วันอังคารที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2564

ปาย : โลกคนละใบบนพื้นที่ท่องเที่ยว ชวนมาเรียนรู้และช่วยกันหาทางออกกับโรงเรียนเล็กบนพื้นที่สูงด้วยกัน

 


1]

บนโลกที่ความทันสมัยแห่งยุคเทคโนโลยีที่ก้าวไกลไปสุดกู่ และการสื่อสารที่เท่าทันกันหมด และบนโลกในเดียวกันกับผืนดินแค่คนละฟากของจังหวัดก็ยังมีอีกมุมที่เทคโนโลยีการสื่อสารยังเสมือนย้อนไปเมื่อ 20 ปีก่อนที่เราอาจจะต้องสื่อสารกับอีกฝ่ายแล้วรอ 4-5 วันจะมีคำตอบกลับมา



 2]

อำเภอปาย จังหวัดแม่ฮ่องสอน เป็นอำเภอแห่งการท่องเที่ยวขึ้นชื่อของภาคเหนือที่ใคร ๆ ต่างเข้าใจกันว่าน่าเที่ยวและน่าไปสัมผัสให้ได้ด้วยบรรยากาศและภูมิทัศน์ที่ได้ถูกนำเสนอบนหน้าสื่อผ่านรายการทีวีหรือภาพยนตร์ แต่ทว่าที่อำเภอปาย เช่นเดียวกันก็ยังมีสิ่งที่ชวนคิดต่อว่า ที่แห่งนี้ยังมีสิ่งสวยงามที่รอนักท่องเที่ยวมายลเท่านั้นเองหรือแล้วเรื่องราวอื่น ๆ ล่ะ มีอะไรที่น่าสนใจอีกบ้างหรือไม่

3]

จากพื้นที่เทศบาลตำบลปาย ที่เป็นจุดตั้งของอำเภอปาย (ครอบคลุมพื้นที่บางส่วนของตำบลเวียงใต้) สู่โรงเรียนบ้านแกงหอม (กะเหรี่ยง) ต.เมืองแปง อ.ปาย ระยะทางประมาณ 70 กิโลเมตร (จากคำบอกกล่าวของครูในพื้นที่) หากทว่าค้นหาจากแผนที่หรือในแอพลิเกชัน จะปรากฎให้เส้นทางอ้อมโค้งไปตามหมายเลขทางหลวง 1095 ในระยะทาง 167 กิโลเมตร ทั้ง ๆ ที่อยู่เขตพื้นที่อำเภอเดียวกันคือ “อำเภอปาย”



4]

โรงเรียนบ้านแกงหอม ตั้งอยู่หมู่ที่ 7 ตำบลเมืองแปง อยู่บนพื้นที่สูงและห่างไกล (ไกลมาก) เป็นโรงเรียนในสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาแม่ฮ่องสอน เขต 1 (สพป.มส.1) มีนักเรียนจำนวน 31 คน มีครูประจำการ 3 คน เป็นโรงเรียนชาติพันธุ์กะเหรี่ยง (เรียกตัวเองว่ากะเหรี่ยง) บริบทอยู่ในพื้นที่ภูเขามีลักษณะเป็นเทือกเขาสูงสลับซับซ้อนเป้นที่ราบเรียบถึงลูกคลื่นลอนชัน มีความลาดชันประมาณ 35-50 เปอร์เซ็นต์ และมีระดับความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง ระหว่าง 700-1600 เมตร ชุมชนประกอบอาชีพเกษตรกรรม ปลูกพืชไร่ เลี้ยงสัตว์ ไม่มีไฟฟ้าส่วนภูมิภาคเข้าถึง ใช้ไฟฟ้าระบบพลังงานน้ำที่ปั่นมาจากที่ต่ำ และมีพลังงานไฟฟ้าแสงอาทิตย์ (แต่เป็นแผงไม่ใหญ่นัก) แหล่งน้ำในระบบน้ำประปาภูเขา (ทั้งอุปโภคและบริโภค)



5]

การเดินทางสามารถใช้รถจักรยานยนต์จะสะดวกที่สุด รถยนต์ควรเป็นรถโฟวิล แม้จะมีถนนเข้าถึงแต่การเดินทางที่มีสภาพขึ้น-ลงภูเขาสลับซับซ้อนและมีโค้งมากมาย ถนนส่วนใหญ่เป็นดินภูเขา คอนกรีตมีเสริมเป็นบางจุดเท่านั้น ใช้ระยะเวลาในการเดินทางแบบคนชำนาญทางในระยเวลา 3 ชั่วโมงจากอำเภอปายสู่โรงเรียนบ้านแกงหอม (หากเป็นเรา ๆ ท่าน ๆ คงต้องบวกการเดินทางไปอีกประมาณ 1 ชั่วโมงหรือมากกว่านั้น) การสื่อสารสัญญาณอินเตอร์เน็ตไม่มีเครือข่ายใดเข้าถึง แต่ทางโรงเรียนได้ประสานใช้ระบบการยิงสัญญาณแบบจุดต่อจุดเพื่อเข้าถึงโรงเรียน

6]

ด้วยสภาพพื้นที่ดังกล่าว การสื่อสารของคณะครูหรือผู้ปกครองไม่ต้องคาดหวังจะได้รับการตอบกลับมาในทันทีทันใด บ่อยครั้งที่การสื่อสารถูกตอบกลับในระยะเวลาเป็นสัปดาห์ไม่ต้องแปลกใจ และหากเป็นช่วงที่ฤดูกาลแห่งพายุหรือมีลมพัดผ่านมาบ้าง อินเตอร์เน็ตก็จะทำหน้าที่ตัดขาดแบบไร้เยื่อใย การเรียนการสอนของที่นี่ พยายามใช้ระบบการเรียนการสอนด้วยครูตู้ DLTV ตามนโยบายของรัฐ ต้องอาศัยสัญญาณอินเตอร์เน็ตเป็นหลัก การทำงานไม่สามารถเปิดคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะ (PC) ได้ในระยะเวลานานได้ เพราะจะดึงกระแสไฟฟ้าเป็นจำนวนมาก

7]


อาหารของนักเรียน มาจากการปลูกผักภายในโรงเรียนเป็นหลัก และครูต้องใช้งบประมาณที่มี (ที่ได้จากรายหัวนักเรียน)แบบจำกัดจำเขี่ย ลงมาจับจ่ายซื้อในพื้นที่อำเภอปายในเย็นวันศุกร์ เพื่อจะนำไปประกอบอาหารทั้งสัปดาห์ในสัปดาห์ต่อไป อาหารจึงเป็นจำพวกอาหารสดที่ใช้ได้ในระยะเวลาเพียง 2 วัน ส่วน 3 วันทำการที่เหลือจะเป็นอาหารแห้งหรืออาหารที่เก็บไว้ได้ เพราะที่นี่ไม่มีตู้แช่อาหารสดได้ ที่ต้องใช้พลังงานไฟฟ้าเป็นจำนวนมากนั่นเอง


8]

ความงดงามบนพื้นที่สูง นอกเหนือจากบริบทเป็นภูเขาสูงสลับซับซ้อนในฤดูร้อนที่ได้ไปเยือนแล้ว ที่แห่งนี้ไม่มีวัดแต่นับถือศาสนาพุทธและผีบรรพบุรุษ ผู้คนมีสัมมาคารวะนอบน้อมต่อผู้มาเยือน การขาดแคลนนะฤา ไม่รู้จักอธิบายทั้งหมดอย่างไรดี



9]

คณะสงฆ์อำเภอปาย จังหวัดแม่ฮ่องสอน โดยรองเจ้าคณะจังหวัดแม่ฮ่องสอน ร่วมกับภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย อ.วังน้อย จ.พระนครศรีอยุธยา ได้ระดมทุนจากผู้มีศรัทธาจัดกิจกรรมและจัดซื้อถังกักเก็บน้ำขนาด 2,000 ลิตรจำนวน 3 ถังรวมถึงเครื่องกรองน้ำเพื่อมอบให้กับโรงเรียนแห่งนี้ไว้ใช้ประโยชน์เป็นเบื้องต้น

0]

บนโลกที่งดงาม การสื่อสารนำพาให้ผู้คนมารู้จักและสัมผัสความงามแห่งธรรมชาติที่อำเภอปาย แต่ในอำเภอเดียวกันนี้ยังมีสิ่งที่งดงามที่การสื่อสารแทบเข้าไม่ถึงและการเป็นคนกลุ่มน้อย ชาติพันธุ์บนพื้นที่สูงก็ยังมีความเป็นอยู่ที่อัตคัดไม่น้อยเลย ยังรอผู้คนที่มาเยือนร่วมเดินทางขึ้นไปเยี่ยมและสัมผัสอีกกลิ่นอายความเป็นคนด้วยกันในมุมมองของการย้อนไปเมื่อหลายสิบปีก่อนเป็นเช่นไร สัมผัสกลิ่นอายชาติพันธุ์ในมุมโรงเรียนเล็ก ๆ และมีข้างทางแห่งการท้าทายแห่งชีวิต คงเหมาะกับยุคสมัยที่ก้าวไปข้างหน้าอย่างไร้ขีดจำกัดของมุมเล็ก ๆ แห่งประเทศไทยเรา การศึกษาก็เช่นกันรอผู้มีอำนาจขึ้นมายลและเหลียวแล


เพราะที่นี่คือมุมเล็ก ๆ ที่อยากบอกต่อว่าประเทศไทยเรา ยังรอ รอทุกท่านให้กำลังใจและสนับสนุนต่อยอดให้กับหลายชีวิตที่อยู่บนพื้นที่สูง และแกงหอม (กะเหรี่ยง) ที่นี่คงเป็นพื้นที่หนึ่งที่มีแบบนี้เท่านั้น ยังมีอีกหลายพื้นที่ที่รอทุกท่านสัมผัส

.

4-8 มีนาคม 2564 

เรื่อง/ภาพ : ขวัญชิต โพธิ์กระสังข์

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ทุ่งกะบาลกะไบแห่งเทือกเขาพรมแดนไทย-กัมพูชา พื้นที่เปิดแห่งใหม่เหมาะกับนักเดินทางและนักประวัติศาสตร์

“บุญ” ต้องฟรี วัดไตรสามัคคี’ จ.ศรีสะเกษ ติดป้ายชัดเจน ทำบุญที่นี่ “ฟรี” ไม่เสียตังค์ [มีคลิป]

ที่วัดไตรสามัคคี ต.โดด อ.โพธิ์ศรีสุวรรณ จ.ศรีสะเกษ เป็นวัดท่องเที่ยวเชิงพุทธอีกแห่งของจังหวัดศรีสะเกษ ที่กำลังเป็นที่นิยมในการทำบุญของพุทธศา...