ห้องเรียนของชุมชน
เรื่อง/ ภาพ : ขวัญชิต โพธิ์กระสังข์
การจัดการศึกษาในปัจจุบัน มีการปรับเปลี่ยนการเรียนการสอนเพื่อให้สอดคล้องกับยุคสมัย
ให้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงของกาลเวลาและเทคโนโลยี กระนั้นก็ตามนักเรียนเองก็ต้องมีการเรียนรู้ความเป็นตัวตนของตัวเองด้วยเช่นกัน
โรงเรียนบ้านซำ ต.โพธิ์กระสังข์ อ.ขุนหาญ จ.ศรีสะเกษ เป็นสถานศึกษาขนาดเล็ก จำนวน
115 คน (ข้อมูลเมื่อ 18 กรกฎาคม 2563) ซึ่งอยู่ในบริบทของชุมชนที่สื่อสารด้วยภาษาถิ่นกวย,กูย
มีการเรียนการสอนเช่นเดียวกับโรงเรียนของสังกัด สพฐ. และมีการทำกิจกรรมร่วมกับชุมชนตลอด
โดยเฉพาะทุกวันศุกร์ที่นักเรียน คณะครู
มีการแต่งกายชุดพื้นบ้านและต้องเรียนวิชาธรรมะที่วัด ซึ่งอยู่ติดกับโรงเรียนทุกครั้งไป
แล้วยังมีกิจกรรมเพื่อสร้างสำนึกดีให้กับนักเรียนให้ได้รู้จักวิถี ตัวตนและเห็นคุณค่าของทรัพยากรที่มีอยู่ในชุมชน
โดยจัดกิจกรรมงานค่ายขึ้นในชื่อว่า ค่ายคุณธรรม จริยธรรมและคุณลักษณะอันพึงประสงค์
ที่วัดไตรราษฎร์สามัคคี ระหว่างวันที่ 14-16 สิงหาคม 2563 ที่ผ่านมา
วิรัญรัฏฌา รัตโน ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านซำ
กล่าวว่า โรงเรียนของพวกเรากับชุมชนเป็นเหมือนหนึ่งเดียวกัน บ้านหรือวัดมีงาน
เราก็ไปร่วมกิจกรรมตลอด หรือถ้าโรงเรียนมีงานทางชุมชนก็ให้ความร่วมมือด้วยดีเช่นกัน
ครั้งนี้เราจัดกิจกรรมจึงเลือกอบรมโดยใช้ที่ชุมชนคือวัดในการจัดอบรม เพื่ออยากให้ลูกหลานของเรารู้จักความกตัญญู
ความสามัคคี รู้จักวิถีวัฒนธรรมและเรื่องราวของชุมชนด้วย เพราะสิ่งเหล่านี้จะทำให้นักเรียนได้เป็นพลเมืองที่ดีในสังคมต่อไปได้ค่ะ
วิรัญรัฏฌา รัตโน ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านซำ |
สิบเอกรุ่งทิวา เนื้อนา เจ้าหน้าที่บริหารงานทั่วไป ฝ่ายงานพัฒนานักศึกษา คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏศรีสะเกษ กล่าวว่า มหาวิทยาลัยราชภัฎศรีสะเกษเอง มีพันธกิจในการส่งเสริมและให้บริการวิชาการแก่ชุมชน และครั้งนี้เป็นอีกครั้งที่ได้มาให้ความรู้กับลูกหลานบ้านซำ บ้านตาตา ซึ่งถ้าชุมชนที่นี่มีกิจกรรมดี ๆ ก็มาร่วมด้วยตลอด และครั้งนี้ก็เช่นกันได้พาน้อง ๆ นักศึกษามาร่วมมอบความรู้ ความสนุกและสร้างกำลังใจให้เด็ก ๆ นักเรียนตลอดกิจกรรมครับ
สิบเอกรุ่งทิวา เนื้อนา เจ้าหน้าที่บริหารงานทั่วไป ฝ่ายงานพัฒนานักศึกษา คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏศรีสะเกษ |
ซึ่งผลที่ได้รับก็น่าพึงพอใจอย่างยิ่ง
เด็กนักเรียนได้ผ่อนคลาย ได้เรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ ได้รับความสนุกสนานและได้ลงพื้นที่ทำกิจกรรมที่หลากหลายด้วย
วรัญญา เรียงคำ
นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 เล่าถึงความประทับใจกับกิจกรรมครั้งนี้ว่า
เป็นกิจกรรมที่สนุกสนานมากไม่น่าเบื่อเลย อยากให้มีกิจกรรมแบบนี้อีก
เพราะได้เรียนรู้ธรรมะจากพระสงฆ์ ได้ปลูกป่า ได้เรียนรู้เรื่องสื่อใกล้ตัวเรา
และที่สำคัญคือได้สนุกสนานกับพี่ ๆ วิทยากรจากมหาวิทยาลัยราชภัฏศรีสะเกษด้วย
แม้สถานศึกษาจะมีการจัดการเรียนการสอนที่ปรับเปลี่ยนไปตามโลกสมัยใหม่ก็จริง แต่ไม่ควรทิ้งความเป็นวิถีและรากเหง้าของชุมชน และนี่จึงเป็นเสมือนห้องเรียนของชุมชน ที่ชุมชนมีส่วนร่วมในการจัดการเรียนรู้ให้กับลูกหลานตัวเองได้ด้วย
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น