ระบบการศึกษาไทยในยุคปัจจุบัน
ที่เรียกว่า การศึกษาในยุคศตวรรษที่ 21 ที่มุ่งเน้นผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาให้ได้ผลดี
ทำให้เกิดการแข่งขันผ่านกระบวนการทางวิชาการที่ลงมาสู่ผู้เรียนโดยตรง โดยมีนโยบายจากเบื้องบนลงมาให้ผู้บริหารเขต
สั่งการมากำกับ กำชับผู้บริหารสถานศึกษาและคณะครูอีกทอด แต่ทว่านโยบายต่าง ๆ
กลับถูกเรียกได้ว่านโยบายรายวัน รายเดือน รายปีการศึกษา
หรือแม้กระทั่งเปลี่ยนผู้บริหารระดับสูงก็จะเปลี่ยนกันไปอีกระลอก และนโยบายเหล่านี้ก็ถูกจัดการให้ครอบคลุมทุกหย่อมหญ้าไม่เว้นโรงเรียนใหญ่โตหรือโรงเรียนเล็ก
ๆ จากชายขอบ
ภายใต้การศึกษาที่แข่งขันกันสูงอยู่นั้น
ก็ยังมีโรงเรียนขนาดเล็กอีกไม่น้อย ที่ปรับตัวและมีกิจกรรมเด่นที่สร้างขึ้นด้วยบริบทของชุมชน
สร้างผลงานจนเป็นทีประจักษ์ด้วยมุมมองของผู้บริหารสถานศึกษา คณะครูและผู้นำชุมชนที่เล็งเห็นความสำคัญของลูกหลานตัวเอง
หนึ่งในบรรดาโรงเรียนเล็ก ๆ เหล่านั้น
นั่นก็คือ “โรงเรียนบ้านกันตรง” ตำบลบึง อำเภอเขวาสินรินทร์ จังหวัดสุรินทร์
แห่งนี้ ที่มีนักเรียนเพียง 76 คน เป็นโรงเรียนที่มีบริบทของชุมชนชาติพันธุ์ชาวกวยของสุรินทร์
พ่อแม่ทำนาเลี้ยงควายเป็นหลัก
พิณี หาสุข ครูใหญ่ เล่าว่า “ผมเป็นคนเกิดที่หมู่บ้านนี้
ย้ายมาเป็นครูใหญ่ได้สิบปีแล้ว การจัดการศึกษาก็เหมือนโรงเรียนทั่วไปทุกประการ
แต่สิ่งที่สำนึกร่วมกันนั่นคือ ต้องไม่ลืมรากเหง้าวิถีของพ่อแม่ของผู้คนที่นี่ด้วย
นั่นคือ วิถีเกษตร ผมจึงนำทักษะเหล่านี้มาให้เด็ก ๆ
ได้ซึมซัมและเรียนรู้ไปด้วยกันเลย ไม่ว่าจะเป็นการดำนา การทำเกษตร
แม้กระทั่งเรื่องควาย ๆ และสิ่งที่สำคัญคือการสร้างให้ลูกหลานได้เรียนรู้ความรับผิดชอบ
การมีคุณธรรม เป็นต้นกล้าที่มีคุณภาพในอนาคต ผมพาพวกเขาเพาะพันธุ์กล้าไม้
โดยไปเก็บเมล็ดกล้าไม้มาจากที่ต่าง ๆ ที่มี และมอบให้ผู้ปกครองบ้าง มอบให้วัดบ้าง
มอบให้หน่วยงานต่าง ๆ บ้าง รวมถึงพากันปลูกในที่สาธารณะและตามหัวไร่ปลายนาของชาวบ้าน
และทำแบบนี้มาหลายปี”
พิณี หาสุข / ครูใหญ่โรงเรียนบ้านกันตรง จังหวัดสุรินทร์ |
ไม่ใช่เพียงแค่เป็นแนวคิดของผู้บริหารท่านนี้เท่านั้น
ท่านยังพาลงมือทำมาร่วมสิบปีแล้ว และสิ่งที่ตามมาที่เห็นเป็นที่ประจักษ์คือ อาคารเรียนหลังสีเขียวที่ได้จากการเริ่มต้นของต้นเงินนั่นคือ
การขายกล้าพันธุ์ไม้นั่นเอง และมีการระดมทุนจากศิษย์เก่ารวมถึงมีเอกชนร่วมบริจาคมา
ใช้อาคารเรียนว่า “อาคารรักษ์สิ่งแวดล้อม” นับว่าเป็นสิ่งที่ไม่ได้เกิดขึ้นง่าย ๆ
ของโรงเรียนเล็ก ๆ
ความร่วมมือของชุมชนก็เป็นส่วนสำคัญไม่น้อย
เพราะทุกกิจกรรมที่โรงเรียนออกแบบไว้นั้น ล้วนเป็นผลพลังของการใส่ใจชุมชนด้วย
ไม่ว่าจะเป็นชุมชนหรือวัดเองก็ให้ความสำคัญด้วยดีมาตลอด โดยเฉพาะกิจกรรมเกี่ยวกับเกษตรจะถูกใช้คำว่า
“พ่อขุด แม่ปลูก ลูกดูแล” เสมอ แม้จะดูเป็นคำเชย ๆ
แต่ผู้บริหารสถานศึกษาจะใช้กลยุทธนี้ในการดึงชุมชนเข้าร่วมหล่อหลอมทำสิ่งดีงามในการจัดการศึกษาให้กับลูกหลานได้เป็นอย่างดี
ส่วนการศึกษาของที่นี่ ผลสัมฤทธิ์ก็อยู่แนวหน้าในระดับเขตพื้นที่การศึกษา
และผลการเรียนของนักเรียนที่อยู่ในเกณฑ์มาตรฐานทุกประการ
นี่เพียงส่วนหนึ่งของโรงเรียนเล็ก
ๆ ที่อยู่ในชนบท ที่มีแนวโน้มจะถูกควบรวมยุบไปสู่โรงเรียนขนาดที่ใหญ่กว่า
ในรูปแบบแนวคิดของคนเบื้องสูง แต่สิ่งดีงามชุมชนจะสูญไปไหมหากเป็นเช่นนั้นจริง
อาคารเรียนที่มาจากพลังของชุมชน ลูกหลานที่นี่เขาไม่ดีพอกระนั้นแล้วใช่ไหม แล้วโรงเรียนขนาดใหญ่ที่จะไปรวมกันนั้นเขาพร้อมที่รับเด็ก
ๆ ลูกหลานจากโรงเรียนเล็ก ๆ อื่น ๆ แล้วหรือไม่
เป็นคำตอบที่รอการพิสูจน์
แต่กระนั้นก็ตาม ที่นี่โรงเรียนบ้านกันตรง
อำเภอเขวาสินรินทร์ จังหวัดสุรินทร์ โรงเรียนขนาดเล็ก มีของดี มีกิจกรรมดี ๆ กว่าโรงเรียนขนาดใหญ่อีกหลายแห่ง
มีดีกว่าแนวคิดที่จะถูกควบรวมหรือยุบทิ้งไม่น้อยอย่างแน่นอน
เรื่อง-ภาพ โดย ขวัญชิต โพธิ์กระสังข์
17 ก.ย. 62
17 ก.ย. 62
(ขอบคุณภาพบางส่วนจาก โรงเรียนบ้านกันตรง)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น