วันอาทิตย์ที่ 23 สิงหาคม พ.ศ. 2563

ย้อมผ้าด้วยสีธรรมชาติที่กอกหวาน : Hug House [สุขนี้ที่บ้านเรา]

 ย้อมผ้าสีด้วยวัตถุดิบธรรมชาติที่บ้านกอกหวาน'ศรีสะเกษ

ผ้าทอพื้นบ้านกับวิถีความเป็นอีสาน เป็นเหมือนของคู่กันมาตั้งแต่บรรพบุรุษ อยู่ที่พื้นที่นั้น ๆ จะมีการทอผ้าไหมหรือฝ้าย และมีกรรมวิธีที่แตกต่างหรือปรับประยุกต์กันไปอย่างไร

      

เมื่อวันที่ 21-22 สิงหาคม 2563 บ้านกอกหวาน หมู่ที่ 1 ต.โพธิ์ศรี อ.ปรางค์กู่ จ.ศรีสะเกษ โดยกลุ่มสตรีบ้านกอกหวาน ได้จัดทำโครงการพัฒนาศักยภาพองค์กรสตรี การย้อมผ้าจากสีธรรมชาติ โดยได้งบประมาณอุดหนุนจากหน่วยงานพัฒนาชุมชน โดยได้นำวัตถุดิบธรรมชาติ คือ กิ่ง ก้าน ใบ เปลือก ลำต้นของต้นลำดวน ที่มีในหมู่บ้านนำมาต้มเพื่อทำการย้อมเป็นสี รวมถึงได้นำต้นเขร คลั่ง และมะพูด(ประหูด, ประโหด ภาษาเขมร) มาย้อมด้วย ซึ่งเป็นการย้อมผ้าฝ้าย 

      บริบูรณ์ ทองฮีง ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านกอกหวาน เล่าว่า บ้านเราเป็นบ้านเก่าแก่พูดภาษาเขมรกัน มีการทอผ้ากันตลอด ส่วนการย้อมสีผ้าด้วยสีธรรมชาติแบบนี้ เคยเห็นการย้อมตั้งแต่รุ่นแม่ พวกเราเพิ่งเริ่มเรียนรู้นี่ล่ะคะ ดีใจทีได้เรียนรู้วิถีดั้งเดิมของพ่อแม่ทำไว้ก่อน ซึ่งวัตถุดิบที่มีในบ้านเราก็คือลำดวน ซึ่งเป็นสีหนึ่งของอัตลักษณ์ของจังหวัดศรีสะเกษเรา ไม่ใช่แค่เรื่องย้อมหรือทอผ้าอย่างเดียว เราได้กินข้าวร่วมกัน ทำกิจกรรมร่วมกันด้วย

      ซึ่งกิจกรรมในครั้งนี้มีการย้อมด้วยสีธรรมชาติ และการนำมาทอเป็นเป็นผืนด้วย

สุรัตน์ ทองมน ผู้นำอาสาพัฒนาชุมชน กล่าวว่า ดีใจที่ได้มาเรียนรู้เรื่องเก่า ๆ ของบ้านเรา เหมือนได้ฟื้นฟูของดีขึ้นมาอีกครั้งคือการย้อมด้วยสีธรรมชาติ เพราะเคยเห็นแต่คนเฒ่าแก่เคยใช้แต่สีเคมีในการย้อม พอได้มาเรียนรู้ด้วยสีธรรมชาติแบบนี้รู้สึกอยากทำขึ้นมาเอง และสนุกมากด้วย ซึ่งนอกจากได้ผสมด้วยสีธรรมชาติแล้วพอนำไปหมักด้วยโคลนหรือตมอีก ก็จะได้เป็นอีกหนึ่งขึ้นมา เป็นอีกความรู้หนึ่งที่ไม่เคยได้รู้จักเลย

สุขุมา จำปาพันธ์ บ้านน้อยนาเจริญ ต.สำโรงปราสาท อ.ปรางค์กู่ วิทยากรอบรมครั้งนี้ เล่าว่า การย้อมด้วยสีธรรมชาติแบบนี้ทำได้ทั้งเส้นไหมและเส้นฝ้าย แต่สำหรับเส้นไหมจะติดได้ง่ายกว่าและสีสดกว่า แต่ถ้าเป็นเส้นฝ้ายก็ติดสีได้เหมือนกันแต่จะมีสีที่จืดกว่าเส้นไหมเล็กน้อย

แม้ชุมชนแห่งนี้จะเป็นชุมชนเก่าแก่ แต่รูปแบบการทอผ้าก็จะเป็นผ้าไหมและการย้อมด้วยสีเคมีเป็นหลัก นับวันก็จะไม่มีการย้อมสีธรรมชาติแล้ว การได้เรียนรู้หรือการนำสีธรรมชาติมาให้ได้เรียนรู้ประกอบกับการได้รับการสนับสนุนหรืออุดหนุนงบประมาณจากภาครัฐ ก็เป็นการช่วยเหลือให้ชุมชนได้รวมกลุ่มและได้เรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ในวิถีเดิมที่ตัวเองเป็นอยู่ ส่วนสีต่าง ๆที่ได้ย้อมแล้วนั้นก็จะออกมาเป็นสีของวัตถุดิบนั้น ๆ ไป

 

เรื่อง / ภาพ : ขวัญชิต โพธิ์กระสังข์


















วันพฤหัสบดีที่ 20 สิงหาคม พ.ศ. 2563

ห้องเรียนของชุมชนที่โพธิ์กระสังข์ | HUG HOUSE [สุขนี้ที่บ้านเรา]

 ห้องเรียนของชุมชน

เรื่อง/ ภาพ : ขวัญชิต โพธิ์กระสังข์ 

การจัดการศึกษาในปัจจุบัน มีการปรับเปลี่ยนการเรียนการสอนเพื่อให้สอดคล้องกับยุคสมัย ให้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงของกาลเวลาและเทคโนโลยี กระนั้นก็ตามนักเรียนเองก็ต้องมีการเรียนรู้ความเป็นตัวตนของตัวเองด้วยเช่นกัน โรงเรียนบ้านซำ ต.โพธิ์กระสังข์ อ.ขุนหาญ จ.ศรีสะเกษ เป็นสถานศึกษาขนาดเล็ก จำนวน 115 คน (ข้อมูลเมื่อ 18 กรกฎาคม 2563) ซึ่งอยู่ในบริบทของชุมชนที่สื่อสารด้วยภาษาถิ่นกวย,กูย มีการเรียนการสอนเช่นเดียวกับโรงเรียนของสังกัด สพฐ. และมีการทำกิจกรรมร่วมกับชุมชนตลอด โดยเฉพาะทุกวันศุกร์ที่นักเรียน คณะครู มีการแต่งกายชุดพื้นบ้านและต้องเรียนวิชาธรรมะที่วัด ซึ่งอยู่ติดกับโรงเรียนทุกครั้งไป แล้วยังมีกิจกรรมเพื่อสร้างสำนึกดีให้กับนักเรียนให้ได้รู้จักวิถี ตัวตนและเห็นคุณค่าของทรัพยากรที่มีอยู่ในชุมชน โดยจัดกิจกรรมงานค่ายขึ้นในชื่อว่า ค่ายคุณธรรม จริยธรรมและคุณลักษณะอันพึงประสงค์ ที่วัดไตรราษฎร์สามัคคี ระหว่างวันที่ 14-16 สิงหาคม 2563 ที่ผ่านมา



วิรัญรัฏฌา รัตโน ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านซำ กล่าวว่า โรงเรียนของพวกเรากับชุมชนเป็นเหมือนหนึ่งเดียวกัน บ้านหรือวัดมีงาน เราก็ไปร่วมกิจกรรมตลอด หรือถ้าโรงเรียนมีงานทางชุมชนก็ให้ความร่วมมือด้วยดีเช่นกัน ครั้งนี้เราจัดกิจกรรมจึงเลือกอบรมโดยใช้ที่ชุมชนคือวัดในการจัดอบรม เพื่ออยากให้ลูกหลานของเรารู้จักความกตัญญู ความสามัคคี รู้จักวิถีวัฒนธรรมและเรื่องราวของชุมชนด้วย เพราะสิ่งเหล่านี้จะทำให้นักเรียนได้เป็นพลเมืองที่ดีในสังคมต่อไปได้ค่ะ

วิรัญรัฏฌา รัตโน ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านซำ
ซึ่งภายในกิจกรรมครั้งนี้ ได้วิทยากรที่เป็นคนในชุมชนและนอกชุมชน อาทิ พระสงฆ์ ปราชญ์ชาวบ้าน ผู้นำชุมชน รวมไปถึงวิทยากรที่เป็นเครือข่ายของชุมชนด้วยดีเสมอมา คือมหาวิทยาลัยราชภัฏศรีสะเกษ

สิบเอกรุ่งทิวา เนื้อนา เจ้าหน้าที่บริหารงานทั่วไป ฝ่ายงานพัฒนานักศึกษา คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏศรีสะเกษ กล่าวว่า มหาวิทยาลัยราชภัฎศรีสะเกษเอง มีพันธกิจในการส่งเสริมและให้บริการวิชาการแก่ชุมชน และครั้งนี้เป็นอีกครั้งที่ได้มาให้ความรู้กับลูกหลานบ้านซำ บ้านตาตา ซึ่งถ้าชุมชนที่นี่มีกิจกรรมดี ๆ ก็มาร่วมด้วยตลอด และครั้งนี้ก็เช่นกันได้พาน้อง ๆ นักศึกษามาร่วมมอบความรู้ ความสนุกและสร้างกำลังใจให้เด็ก ๆ นักเรียนตลอดกิจกรรมครับ

สิบเอกรุ่งทิวา เนื้อนา เจ้าหน้าที่บริหารงานทั่วไป ฝ่ายงานพัฒนานักศึกษา คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏศรีสะเกษ

ซึ่งผลที่ได้รับก็น่าพึงพอใจอย่างยิ่ง เด็กนักเรียนได้ผ่อนคลาย ได้เรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ ได้รับความสนุกสนานและได้ลงพื้นที่ทำกิจกรรมที่หลากหลายด้วย

วรัญญา เรียงคำ นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 เล่าถึงความประทับใจกับกิจกรรมครั้งนี้ว่า เป็นกิจกรรมที่สนุกสนานมากไม่น่าเบื่อเลย อยากให้มีกิจกรรมแบบนี้อีก เพราะได้เรียนรู้ธรรมะจากพระสงฆ์ ได้ปลูกป่า ได้เรียนรู้เรื่องสื่อใกล้ตัวเรา และที่สำคัญคือได้สนุกสนานกับพี่ ๆ วิทยากรจากมหาวิทยาลัยราชภัฏศรีสะเกษด้วย

แม้สถานศึกษาจะมีการจัดการเรียนการสอนที่ปรับเปลี่ยนไปตามโลกสมัยใหม่ก็จริง แต่ไม่ควรทิ้งความเป็นวิถีและรากเหง้าของชุมชน และนี่จึงเป็นเสมือนห้องเรียนของชุมชน ที่ชุมชนมีส่วนร่วมในการจัดการเรียนรู้ให้กับลูกหลานตัวเองได้ด้วย
.
.
(ขอบคุณภาพส่วนหนึ่งจาก ธีรพล แก้วลอย)






























ทุ่งกะบาลกะไบแห่งเทือกเขาพรมแดนไทย-กัมพูชา พื้นที่เปิดแห่งใหม่เหมาะกับนักเดินทางและนักประวัติศาสตร์

“บุญ” ต้องฟรี วัดไตรสามัคคี’ จ.ศรีสะเกษ ติดป้ายชัดเจน ทำบุญที่นี่ “ฟรี” ไม่เสียตังค์ [มีคลิป]

ที่วัดไตรสามัคคี ต.โดด อ.โพธิ์ศรีสุวรรณ จ.ศรีสะเกษ เป็นวัดท่องเที่ยวเชิงพุทธอีกแห่งของจังหวัดศรีสะเกษ ที่กำลังเป็นที่นิยมในการทำบุญของพุทธศา...