สุรินทร์ : เอ็ง’ เด็กหญิงวัย 12 ขวบกับความผูกพันที่หล่อเลี้ยงเติมเต็มจิตใจให้เกิดสุขด้วยควาย
เป็นเรื่องไม่ง่ายนักที่เด็กผู้หญิงเพียง
12 ขวบจะมีความสนใจอยู่กับเรื่องควาย-ควาย และอยู่กับวิถีที่ครอบครัวทำอยู่ทุกวันคือการทำนาและเลี้ยงไหมทอผ้า
ผมพบเจอน้องและครอบครัวที่บ้านกันตรง
อ.เขวาสินรินทร์ จ.สุรินทร์ เมื่อคราวเดินทางมาเก็บข้อมูลทำงานสารคดีรายการหนึ่งของไทยพีบีเอส
ช่วงวันแม่แห่งชาติ
“นุเฒา เซียน นะนา. กอนเจา วอ
โตน. [ผู้ปกครองพาทำอะไรให้เห็น ลูกหลานก็จะทำได้แบบนั้นตาม]กัว ติง
โด.[เพราะอยู่ด้วยกัน] เอ็ง แน. เล๊อะ เลียน โจว.[สำหรับน้องเอ็งแล้ว
พอเลิกเรียนกลับมา] แอ เตรี๊ยะ แซง เดื๊ออ์. ชวง ดง โผล๊ะ ธรอ.[พอเลิกเรียนกลับมาจากโรงเรียน
จะจูงควายไปลงหนองน้ำให้เล่นน้ำในช่วงที่ยังไม่ได้ทำนา] งัย เสาร์-อาทิตย์
จี ฉอย กั้ย บั๊ด.[ในช่วงวันหยุด จะไปช่วยเกี่ยวหญ้ามาให้ควาย] ตะบือ
โจว. เต๊าะ ชุด แล้ว อลาว จาน. แล้ว ค่อย วอ การบ้าน. แล้วกะ บิ๊ก.[ช่วงเย็น
ๆ จะช่วยล้างจานทำกับข้าวเสร็จก่อนแล้วจึงจะทำการบ้านแล้วเข้านอน] จะล๊ะ
กะ จี เลียน โซ๊ะ อือผร๊ะ. [ช่วงเช้า ๆ จะไปเรียนหนังสือที่โรงเรียนบ้านจอมพระ] เกิด รถรับส่ง.
โซ๊ะ ไฮ จี เลียน โซ๊ะ ฮือผร๊ะ ฮัม ดาลย์. [ซึ่งจะมีรถโรงเรียนรับส่งทุกวัน โดยคนบ้านเราไปส่วนมากจะเลือกไปเรียนที่โรงเรียนแห่งนี้]”
รำพึง เอี่ยมสะอาด คุณแม่วัย 42 ปี เล่าเป็นภาษาถิ่นกวยให้ฟัง
ถึงความผูกพันและการปลูกฝังเลี้ยงดูลูกสาว โดยได้เล่าให้ฟังต่อว่า “จะเลี้ยงลูกแบบง่าย
ๆ แค่พาเขาไปนา พาเขาทำอะไรที่เราทำอยู่แล้ว เขาเห็นเขาก็จะช่วยในส่วนที่เขาทำได้ จึงผูกพันกันมาแบบนี้ตั้งแต่เด็กเลย
เขาอาจจะไม่ค่อยเหมือนเพื่อนๆ วัยเดียวกันกับเขานัก โดยเขาจะเล่นกับวาสนา ลูกควายเพศเมีย
2 ปีกว่า ๆ จนเชื่องและสามารถขึ้นขี่มันได้ทุกวัน”
เอ็ง คือคำที่เพื่อน ๆ เรียกขานกัน หรือ น้องสตังค์
เด็กหญิงพรนภัส เอี่ยมสะอาด อายุ
12 ขวบ เด็กวัยเซอ ๆ ผมหยิก หน้าตาบ้าน ๆ อยู่นิ่งไม่ค่อยได้นัก ต้องเดิน
ต้องหยิบจับโน่นทำนี่ตลอด
“วันนี้วันหยุด ตอนเช้าไปช่วยพ่อกับแม่เกี่ยวหญ้าที่นาใส่รถเข็น
เพื่อนำมาให้ควายในคอกที่มี 9 ตัว ถ้าเป็นวันหยุดก็ช่วยแบบนี้ทุกวัน
ไม่ค่อยได้ไปไหน จะมีไปเตะฟุตบอลกับเพื่อน ๆ ที่โรงเรียนเราบ้างเป็นบางครั้ง แต่ส่วนใหญ่อยู่บ้านช่วยพ่อแม่
ถ้าเป็นตอนที่แม่เลี้ยงไหม แม่จะพาไปเก็บใบหม่อนประจำด้วย แต่ตอนนี้ก็ทำนาไปก่อน
เลยอยู่กับเรื่องควาย ๆ นี่ล่ะค่ะ จะสนิทกับ วาสนา ควายที่หนูไปไถ่ชีวิตมันมา
ตอนนั้นมันมีแผลตามตัวเต็มไปหมด จะช่วยล้างแผลและอาบน้ำให้มันทุกวันเลย
เลยสนิทกับมันเป็นพิเศษ แต่ตัวอื่น ๆ ก็จับหัวลูบได้ทุกตัวเหมือนกัน ยกเว้นตัวแม่มัน
ไม่ยอมให้หนูเล่นด้วยเลย”
เด็กน้อยเล่าให้ฟังเป็นภาษาไทยที่แปลกจากพ่อแม่และคนวัยทำงานพูดกัน
ในขณะที่เอ็งเอาหญ้าให้ควายกินที่คอกหรือโรงเรือนควาย สังเกตเห็นตอนที่เอ็งให้สัมภาษณ์พูดคุย
ควายจะมาเลียมือเลียหลังหรือมาหลอกล้อเขาอยู่ตลอดเหมือนกัน
“หนูบอกพ่อกับแม่ว่า
จะเรียนแค่ ม.3 พอ แล้วจะให้พ่อเปิดเป็นฟาร์มควาย และจะช่วยแม่ปลูกหม่อนเลี้ยงไหมทอผ้า
หนูจะช่วยแม่ขายเอง” ความคาดหวังของหนูเอ็ง ที่เธอเล่าให้ฟัง
ความผูกพันระหว่างคนกับควายด้วยวัยเด็ก จึงอาจจะมีให้เห็นไม่กี่คนนักในหมู่บ้านชาวกวยที่เลี้ยงควายทั้งหมู่บ้านแบบนี้ แต่อย่างน้อย ๆ ที่แห่งนี้ก็ยังมีคนสืบสานวิถีแห่งบรรพบุรุษได้ส่งต่อเอาไว้ให้ ส่วนในอนาคตนั้น คาดว่าควายก็จะยังอยู่ในชุมชนแห่งนี้อีกนาน อย่างน้อย ๆ ก็คงเป็นเด็กสาวที่คิดและคาดหวังกับเรื่องใกล้ตัวของเธอคนนี้ที่ชื่อ “เอ็ง” หรือ น้องสตังค์ เด็กหญิงพรนภัส เอี่ยมสะอาด คนหนึ่งล่ะ
นี่คือส่วนหนึ่งจากผู้ผลิตสื่อภาคพลเมือง
“กอนกวย”
ติดตามได้ในรายการ “ที่นี่บ้านเรา”
ทางไทยพีบีเอส ในอีกไม่นานนี้
ขวัญชิต โพธิ์กระสังข์
15 ส.ค. 2562
https://www.youtube.com/watch?v=s2rP9QatoPk&list=PLcx0VcPxAS-ZGypKOmUw1w5XB1RaY4UPX&index=23&t=0s
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น