วันศุกร์ที่ 6 มีนาคม พ.ศ. 2563

“เมืองคง” เล่นเปลี่ยนโลก | HUG HOUSE [สุขนี้ที่บ้านเรา]


การศึกษาในยุคนี้ที่เรียกว่า ยุคศตวรรษที่ ๒๑  เป็นการเรียนรู้ให้ทันกับยุคสมัยและเทคโนโลยี มีมุมมองให้กว้างให้ทันกับโลก จังหวัดศรีสะเกษ จัดว่าเป็นจังหวัดหนึ่งที่ขับเคลื่อนนวัตกรรมการศึกษาในมุมมิติต่าง ๆ  ทั่วทั้งจังหวัด

โรงเรียนเมืองคง (คงคาวิทยา) อ.ราษีไศล จ.ศรีสะเกษ และเครือข่าย เป็นอีกพื้นที่หนึ่งที่ให้ความสำคัญกับการเรียนรู้เน้นช่วงวัยและการเรียนรู้แบบสนุกสนานที่มาจากการเล่น อันจะนำไปสู่การคิดแบบเป็นระบบ เกิดทักษะทางการคิด และนำไปสู่การใช้ได้ในชีวิตจริง โดยกิจกรรมดังกล่าวนี้ เรียกกันว่า “เล่น เปลี่ยน โลก”
การเล่นเกิดมาพร้อมกับมนุษย์ การเล่นคือวัฒนธรรม การเล่นคือสารตั้งต้นในการวางแผน ออกแบบสร้างสรรค์และจินตนาการของมนุษย์ การเล่นเกี่ยวข้องกับคนทุกคน และการเล่นไม่มีจำกัดวัย และวันนี้กิจกรรมถูกออกแบบการเล่นด้วยฝีมือนักเรียนเอง เพราะการเล่นมันสำคัญ เราจึงเอาการเล่นนี้ไปเข้าสู่การคิด วางแผน จินตนาการ เชื่อมโยงกับโลกในยุค Infinity ที่เราเรียกกันว่า เล่นเปลี่ยนโลก เพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงในเชิงบวก และการจัดกิจกรรมการเล่นนี้ ที่เป็นส่วนหนึ่งของการเรียนรู้ มีเป้าหมายคือการสร้างลูกหลานของพวกเราให้เป็นพลเมืองที่ดี เป็นพลังของบ้านเมืองที่ดี การเล่นนี้ก็คือหนึ่งในวิธีการจัดการเรียนรู้แบบหนึ่งคำถามพันคำตอบ และไม่ต้องยึดโยงในห้องสี่เหลี่ยม ที่พวกเราเชื่อและศรัทธามาตลอดเสถียร พันธ์งาม ผู้อำนวยการโรงเรียนเมืองคง (คงคาวิทยา) กล่าวเปิดกิจกรรมและให้แง่คิดต่อผู้ร่วมกิจกรรมกว่า ๕๐๐ คน ที่มีนักเรียน ผู้ปกครองภายในอำเภอราษีไศลและโรงเรียนเครือข่ายที่สนใจ
เสถียร พันธ์งาม / ผู้อำนวยการโรงเรียนเมืองคง (คงคาวิทยา)

ความสนุกสนานถูกเปิดการเล่นโดยผู้อำนวยการฯ
      ในกิจกรรมดังกล่าว มีการจัดคล้ายเป็นฐานการเรียนรู้ ที่มีการออกแบบการเล่นที่แตกต่างกันออกไป อาทิ ฐานเครื่องดนตรีจากวัสดุอุปกรณ์ในครัวเรือน ฐานแต่งแต้มด้วยสีน้ำ ฐานแต่งแต้มด้วยสีที่ได้จากใบไม้และธรรมชาติรอบตัวเรา ฐานการประดิษฐ์ด้วยวัสดุหลากหลายขนาด ฐานการเล่นน้ำ ฐานการแต่งตัว ฐานบ้านสนุก ฐานการแต่งชุดเป็นอาชีพที่ตัวเองชอบ ฐานอาหารที่ต้องทำเอง ฐานปีนป่ายไต่เชือก ฐานเครื่องดนตรีพื้นบ้าน และยังมีอีกหลายฐานที่ไม่ได้จำกัดให้เด็กนักเรียนต้องเล่น ให้ครบทุกฐาน แต่เปิดโอกาสให้ได้เล่นและออกแบบการเล่นได้ตามความชอบของแต่ละคน สังเกตได้ถึงสีหน้าความสนุกสนานของแต่ละคนที่บ่งบอกได้ถึงความสุข และฐานไหนที่มีความอันตรายก็จะมีผู้ปกครองคอยดูแลและคอยแนะนำ แต่ละฐานจะมีนักเรียนที่ชอบไม่เหมือนกัน ซึ่งที่เห็นและสนุกกันอย่างมากคือฐานการเล่นน้ำที่ได้ถูกออกแบบเหมือนการเล่นสไลเดอร์ลงอ่างน้ำ ลื่น เลอะ เลาะ และมีฐานการแต่งหน้าทาปากจะมีนักเรียนชายที่สนใจมาออกแบบความสวยงามของตัวเองได้ด้วย และฐานอาหารพื้นบ้าน จำพวก ตำส้มตำ และเมี่ยงคำอาหารถิ่น รวมไปถึงก๋วยเตี๋ยว ก็มีนักเรียนแวะเวียนมาลงมือประกอบอาหารด้วยตนเองไม่ขาดสาย

ครูหนูทิพย์ พันธ์งาม / ผู้อำนวยการชั้นเรียนโรงเรียนเมืองคง (คงคาวิทยา)
      “กิจกรรมการเล่นนี้ เป็นส่วนหนึ่งของการเรียนการสอนที่เป็นนวัตกรรมของโรงเรียนเรา นั่นก็คือ Friday is a fly day หรือวันศุกร์คือวันโบยบิน เรามาประยุกต์ให้เด็กได้สนุกสนานและได้มีความสุขจากการเล่นของลูก ๆ นักเรียนเรา และการเล่นแต่ละอย่างนั้น เขาก็ออกแบบเองได้ด้วย โดยจะมีผู้อำนวยการชั้นเรียนหรือผู้อำนวยการการเล่นที่เป็นผู้ปกครองคอยให้กำลังใจ และการที่เด็กได้เล่นแล้วเขามีความสุขตามความชอบของเขา จะทำให้เขามีการพัฒนาทักษะความคิด พัฒนาสมองของเขาได้ดี” หนูทิพย์ พันธ์งาม / ผู้อำนวยการชั้นเรียนโรงเรียนเมืองคง (คงคาวิทยา) กล่าว

      ในขณะที่นักเรียนสนุกสนานกับการเล่นของเขาอยู่นั้น คณะครูและผู้ปกครองที่เป็นเครือข่ายที่มาร่วมกิจกรรม ได้ถอดบทเรียนร่วมกันเกี่ยวกับการเล่นในครั้งนี้ด้วย
คุณครูศศิธร หวะสุวรรณ / ครูโรงเรียนเพียมาต (รัฐราษฎร์พิทยาคาร) ผู้ร่วมกิจกรรม
“เห็นแววตาความสนุกสนานตามวัย เห็นความเป็นผู้ใหญ่ในตัวเขาที่ได้ออกแบบการเล่นของเขาเอง และบางการเล่นที่ต้องช่วยกันทำเขาก็ช่วยกันดีไม่มีการเกี่ยงงอนกัน เหมือนเขาได้เข้าใจกับการเล่นและเป็นการเสริมทักษะทางด้านสมองของเขาได้ดีเลย” ศศิธร หวะสุวรรณ   / ครูโรงเรียนบ้านเพียมาต (รัฐราษฎร์พิทยาคาร) อ.ราษีไศล จ.ศรีสะเกษ หนึ่งในโรงเรียนเครือข่ายที่มาร่วมกิจกรรมเล่าถึงความสนุกสนานในแววตาของนักเรียน
ครูนกยูง ปานุเวช / ครูโรงเรียนบ้านครั่ง นำผู้ปกครองมาร่วมกิจกรรมด้วย
“แอบไปถามนักเรียนที่เล่น ๆ กันอยู่แล้ว เขาสามารถบอกและเล่าถึงสิ่งที่เขาเล่นและสนุกอยู่คืออะไร มีรูปแบบอย่างไรและทำอย่างไร ได้อย่างเป็นขั้นเป็นตอน นี่ล่ะคะคือการเรียนรู้โดยที่เขาไม่รู้ตัวเลย และวันนี้ก็พาผู้ปกครองนักเรียนมาร่วมดูกิจกรรมของนักเรียนที่นี่ด้วย ผู้ปกครองที่มาด้วยก็ชอบใจมากเลย สิ่งแบบนี้สามารถเอาไปปรับใช้ได้ในชีวิตจริงของเราได้ และสามารถเอาไปจัดกิจกรรมการเรียนการสอนที่โรงเรียนของคุณครูได้ด้วย จะนำสิ่งที่ได้ในวันนี้ไปเสนอผู้บริหารและคณะครูให้ทำแบบนี้ดู ชอบมากค่ะแบบนี้” นกยูง ปานุเวช / ครูโรงเรียนบ้านครั่ง อ.ราษีไศล จ.ศรีสะเกษ กล่าว
เสริมศรี คูคำ ผู้อำนวยการเล่นแห่งโรงเรียนเมืองคง (คงคาวิทยา)
ความรู้สึกอบอุ่นที่ได้เห็นรอยยิ้มแห่งความสนุกสนานแบบนี้ มีไม่บ่อยนัก เช่นเดียวกับความรู้สึกของผู้ปกครองนักเรียนแห่งนี้ที่มีตำแหน่งถึงผู้อำนวยการเล่น กล่าวว่า “กิจกรรมแบบนี้ดีมาก ที่ไม่เคยเห็นมาก่อนเลยแบบนี้ สามารถนำไปปรับใช้ได้กับลูกหลานในชีวิตประจำวันได้เลย ซึ่งมีหลายอย่างให้เด็ก ๆ ได้เล่นกันทั้งได้ออกแบบการวาดรูป ออกแบบการเล่นสีจากธรรมชาติพวกใบไม้มาทำเป็นสี หรือการเล่นทราย เล่นดิน เล่นน้ำ เล่นดนตรี รวมไปถึงการทำอาหารด้วยตัวเขาเอง เด็ก ๆ แต่ละคนสนุกสนานมากเลย สิ่งเหล่านี้ทำให้เขาได้เรียนรู้ดีมาก และบางอย่างนั้น ยายเองก็ไม่รู้เหมือนกัน ได้หลานมาบอกถึงวิธีการทำด้วยซ้ำ จึงรู้สึกได้ถึงวิวัฒนาการการเรียนการสอนของที่โรงเรียนเราพาทำแบบนี้ และถึงจะสนุกสนานอย่างไร ก็ยังอยากให้โรงเรียนพัฒนาการเรียนทางวิชาการควบคู่ไปด้วยอย่างเช่นปัจจุบันนี้ และก็ให้กำลังใจและขอบคุณผู้บริหาร คณะครู ผู้ปกครองทุกคนที่ให้ความสำคัญกับการเล่นควบคู่กับการเรียนแบบนี้” เสริมศรี คูคำ วัย ๕๕ ปี  ผู้อำนวยการเล่นและเป็นผู้ปกครองนักเรียน โรงเรียนเมืองคง(คงคาวิทยา) อ.ราษีไศล จ.ศรีสะเกษ

กิจกรรมดังกล่าวนี้ โรงเรียนเมืองคง (คงคาวิทยา) ได้รับงบประมาณสนับสนุนหลักจาก มูลนิธิเพื่อการพัฒนาเด็ก (มพด.) ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และสถาบันสื่อเด็กและเยาวชน (สสย.) ให้ทางโรงเรียนได้ขับเคลื่อนตามเป้าหมายที่โรงเรียนเห็นความสำคัญของการศึกษาในยุคนี้
และนี่ ก็คงเป็นอีกพื้นที่หนึ่งของการจัดการศึกษาที่เป็นรูปแบบของ ๓๖๐ องศา บนการเรียนรู้มุ่งสู่การเป็นพลเมืองประชาธิปไตย โดยจังหวัดศรีสะเกษเป็นหนึ่งในพื้นที่นำร่องในการจัดการศึกษาในหลากหลายรูปแบบในยุคที่เรียกว่า ยุคศตวรรษที่ ๒๑ ที่ไม่ได้เพียงการเน้นเทคโนโลยีหรือความก้าวหน้าแห่งยุคสมัยเกินไป แต่ยังอยู่บนฐานความจริงที่เด็กนักเรียนควรเรียนรู้ ควรสนุกสนานอันเป็นทักษะสำคัญในการพัฒนาสมองและการนำไปใช้ได้ในชีวิตประจำวันได้เป็นอย่างดี
ที่นี่คือ โรงเรียนเมืองคง (คงคาวิทยา) อำเภอราษีไศล จังหวัดศรีสะเกษ



เรื่อง/ ภาพ : ขวัญชิต โพธิ์กระสังข์
.












ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ทุ่งกะบาลกะไบแห่งเทือกเขาพรมแดนไทย-กัมพูชา พื้นที่เปิดแห่งใหม่เหมาะกับนักเดินทางและนักประวัติศาสตร์

“บุญ” ต้องฟรี วัดไตรสามัคคี’ จ.ศรีสะเกษ ติดป้ายชัดเจน ทำบุญที่นี่ “ฟรี” ไม่เสียตังค์ [มีคลิป]

ที่วัดไตรสามัคคี ต.โดด อ.โพธิ์ศรีสุวรรณ จ.ศรีสะเกษ เป็นวัดท่องเที่ยวเชิงพุทธอีกแห่งของจังหวัดศรีสะเกษ ที่กำลังเป็นที่นิยมในการทำบุญของพุทธศา...