วันอังคารที่ 13 สิงหาคม พ.ศ. 2562

เตรี๊ยะ : มาสุรินทร์เยือนถิ่นควายไทย ที่กันตรง | HUG HOUSE [สุขนี้ที่บ้านเรา]


สุรินทร์ :  หมู่บ้านเก่าแก่หลายร้อยปี อนุรักษ์ควายไทยพื้นบ้าน


บ่อยครั้งที่ผมได้เดินทาง และได้พบเจอผู้คน สัมผัสเรื่องราวต่าง ๆ และการได้จบเจอนั้นทำให้ได้เรียนรู้ แลกเปลี่ยน ได้เข้าใจว่าบนโลกอันกว้างใหญ่ใบนี้ เราเป็นเพียงแค่เศษธุลีเล็ก ๆ เท่านั้นเอง

และที่นี่ บ้านกันตรง ต.บึง อ.เขวาสินรินทร์ จ.สุรินทร์ ก็เป็นอีกพื้นที่หนึ่งที่ได้มาสัมผัสทั้งผู้คนและเรื่องราวที่นี่ เสมือนเป็นบ้านของผมก็ไม่ปาน เพราะที่นี่สื่อสารกันด้วยภาษาเดียวกับผม นั่นคือ ความเป็นกูย,กวย เหมือนกัน แต่ใช่ว่าจะสื่อสารเหมือนกันทุกคำไม่ มีหลายคำที่ใช้ไม่เหมือนกัน แต่ก็นั่นล่ะ ทำให้ผมได้ภูมิใจได้เรียนรู้กับความแตกต่างไปด้วยในที


ที่นี่แปลกจากที่อื่นตรงที่ มีควายเป็นจำนวนมาก หรือที่ภาษาถิ่นจะเรียกกันว่า “เตรี๊ยะ” และเป็นควายดั้งเดิมที่ส่งต่อจากบรรพบุรุษสู่ลูกหลานมาหลายชั่วอายุคน โดยไม่มีการทำผสมเทียมหรือกรรมวิธีแบบสมัยใหม่ ซึ่งที่ว่าจำนวนมากนั้น ประมาณ 300 กว่าตัว จากครัวเรือนเพียง 132 ครัวเรือน


“เมื่อก่อนนั้นหมู่บ้านเราเป็นหมู่บ้านสกปรกมาก มีแต่ขี้ควายตามถนนหนทาง แต่เดี๋ยวนี้พัฒนามากแล้ว  ชาวบ้านเราเลี้ยงควายเพื่อใช้แรงงานมันทำนา มีควายกันทุกครอบครัว เลี้ยงกันแบบผูกพันกันด้วย เชื่องและเรียนรู้งานที่มันจะต้องทำ แต่ก็เลี้ยงกันคนละไม่มากนัก สำหรับครอบครัวไหนที่มีมากหน่อยจะได้เปรียบคือสามารถนำควายไปให้ครอบครัวอื่น หมู่บ้านอื่นที่เขาไม่มีควายนำไปใช้ทำการเกษตรแล้วรับค่าตอบแทนเป็นข้าวเปลือก ฤดูกาลละ 30-40 ถัง ตามแต่จะตกลงกัน แต่วันเวลาผ่านไป ควายที่นี่ก็ถูกเปลี่ยนหน้าที่ไปโดยมีเครื่องจักรเข้ามาทำหน้าที่แทนมัน มันก็เลยสบายไม่ต้องทำงานอะไร แต่ชาวบ้านเราก็ยังคงเลี้ยงไว้ด้วยความผูกพันและเอาไว้ขายในการจับจ่ายขายเป็นค่าเล่าเรียนลูกหลานหรือใช้ในการทำกิจการอื่น ๆ ของครอบครัวไป โดยในช่วงหน้าทำนาแบบนี้ ควายจะถูกขังในโรงเรือนหรือคอกเป็นหลัก เจ้าของมันต้องไปเกี่ยวหญ้าตามคันนาบ้าง หรือหญ้าที่ปลูกไว้ในสวนมาให้มันกินบ้าง หรือมีฟางอัดไว้บ้าง และพอเวลาบ่าย ๆ เย็น ๆ ก็จะพากมันไปลงน้ำที่ท้ายหมู่บ้าน หนองน้ำ ปะกัง  เพื่อให้มันผ่อนคลาย โดยแต่ละครอบครัวจะทยอยกันออกไป ไล่เลี่ยกัน พอควายได้เล่นน้ำพอใจแล้วมันก็จะพากันขึ้นแล้วเดินกลับไปโรงเรือนมันโดยมีเจ้าของมันคอยเดินตามไล่มันไป” 


พร  อุตส่าห์ดี ปราชญ์ชาวบ้านแห่งบ้านกันตรง เล่าที่มาเกี่ยวกับสัตว์เลี้ยงให้ผมฟัง
ที่นี่นิยมเลี้ยงควายไม่นิยมเลี้ยงวัว แม้จะมีบ้างที่นำมาเลี้ยงด้วยกัน แต่ก็โดยรวมแล้วมีวัวทั้งหมู่บ้านไม่น่าจะถึง 10 ตัว

และนี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้นแห่งบ้านกันตรง โดยการคิดตามว่า ถ้ามีควาย แล้วต้องมีมูลคือขี้ควาย และมันต้องมีการทำเกษตรที่สุดยอดแน่ ๆ หากนำไปสู่การทำเกษตรที่ผสมผสานหรือแปรรูปสู่การเกษตรในรูปแบบอื่น ๆ ด้วย


แล้วการเกี่ยวหญ้า การปลูกหญ้า การหาอาหารให้มัน การปล่อยมันไป การเลี้ยงมัน ความผูกพันระหว่างเจ้าของกับควาย หรือการส่งต่อไปยังลูกหลานในยุคที่เทคโนโลยีใกล้ตัวกับคนขนาดนี้ ควายแห่งบ้านกันตรงจะอยู่ต่ออย่างไร ใครจะเลี้ยงต่อไหม อย่างไร โปรดติดตามตอนต่อไป
.

ขวัญชิต  โพธิ์กระสังข์
14 ส.ค. 2562

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ทุ่งกะบาลกะไบแห่งเทือกเขาพรมแดนไทย-กัมพูชา พื้นที่เปิดแห่งใหม่เหมาะกับนักเดินทางและนักประวัติศาสตร์

“บุญ” ต้องฟรี วัดไตรสามัคคี’ จ.ศรีสะเกษ ติดป้ายชัดเจน ทำบุญที่นี่ “ฟรี” ไม่เสียตังค์ [มีคลิป]

ที่วัดไตรสามัคคี ต.โดด อ.โพธิ์ศรีสุวรรณ จ.ศรีสะเกษ เป็นวัดท่องเที่ยวเชิงพุทธอีกแห่งของจังหวัดศรีสะเกษ ที่กำลังเป็นที่นิยมในการทำบุญของพุทธศา...