วันเสาร์ที่ 7 กันยายน พ.ศ. 2562

ตุ้มโฮม สืบสานดนตรีพิธีกรรมอีสานใต้ | HUG HOUSE [สุขนี้ที่บ้านเรา]


ศรีสะเกษรวมพลังรับฟังคนชาติพันธุ์อีสานใต้ที่ปรางค์กู่ ในงาน “สืบสานดนตรีพิธีกรรมอีสานใต้” ควรเดินไปทางไหน!

เมื่อ 1 กันยายน 2562 สภาผู้ชมผู้ฟังรายการภาคอีสาน ไทยพีบีเอส เปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นในงาน “สืบสานดนตรีพิธีกรรมอีสานใต้” ที่ศูนย์ศึกษาพระพุทธศาสนาวันอาทิตย์วัดระกา อำเภอปรางค์กู่ จังหวัดศรีสะเกษ โดยมีการนำเสนอดนตรีพิธีกรรมจากบรรดาชาติพันธุ์ในอีสานใต้ อาทิ พิธีกรรมบายศรีสู่ขวัญในแบบฉบับของเขมรถิ่นไทย กันตรึมจากเขมรถิ่นไทย สะไนจากชาติพันธุ์เยอ สะเองจากชาติพันธุ์กวย รวมถึงมีเวทีวิชาการโดยมีตัวแทนผู้รู้จาก 4 ชาติพันธุ์และนักวิชาการอิสระด้านชาติพันธุ์ในอีสานใต้มาร่วมแลกเปลี่ยน และมีพจนีย์ ใสกระจ่าง พิธีกรดำเนินรายการจากไทยพีบีเอสด้วย
ผู้รู้แต่ละชาติพันธุ์ ในวงเสวนา

“ที่วัดเรามีนักเรียนมาเข้าค่ายคุณธรรมเยอะ  ปีหนึ่ง ๆ มีหลายโรงเรียน เด็กประถมศึกษานั่งสมาธิไม่เกิน 5 นาที ระดับมัธยมศึกษานั่งสมาธิได้สูงสุด 7-10นาที นอกนั้นก็คอยรบกวนเพื่อน ๆ เพราะคลุกคลีกับพฤติกรรมของเด็กมานาน จึงคิดว่าจะทำอย่างไรให้เด็ก ๆ อยู่กับวัดได้นาน ๆ จึงคิดถึงตอนเป็นเด็กที่มีผู้เฒ่าผู้แก่พาเล่นดนตรีพื้นบ้าน จึงคิดว่าเราควรนำเอาดนตรีพื้นบ้านมาให้เด็ก ๆ ได้เรียนรู้ ให้เขาได้สืบทอดสิ่งที่มันจะหายไปให้คงอยู่ อีกอย่างเขาจะได้มีอาชีพติดตัวไปด้วย สมกับที่อาจารย์ธงชัย สามศรี ปราชญ์ด้านดนตรีจากสุรินทร์ที่เอ่ยไว้ว่า สิ่งเหล่านี้ถ้าไม่สืบสานมันก็จะสาบสูญ ผลก็ปรากฎว่าเด็กสนใจมากขึ้น ถ้าในทางศาสนานั้น เมื่อครั้งพระพุทธเจ้าปรินิพพาน เจ้ามัลละกษัตริย์จัดผ้ามา 500 พับ พร้อมเครื่องประโคมดนตรี นี่คือการดนตรีพิธีกรรมต่าง ๆ ก็มีมาตั้งแต่ครั้งพุทธกาลแล้ว” พระครูปริยัติสีลาภรณ์ เจ้าอาวาสวัดระกา หนึ่งในผู้ร่วมเสวนา เล่าถึงดนตรีที่นำมาให้เด็ก ๆ ในศูนย์พระพุทธศาสนาวันอาทิตย์วัดระกาได้ฝึกซ้อมและประโคมขับตามงานต่าง ๆ ของชุมชน
ผู้ส่งต่อดนตรีสู่เยาวชน สู่การเป็นผู้สืบสาน

ในการเสวนาดังกล่าว นอกจากมีพระครูปริยัติสีลาภรณ์ เจ้าอาวาสวัดระกาแล้ว ยังมีอาจารย์วิชิต กตศิลา ปราชญ์ผู้รู้ตัวแทนชาติพันธุ์เยอพูดถึงเสียงสะไน และพิธีกรรมที่เกี่ยวกับการนำสะไนไปร่วมด้วย มีกำนันทนงศักดิ์ นรดี ปราชญ์ผู้รู้ตัวแทนชาติพันธุ์กูย นำเสนอพิธีกรรม “เกลย์ออ” และ “เกลย์มอ” มีอาจารย์น้อย ชมเหิม ปราชญ์ผู้รู้ตัวแทนชาติพันธุ์เขมรถิ่นไทย นำเสนอพิธีกรรม “เรือมมะมวด” มีคุณแม่อุดมลักษณ์ ทีติเนตร ปราชญ์ผู้รู้ตัวแทนชาติพันธุ์ลาว ร่วมนำเสนอแลกเปลี่ยนด้วย และมีนักวิชาการอิสระด้านชาติพันธุ์ อาจารย์วีระ สุดสังข์
“ถ้าพิธีกรรมเหมือนหม้อแกงหม้อหนึ่ง เครื่องดนตรีก็เหมือนเครื่องปรุง ทำให้พิธีกรรมนั้นอร่อย แต่ทุกพิธีกรรม ก็ไม่ได้หมายความว่าจะมีเครื่องดนตรีทุกอย่างไป  เช่น “เซ่นแฮกนา” ก็เป็นพิธีกรรมหนึ่งเช่นกัน แต่ไม่ได้มีเครื่องดนตรีใด ๆ แค่ไปเซ่นไหว้ก็จบพิธีกรรมนั้นไป” อาจารย์วีระ สุดสังข์ กล่าวเปรียบเทียบ
นักวิชาการอิสระ ด้านชาติพันธุ์อีสานใต้

 นอกจากเวทีเสวนาเรื่องดนตรีพิธีกรรมอีสานใต้แล้ว ยังมีการเปิดโอกาสให้แลกเปลี่ยนและสะท้อนมุมมองว่า ดนตรีพิธีกรรมนี้จะอยู่รอดอย่างไร และควรเดินทางไปทิศทางไหน

“ได้มาเห็นมุมมองของทั้งสี่ชาติพันธุ์ องค์ความรู้เหล่านี้มีประโยชน์ต่อทุกส่วน ไม่ว่าจะเป็นเยาวชนหรือหน่วยงานราชการต่าง ๆ เราสามารถตีแผ่ได้ทำให้เขาเกิดความภาคภูมิใจในกลุ่มชาติพันธุ์ของตัวเอง” มุมมองของ ภชร รัมพณีนิล เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานพิธี สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดสุรินทร์
เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานพิธี สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดสุรินทร์


“ในขณะเดียวกันนั้นกระทรวงศึกษาธิการหรือรัฐบาลเองก็ยังให้ความสำคัญเกี่ยวกับเรื่องนี้น้อยมาก ไม่เน้นให้เห็นถึงอัตลักษณ์เอกลักษณ์แต่ละชุมชน นำสิ่งนี้มาพัฒนา สร้างหลักสูตรท้องถิ่น นำพานักเรียนเข้าสู่การเรียนการสอนเกี่ยวกับดนตรีพื้นบ้านและศิลปวัฒนธรรม เด็กจะเป็นผู้สืบสานไปโดยอัตโนมัติ” คุณครูคณาพจน์ คลทา จากโรงเรียนปรางค์กู่ จังหวัดศรีสะเกษ ร่วมสะท้อนมุมมอง
คุณครูดนตรี โรงเรียนปรางค์กู่ จังหวัดศรีสะเกษ


“ดนตรีที่อาตมาพาเด็กเรียนรู้นี้ ทำให้เขามีวิชาชีพติดตัวได้ ใช้วิชาเหล่านี้ไปต่อยอดได้ในอนาคต อันเป็นความสามารถพิเศษของเขา ฉะนั้น ดนตรีทำให้เขาเหล่านี้ไปต่อยอดในสังคมได้ เดี๋ยวนี้ ดนตรีเลี้ยงเขา” พระครูปริยัติสีลาภรณ์ กล่าวสรุป

ดนตรีที่ประกอบพิธีกรรมในอีสานใต้ ที่คล้ายคลึงกันทั้ง 4 ชาติพันธุ์  คือ ดนตรีบำบัด ที่เป็นการเล่นเพื่อบอกกล่าวให้กับผีบรรพบุรุษร่วมรับทราบและร่วมลงมาสนุกสนานผ่านดนตรีพิธีกรรมที่ได้จัดกระทำขึ้น ซึ่งแต่ละชาติพันธุ์นั้นจะมีเครื่องประโคมดนตรีและจังหวะที่แตกต่างกัน แต่รูปแบบเนื้อหาส่วนลึกคือเหมือนกันนั่นเอง ที่เป็นการสื่อสารยังสิ่งที่มองไม่เห็นและเชื่อ ศรัทธาเต็มที่ละเล่นเพื่อความสุขของผู้คน อันเป็นอัตลักษณ์แห่งท้องถิ่นอีสานใต้



ขวัญชิต โพธิ์กระสังข์ / กลุ่มอนุรักษ์วัฒนธรรมกวยตำบลโพธิ์กระสังข์
07 กันยายน 2562






ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ทุ่งกะบาลกะไบแห่งเทือกเขาพรมแดนไทย-กัมพูชา พื้นที่เปิดแห่งใหม่เหมาะกับนักเดินทางและนักประวัติศาสตร์

“บุญ” ต้องฟรี วัดไตรสามัคคี’ จ.ศรีสะเกษ ติดป้ายชัดเจน ทำบุญที่นี่ “ฟรี” ไม่เสียตังค์ [มีคลิป]

ที่วัดไตรสามัคคี ต.โดด อ.โพธิ์ศรีสุวรรณ จ.ศรีสะเกษ เป็นวัดท่องเที่ยวเชิงพุทธอีกแห่งของจังหวัดศรีสะเกษ ที่กำลังเป็นที่นิยมในการทำบุญของพุทธศา...