆ แล้วหรือไม่
เป็นคำตอบที่รอการพิสูจน์
แต่กระนั้นก็ตาม ที่นี่โรงเรียนบ้านกันตรง อำเภอเขวาสินรินทร์ จังหวัดสุรินทร์ โรงเรียนขนาดเล็ก มีของดี มีกิจกรรมดี ๆ กว่าโรงเรียนขนาดใหญ่อีกหลายแห่ง มีดีกว่าแนวคิดที่จะถูกควบรวมหรือยุบทิ้งไม่น้อยอย่างแน่นอน

เรื่อง-ภาพ โดย ขวัญชิต โพธิ์กระสังข์
17 ก.ย. 62

(ขอบคุณภาพบางส่วนจาก โรงเรียนบ้านกันตรง)









วันอังคารที่ 10 กันยายน พ.ศ. 2562

(มีคลิป) มจร. vs คณะสงฆ์สระแก้ว ช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยที่เมียนมา | HUG HOUSE [สุขนี้ที่บ้านเรา]


เมียนมารัฐมอญ มหาลัยสงฆ์ร่วมกับคณะสงฆ์สระแก้ว ระดมสิ่งของเยียวยาแก่ผู้ประสบอุทกภัย
คณะฯ เดินชมความเสียหายจากภัยธรรมชาติในเมียนมา

เมื่อ 6-8 กันยายน 2562 ภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ร่วมกับคณะสงฆ์จังหวัดสระแก้ว เดินทางไปช่วยเหลือ เยียวยา มอบสิ่งอุปโภคบริโภคและเงิน แก่ผู้ประสบอุทกภัย ในเขตรัฐมอญ ประเทศเมียนมา
นำโดย ดร.พระมหาทวี วิสารโท รองเจ้าคณะอำเภอวัฒนานคร จังหวัดสระแก้ว และผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ผดุง วรรณทอง พร้อมคณะ //โดยการประสานงานของ Ven. Ashin Poke Pha, และรศ.ดร.พระหนุ่มแลง ธัมมิสสระ
ถวายภัตตาหารเพล แด่พระสงฆ์ที่ประสบภัยธรรมชาติ



นำปัจจัยสี่ มอบให้ที่เมืองเย ซึ่งเป็นพื้นที่เกิดอุทกภัยหนักที่สุด และเมืองตันบูชายัด, เมืองเลาะลำเลิง รัฐมอญ สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา ได้ปัจจุบันและสิ่งของเป็นมูลค่า 91,000 บาท คิดเป็นเงินจ๊าด 4,518,200 จ๊าด
สภาพพื้นที่ เกาะคะมาย เมืองเลาะลำเลิง ชาวบ้านและพระสงฆ์ ได้รับความเดือดร้อนบ้านเรือนกุฏิสงฆ์เสียหายหลายหลังและดินถล่ม พื้นที่นาหลายร้อยไร่จมน้ำ
ณ เมืองตันบูชายัด รัฐมอญ สภาพบ้านเรือนเสียหายและมีผู้เสียชีวิต 2 คน

กิจกรรม ประกอบด้วย
1. มอบสิ่งอุปโภคบริโภคและเงิน แก่ผู้ประสบอุทกภัย ในหมู่บ้านเมาะละมาย

2. ถวายทุนการศึกษา และถวายภัตตาหารเพล แก่พระภิกษุสามเณร ที่ศึกษาพระปริยัติธรรม วัดศิริมงคลปริยัติ จำนวน 127 รูป ในเมืองตันบูซายัด คิดเป็นจำนวนเงิน 16,000 บาท หรือ 800,000 จ๊าด

3. มอบสิ่งอุปโภคบริโภคและเงิน แก่ผู้ประสบอุทกภัย ในเมืองตันบูซายัด

4.  มอบโต๊ะ-เก้าอี้  แก่โรงเรียนที่ได้รับผลกระทบ ในเมืองมะละแหม่ง


5. มอบสิ่งอุปโภคบริโภคและเงิน แก่ผู้ประสบอุทกภัย ในเมืองเย่

โดยได้เข้าพบและปรึกษากับการลงพื้นที่ให้ความช่วยเหลือกับท่าน Dr. Aung Naing Oo รองประธานสภารัฐมอญ ที่หน่อยงานราชการ แห่งเมืองมะละแหม่ง และท่านเป็นผู้นำทีมงานที่มาจากเมืองไทยลงพื้นที่ด้วยตนเองฯ
 
เยี่ยมให้กำลังใจชาวเมียนมา

ภาพและเรื่องโดย
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ผดุง วรรณทอง / FB : Maung Dung Mingalaba
เรียบเรียง โดย ขวัญชิต โพธิ์กระสังข์


ขอบคุณงานข่าวจากสำนักข่าวท้องถิ่นในเมียนมา [ Hinthar Media Corporation ]
ေခ်ာင္းဆုံ၊ သံျဖဴဇရပ္သဘာ၀ေဘးအႏၲရာယ္ေၾကာင့္ ေနအိမ္ပ်က္စီးသြားတဲ့ ေခ်ာင္းဆုံၿမဳိ႕နယ္၊ ကေလာ့ေက်း႐ြာမွာေတာ့ ထုိင္းႏုိင္ငံမွ အလွဴ႐ွင္ေတြက စက္တင္ဘာလ ၆ ရက္ေန႔က လာေရာက္လွဴဒါန္ခဲ့ၾကပါတယ္။ (News Video) 
 https://www.facebook.com/hintharmediacorporation/videos/vb.1698542673712272/2449719675271751/?type=2&theater













วันเสาร์ที่ 7 กันยายน พ.ศ. 2562

ตุ้มโฮม สืบสานดนตรีพิธีกรรมอีสานใต้ | HUG HOUSE [สุขนี้ที่บ้านเรา]


ศรีสะเกษรวมพลังรับฟังคนชาติพันธุ์อีสานใต้ที่ปรางค์กู่ ในงาน “สืบสานดนตรีพิธีกรรมอีสานใต้” ควรเดินไปทางไหน!

เมื่อ 1 กันยายน 2562 สภาผู้ชมผู้ฟังรายการภาคอีสาน ไทยพีบีเอส เปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นในงาน “สืบสานดนตรีพิธีกรรมอีสานใต้” ที่ศูนย์ศึกษาพระพุทธศาสนาวันอาทิตย์วัดระกา อำเภอปรางค์กู่ จังหวัดศรีสะเกษ โดยมีการนำเสนอดนตรีพิธีกรรมจากบรรดาชาติพันธุ์ในอีสานใต้ อาทิ พิธีกรรมบายศรีสู่ขวัญในแบบฉบับของเขมรถิ่นไทย กันตรึมจากเขมรถิ่นไทย สะไนจากชาติพันธุ์เยอ สะเองจากชาติพันธุ์กวย รวมถึงมีเวทีวิชาการโดยมีตัวแทนผู้รู้จาก 4 ชาติพันธุ์และนักวิชาการอิสระด้านชาติพันธุ์ในอีสานใต้มาร่วมแลกเปลี่ยน และมีพจนีย์ ใสกระจ่าง พิธีกรดำเนินรายการจากไทยพีบีเอสด้วย
ผู้รู้แต่ละชาติพันธุ์ ในวงเสวนา

“ที่วัดเรามีนักเรียนมาเข้าค่ายคุณธรรมเยอะ  ปีหนึ่ง ๆ มีหลายโรงเรียน เด็กประถมศึกษานั่งสมาธิไม่เกิน 5 นาที ระดับมัธยมศึกษานั่งสมาธิได้สูงสุด 7-10นาที นอกนั้นก็คอยรบกวนเพื่อน ๆ เพราะคลุกคลีกับพฤติกรรมของเด็กมานาน จึงคิดว่าจะทำอย่างไรให้เด็ก ๆ อยู่กับวัดได้นาน ๆ จึงคิดถึงตอนเป็นเด็กที่มีผู้เฒ่าผู้แก่พาเล่นดนตรีพื้นบ้าน จึงคิดว่าเราควรนำเอาดนตรีพื้นบ้านมาให้เด็ก ๆ ได้เรียนรู้ ให้เขาได้สืบทอดสิ่งที่มันจะหายไปให้คงอยู่ อีกอย่างเขาจะได้มีอาชีพติดตัวไปด้วย สมกับที่อาจารย์ธงชัย สามศรี ปราชญ์ด้านดนตรีจากสุรินทร์ที่เอ่ยไว้ว่า สิ่งเหล่านี้ถ้าไม่สืบสานมันก็จะสาบสูญ ผลก็ปรากฎว่าเด็กสนใจมากขึ้น ถ้าในทางศาสนานั้น เมื่อครั้งพระพุทธเจ้าปรินิพพาน เจ้ามัลละกษัตริย์จัดผ้ามา 500 พับ พร้อมเครื่องประโคมดนตรี นี่คือการดนตรีพิธีกรรมต่าง ๆ ก็มีมาตั้งแต่ครั้งพุทธกาลแล้ว” พระครูปริยัติสีลาภรณ์ เจ้าอาวาสวัดระกา หนึ่งในผู้ร่วมเสวนา เล่าถึงดนตรีที่นำมาให้เด็ก ๆ ในศูนย์พระพุทธศาสนาวันอาทิตย์วัดระกาได้ฝึกซ้อมและประโคมขับตามงานต่าง ๆ ของชุมชน
ผู้ส่งต่อดนตรีสู่เยาวชน สู่การเป็นผู้สืบสาน

ในการเสวนาดังกล่าว นอกจากมีพระครูปริยัติสีลาภรณ์ เจ้าอาวาสวัดระกาแล้ว ยังมีอาจารย์วิชิต กตศิลา ปราชญ์ผู้รู้ตัวแทนชาติพันธุ์เยอพูดถึงเสียงสะไน และพิธีกรรมที่เกี่ยวกับการนำสะไนไปร่วมด้วย มีกำนันทนงศักดิ์ นรดี ปราชญ์ผู้รู้ตัวแทนชาติพันธุ์กูย นำเสนอพิธีกรรม “เกลย์ออ” และ “เกลย์มอ” มีอาจารย์น้อย ชมเหิม ปราชญ์ผู้รู้ตัวแทนชาติพันธุ์เขมรถิ่นไทย นำเสนอพิธีกรรม “เรือมมะมวด” มีคุณแม่อุดมลักษณ์ ทีติเนตร ปราชญ์ผู้รู้ตัวแทนชาติพันธุ์ลาว ร่วมนำเสนอแลกเปลี่ยนด้วย และมีนักวิชาการอิสระด้านชาติพันธุ์ อาจารย์วีระ สุดสังข์
“ถ้าพิธีกรรมเหมือนหม้อแกงหม้อหนึ่ง เครื่องดนตรีก็เหมือนเครื่องปรุง ทำให้พิธีกรรมนั้นอร่อย แต่ทุกพิธีกรรม ก็ไม่ได้หมายความว่าจะมีเครื่องดนตรีทุกอย่างไป  เช่น “เซ่นแฮกนา” ก็เป็นพิธีกรรมหนึ่งเช่นกัน แต่ไม่ได้มีเครื่องดนตรีใด ๆ แค่ไปเซ่นไหว้ก็จบพิธีกรรมนั้นไป” อาจารย์วีระ สุดสังข์ กล่าวเปรียบเทียบ
นักวิชาการอิสระ ด้านชาติพันธุ์อีสานใต้

 นอกจากเวทีเสวนาเรื่องดนตรีพิธีกรรมอีสานใต้แล้ว ยังมีการเปิดโอกาสให้แลกเปลี่ยนและสะท้อนมุมมองว่า ดนตรีพิธีกรรมนี้จะอยู่รอดอย่างไร และควรเดินทางไปทิศทางไหน

“ได้มาเห็นมุมมองของทั้งสี่ชาติพันธุ์ องค์ความรู้เหล่านี้มีประโยชน์ต่อทุกส่วน ไม่ว่าจะเป็นเยาวชนหรือหน่วยงานราชการต่าง ๆ เราสามารถตีแผ่ได้ทำให้เขาเกิดความภาคภูมิใจในกลุ่มชาติพันธุ์ของตัวเอง” มุมมองของ ภชร รัมพณีนิล เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานพิธี สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดสุรินทร์
เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานพิธี สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดสุรินทร์


“ในขณะเดียวกันนั้นกระทรวงศึกษาธิการหรือรัฐบาลเองก็ยังให้ความสำคัญเกี่ยวกับเรื่องนี้น้อยมาก ไม่เน้นให้เห็นถึงอัตลักษณ์เอกลักษณ์แต่ละชุมชน นำสิ่งนี้มาพัฒนา สร้างหลักสูตรท้องถิ่น นำพานักเรียนเข้าสู่การเรียนการสอนเกี่ยวกับดนตรีพื้นบ้านและศิลปวัฒนธรรม เด็กจะเป็นผู้สืบสานไปโดยอัตโนมัติ” คุณครูคณาพจน์ คลทา จากโรงเรียนปรางค์กู่ จังหวัดศรีสะเกษ ร่วมสะท้อนมุมมอง
คุณครูดนตรี โรงเรียนปรางค์กู่ จังหวัดศรีสะเกษ


“ดนตรีที่อาตมาพาเด็กเรียนรู้นี้ ทำให้เขามีวิชาชีพติดตัวได้ ใช้วิชาเหล่านี้ไปต่อยอดได้ในอนาคต อันเป็นความสามารถพิเศษของเขา ฉะนั้น ดนตรีทำให้เขาเหล่านี้ไปต่อยอดในสังคมได้ เดี๋ยวนี้ ดนตรีเลี้ยงเขา” พระครูปริยัติสีลาภรณ์ กล่าวสรุป

ดนตรีที่ประกอบพิธีกรรมในอีสานใต้ ที่คล้ายคลึงกันทั้ง 4 ชาติพันธุ์  คือ ดนตรีบำบัด ที่เป็นการเล่นเพื่อบอกกล่าวให้กับผีบรรพบุรุษร่วมรับทราบและร่วมลงมาสนุกสนานผ่านดนตรีพิธีกรรมที่ได้จัดกระทำขึ้น ซึ่งแต่ละชาติพันธุ์นั้นจะมีเครื่องประโคมดนตรีและจังหวะที่แตกต่างกัน แต่รูปแบบเนื้อหาส่วนลึกคือเหมือนกันนั่นเอง ที่เป็นการสื่อสารยังสิ่งที่มองไม่เห็นและเชื่อ ศรัทธาเต็มที่ละเล่นเพื่อความสุขของผู้คน อันเป็นอัตลักษณ์แห่งท้องถิ่นอีสานใต้



ขวัญชิต โพธิ์กระสังข์ / กลุ่มอนุรักษ์วัฒนธรรมกวยตำบลโพธิ์กระสังข์
07 กันยายน 2562






ทุ่งกะบาลกะไบแห่งเทือกเขาพรมแดนไทย-กัมพูชา พื้นที่เปิดแห่งใหม่เหมาะกับนักเดินทางและนักประวัติศาสตร์

“บุญ” ต้องฟรี วัดไตรสามัคคี’ จ.ศรีสะเกษ ติดป้ายชัดเจน ทำบุญที่นี่ “ฟรี” ไม่เสียตังค์ [มีคลิป]

ที่วัดไตรสามัคคี ต.โดด อ.โพธิ์ศรีสุวรรณ จ.ศรีสะเกษ เป็นวัดท่องเที่ยวเชิงพุทธอีกแห่งของจังหวัดศรีสะเกษ ที่กำลังเป็นที่นิยมในการทำบุญของพุทธศา...