วันศุกร์ที่ 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2563

สวาย “เกษตรสูงวัย” ปลอดภัยอย่างมีเสน่ห์ : ที่นี่ศรีสะเกษ


มีไม่มากนักที่เราจะเห็นชุมชนที่ทำการเกษตรอย่างเป็นจริงเป็นจัง ตลอดทั้งปี ซึ่งที่ชุมชนบ้านสวาย หมู่ที่ 2 ต.ไพรบึง อ.ไพรบึง จ.ศรีสะเกษ เป็นชุมชนที่อยู่ในเขตเทศบาลตำบลไพรบึง พูดจากันด้วยภาษาเขมรถิ่นไทย หนึ่งในสี่ของเผ่าของศรีสะเกษ ชุมชนที่นี่ทำเกษตรกันตลอดปีเลย

      ที่นี่ เดิมทีเป็นชุมชนขนาดใหญ่ มีการแยกบ้านสนวนออกจากสวายไป บ้านสวายจึงกลายเป็นชุมชน 135 ครัวเรือนที่อยู่จริง แต่ยังคงมีโรงเรียนและวัดที่ใช้ร่วมกัน ส่วนใหญ่ทำนาเป็นหลัก แต่ด้วยการทำนาในปัจจุบันใช้เครื่องจักรกันถ้วนหน้า การทำนาจึงกลายเป็นรูปแบบผู้จัดการนากันแทบทั้งสิ้น ทำให้ชาวบ้านเลือกทำอาชีพเสริมหรืออาชีพรองที่พอเลี้ยงชีพได้ ในระยะหลังมานี้ชาวบ้านมีการทำอาชีพ ค้าสลากกินแบ่งรัฐบาลกันเกือบ 100 % ครัวเรือนละ 1-3 คน โดยจะมีการไปขายในรูปแบบเดี่ยว ด้วยรถจักรยานยนต์ ขับไปตามบ้าน ตามชุมชน ทั้งในเขตพื้นที่และต่างพื้นที่ เย็นก็กลับมาบ้านอย่างหนึ่ง บางเจ้าขึ้นรถประจำทางไปลงในเขตจังหวัดแล้วตระเวนเดินขาย เย็นมาก็กลับมาบ้าน อีกส่วนหนึ่งคือมีรวมกลุ่มกัน 7-10 คนแล้วว่าจ้างรถกันเองแล้วไปขายตามต่างจังหวัด ซึ่งไปกันหลายวัน หรือจนกว่าจะหมดแล้วจึงกลับมาบ้านตัวเอง ส่วนใหญ่แล้วคนค้าสลากกินแบ่งนี้จะอยู่ในช่วงวัยรุ่นและวัยทำงานเป็นหลัก

      สำหรับช่วงวัยสูงอายุนั้น กลับมีอาชีพพิเศษกว่าพื้นที่อื่น ๆ นั่นคือทุกเช้าและเย็น จะต้องออกจากบ้านมุ่งหน้าสู่แปลงผักที่อยู่บนพื้นที่สาธารณะหน้าชุมชน ที่ชุมชนถือกติการ่วมกัน ซึ่งแปลงนี้อยู่บนริมสระหนองน้ำขนาดใหญ่ ที่เรียกว่า หนองใหญ่ หรือ ผู้คนภายนอกจะเรียกว่า “บึงนกเป็ดน้ำไพรบึง” เพราะมีนกเป็ดน้ำอาศัยอยู่เป็นจำนวนมากตลอดทั้งปี มีการขุดลอกคลองจากหนองใหญ่มาทำเป็นคันกั้นขนาดใหญ่เมื่อ 20 กว่าปีก่อน กั้นเป็นสองฟาก โดยฟากที่เป็นหนองใหญ่นั้นยังคงเรียกชื่อเดิม และอีกฟากหนึ่งได้ใช้ชื่อว่า “หนองคะเตียน” และคันดินที่กั้นตรงกลางนั้นได้จัดสรรแบ่งเป็นล็อค ๆ ละขนาด 3x8 เมตร จำนวน 107 ล็อค ๆ ละครัวเรือน ให้ชาวบ้านมาใช้ประโยชน์โดยการให้ปลูกพืชผักชนิดต่าง ๆ โดยได้มีการดำเนินการปลูกผักมาตั้งแต่ปี 2542 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน มีค่าบำรุงคนละ 10 บาทต่อการสูบน้ำแต่ละครั้งเป็นค่าบำรุงเครื่องสูบน้ำจากหนองน้ำมาเก็บไว้ในพื้นที่ข้าง ๆ แปลงนั้น
      พืชผักที่ปลูกได้ทุกฤดูกาลสำหรับที่นี่คือ พืชผักสมุนไพรคู่ครัวเรือน อาทิ พริก ข่า ตะไคร้ โหระพา และสำหรับหน้าร้อนเช่นนี้ ที่เห็นมีแทบทุกแปลงคล้าย ๆ กันคือ ผักบุ้ง คะน้า เป็นหลักที่ปลูกง่าย โตไว เก็บกินและจำหน่ายได้เร็ว เป็นที่ต้องการของตลาดด้วย

    
      ในทุก ๆ เช้ามืดและบ่ายแก่ ๆ ของวัน จะมีชาวบ้านที่เป็นเจ้าของแปลงผัก ซึ่งโดยทั่วไปแล้วจะเป็นสูงวัยอายุ 60 ปีขึ้นไป มารดน้ำผักบ้าง มาถอนหญ้าบ้าง มาเก็บผักเพื่อไปจำหน่ายบ้าง หรือมาเตรียมแปลงเพื่อปลูกชนิดใหม่บ้าง

โดยในทุกเช้าจะมีการฝากผักไปกับคนที่นำผักไปเร่ขายโดยมัดผักนั้น ๆ เป็นกำ ๆ ใส่ตะกร้ารถจักรยาน ปั่นไปขายตามซอก ซอย ถนนต่าง ๆ ในเขตอำเภอไพรบึง จ.ศรีสะเกษ
      สำหรับบางเจ้าที่ติดต่อกับร้านขายอาหารตามสั่งหรือร้านเนื้อย่างต่าง ๆ ก็นำไปส่งประจำทุก ๆ วัน
      คุณยายเดือน เสนคราม วัย 63 ปี กำลังถอนหญ้าในแปลงผักเพื่อนำหญ้านั้นไปให้วัวที่บ้านและคุณตาเกรียว เสนคราม วัย 64 ปี ซึ่งเพิ่งกลับมาจากทำงานประจำร้านวัสดุก่อสร้างในเขตอำเภอ มาช่วยรดน้ำในแปลงผักประจำทุกวัน เป็นครอบครัวที่ดูอบอุ่น ต่างทำหน้าที่ของตัวเอง
คุณยายเดือน เล่าว่า “ทุกวันจะมารดน้ำ พรวนดิน ถอนหญ้าเช่นนี้ทั้งตอนเช้าและตอนเย็น โดยมีคุณตาที่ไปรับจ้างร้านค้าขายวัสดุมาคอยช่วยรดน้ำด้วย และวันนี้ก็มาถอนหญ้าในแปลงผักเพื่อนำไปให้วัวที่เลี้ยงไว้ด้วย 3 ตัว ส่วนผักที่ปลูกก็มีหลายชนิด และที่เพิ่งหมดไปคือผักบุ้ง เพิ่งเก็บและนำไปขายหมดเมื่อวาน และรออีกรุ่นที่กำลังรดน้ำอยู่นี้ด้วย ผักที่เก็บไว้ก็นำใส่ตะกร้าไปเร่ขายในเขตอำเภอไพรบึง นำเร่ไปขายใส่ตะกร้าปั่นจักรยานไปช่วงเช้า ๆ ไม่นานก็หมดแล้ว ก็ทำแบบนี้ทุก ๆ วัน”
ในทุก ๆ เย็นริมหนองใหญ่ติดกับแปลงผักนี้ จะมีคนมาวิ่งออกกำลังกายด้วย พอวิ่งเสร็จบางคนก็จะแวะมาซื้อผักสด ๆ ที่แปลงผัก ที่ให้เลือกให้ชมที่แปลงได้เลย บางวันจะมีนักท่องเที่ยวมาซื้อผักที่นี่ด้วย
นี่คือบรรยากาศที่หาชมได้ยาก ในการทำเกษตรแบบบ้าน ๆ และสามารถนำพืชผักเหล่านั้นไปใช้ได้จริง กินก็ได้ ขายก็ดี ปลอดภัยทั้งผู้ให้และผู้รับ อีกทั้งเป็นการออกกำลังกายไปในตัวสำหรับผู้สูงอายุ รวมไปถึงสร้างภูมิคุ้มกันที่ดีให้กับตัวเอง ครอบครัวและสังคมต่อไป
หากสนใจหรืออยากสนับสนุน เชิญแวะชม แวะสนับสนุน แวะพักผ่อนกันได้ครับ ถ้าไปแล้วรับรองได้กำไรชีวิตเป็นแน่แท้
ที่นี่คือบ้านที่เราอยากให้ทุกคนไปสัมผัส ที่นี่บ้านสวาย หมู่ที่ 2 ต.ไพรบึง อ.ไพรบึง จ.ศรีสะเกษ



เรื่อง/ ภาพ ขวัญชิต โพธิ์กระสังข์

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ทุ่งกะบาลกะไบแห่งเทือกเขาพรมแดนไทย-กัมพูชา พื้นที่เปิดแห่งใหม่เหมาะกับนักเดินทางและนักประวัติศาสตร์

“บุญ” ต้องฟรี วัดไตรสามัคคี’ จ.ศรีสะเกษ ติดป้ายชัดเจน ทำบุญที่นี่ “ฟรี” ไม่เสียตังค์ [มีคลิป]

ที่วัดไตรสามัคคี ต.โดด อ.โพธิ์ศรีสุวรรณ จ.ศรีสะเกษ เป็นวัดท่องเที่ยวเชิงพุทธอีกแห่งของจังหวัดศรีสะเกษ ที่กำลังเป็นที่นิยมในการทำบุญของพุทธศา...