การเดินทางครั้งนี้เป็นการเดินทางในวันหยุดพักผ่อนกับครอบครัว โดยมีคำสะกิดจากคุณน้าที่เกริ่นเมื่อสองวันก่อนว่า “ไม่เคยได้ไปเห็นปราสาทหินพนมรุ้งเลยสักครั้ง จนจะอายุจะเข้า ๖๐ ปีแล้ว ซึ่งมันก็อยู่ใกล้ ๆ บ้านเราแค่นี้เอง” นี่คงเป็นแรงหนุนแรกที่มีพลังในการก่อเกิดการเดินทางในครั้งนี้
เมื่อใคร่ครวญดีแล้ว ประจวบกับในวันหยุดอันใกล้นี้ คือสัปดาห์แห่งวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา ก็คือวันมาฆบูชา แม้จะเป็นเพียงข้าราษฎรก็ตาม แต่คิดว่านี่คงเป็นฤกษ์ดีแล้ว
๐๑. ข้อมูลกับการเดินทาง
เช้าวันเสาร์ที่ ๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๓ จึงได้บอกกับคุณน้าว่า เราไปปราสาทเขาพนมรุ้งกันในวันพรุ่งนี้นะ ได้คำตอบจากคุณน้าว่าจะบอกพี่น้องน้องก่อน และตกลงจะร่วมเดินทางในเช้าวันพรุ่งนี้ ผมจึงทำข้อมูลหาพื้นที่ใกล้เคียงและดูการเดินทางทันทีว่า เราจะใช้เวลาสักกี่มากน้อยในการเดินทาง โดยจะมีเป้าหมายหลักที่ “ปราสาทเขาพนมรุ้ง” เป็นหลัก และข้อมูลที่จะหาจาก Google และ Google map ข้อมูลที่ได้และอยู่ใกล้กับเป้าหมายหลักก็มี ปราสารทเขาพนมรุ้ง ปราสารทเมืองต่ำ คือคำตอบแรก นึกย้อนมาถึงว่า นอกจากปราสาทเหล่านี้ที่อยู่ใกล้เคียงกันแล้วมีที่ไหนอีกบ้าง จึงผุดคำว่า “เขาพระอังคาร” ขึ้นมาในหัวเพราะครั้งหนึ่งเคยทำข้อมูลเพื่อจะถ่ายทำเป็นงานสารคดี แต่ก็มีน้องทีมผลิตในพื้นที่ได้ถ่ายทำแล้ว และ “เขาพระอังคาร” จึงเป็นอีกพื้นที่หนึ่งที่อยากไปเรียนรู้ด้วย และที่สำคัญก็คืออยู่ไม่ไกลกันนัก
นอกจาก ๓ แห่งที่คิดว่าอยู่ในพื้นที่ใกล้เคียงกันแล้ว จึงมองหาข้อมูลอื่นที่เกี่ยวกับอารยธรรมของหรือที่น่าเที่ยว น่าเรียนรู้อื่น ๆ อีก ที่ได้คำตอบก็คือ “เขากระโดง” ที่อยู่บนภูเขาสูงต้องเดินขึ้นบันไดไปร่วม ๒๐๐ กว่าขั้น และอยู่ในพื้นที่ติดกับเมืองบุรีรัมย์ ซึ่งอยู่กันคละฟากกับปราสาทเขาพนมรุ้ง แม้พื้นที่นี้จะมีเรื่องราวน่าสนใจและระยะทางที่อยู่กันคนละฟากกัน จึงถูกเก็บไว้เป็นข้อมูลพื้นที่สำรองในการเดินทาง พอ ๆ กับเรื่องนามบอลและสนามแข่งรถบุรีรัมย์ก็ถูกตัดออกเพราะเป็นเรื่องไกลตัวและไม่ได้สนใจเป็นข้อมูลหลักในการเดินทางนัก
จึงสรุปข้อมูลในการเดินทางไว้คร่าว ๆ คือ ปราสาทเขาพนมรุ้ง ปราสาทเมืองต่ำ และวัดเขาพระอังคาร ส่วนปราสาทข้างเคียง เช่น ปราสาทบ้านบุ ที่อยู่ในระแวกเดียวกันก็เก็บไว้เป็นข้อมูลสำรองเช่นเดียวกันหากเวลามีพอคงได้แวะกัน
๐๒. เขาพระอังคาร สถาปัตยกรรมอารยธรรมขอมผสมผสานประวัติศาสตร์แห่งพุทธ
การเดินทางในวันรุ่งขึ้น เริ่มต้นขึ้นแบบครอบครัว มีนักเดินทางร่วมกัน ๖ ชีวิตและมี ๓ ช่วงวัย คือ เด็ก วัยกลางคนและสูงอายุ
ผมเป็นพลขับ ทำหน้าที่อยู่หลังพวงมาลัยด้วยกระบะ แคปเตี้ย การนั่งโดยสารจึงแออัดบ้างตามสภาพรถ
๐๙.๑๕ น. ล้อหมุนจากบ้านตาตา ต.โพธิ์กระสังข์ อ.ขุนหาญ จ.ศรีสะเกษ วิ่งไปทางทิศตะวันตกตามถนนทางหลวงหมายถึง ๒๔ จอดแวะปั้ม ปตท.สังขะและเติมน้ำมันรถ ๕๐๐ ขาไปให้เรียบร้อยแล้วบึ่งตรงไปที่เป้าหมายแรกคือ “เขาพระอังคาร” สาเหตุที่เลือกเป็นสถานที่แรกเพราะอยู่ใกลสุดในบรรดาปราสาทที่ดูข้อมูลมา ด้วยระยะทางตามหน้าปัดของ GPS คือ ๑๗๗ กิโลเมตร และถึงแยกประโคนชัย จังหวัดบุรีรัมย์ ก็ตรงไปอีกราว ๓๐ กม.เป้าหมายก็จะถึง แต่เราเลี้ยวซ้ายเข้าไปตาม GPS บอก เข้าสู่หมู่บ้านเจริญสุข หมู่ที่บ้านที่ขึ้นชื่อกลุ่มผู้ทอผ้าฝ้ายภูอัคนี ทว่าเป้าหมายของเราคือวัดเขาพระอังคาร จึงต้องตรงไปอีก เลยหมู่บ้านเจริญสุขไปเล็กน้อย เราสังเกตเห็นระหว่างทางมองไปข้างหน้า เหมือนเป็นภูเขาสีดำ ตั้งคำถามในใจว่า นั่นคงเป็นวัดที่เราจะไปเป็นแน่ พอขับรถไปเรื่อย ๆ กลับพบเป็นบริษัทที่ทำการแปรสภาพภูเขาเป็นสภาพละเอียดกองไว้เป็นกอง ข้าง ๆ กันพบป้ายชื่อบริษัทที่กระทำการดังกล่าวด้วย ซึ่งคิดเอาเองว่า คงเป็นชื่อบริษัทที่มาสัมปทานภูเขาลูกเหล่านี้เป็นแน่ และขับรถเลยไปเล็กน้อยถึงกับงงกับเส้นทางเพราะเจอทางแยกจะไปทางไหนดี ซ้าย ขวาหรือตรงไป จึงตัดสนใจตรงไปจึงมีป้ายบอกทางให้เห็น
ทางขึ้นเป็นภูเขา ถนนดี สะอาด แต่จะชันสูงขึ้นไปเรื่อย ๆ ต้องขับรถด้วยเกียร์ต่ำ ส่วนสองข้างถนน กลับพบต้นไม้น้อยใหญ่บนภูเขาเหล่านี้มีสภาพที่เหลือแต่ลำต้น หรือมีใบไม้ที่แปรสภาพเป็นสีน้ำตาล หรือแห้งกรอบ ส่วนต้นไผ่ที่เป็นกอ ๆ ก็มีใบเป็นสีเหลืองอ่อน บ่งบอกได้ว่าเป็นฤดูแห่งการผลิใบที่รอวันจะร่วงหล่น คงเป็นฤดูกาลของมัน จากทางตีนเขาสู่บนยอดเขาประมาณราว ๑๐ นาที เรามาถึงวัด ด้วยเวลาหน้าปัดรถแจ้งว่า ๑๑.๕๐ น. เราจอดรถใต้โดมใหญ่ที่มีรถจอดเป็นแถวก่อนแล้วราว ๗-๘ คัน เมื่อจอดรถ ดับเครื่องยนต์ได้ เจ้าหลานน้อยก็ได้เวลาโลดแล่นหลังจากถูกจำกัดพื้นที่อยู่ในกรอบรถอย่างนิ่ง ๆ และใกล้ ๆ กันนั้นเราพบเจอ พระพุทธรูปบางไสยยาท (พระนอน) องค์ใหญ่ จึงนำคณะกราบไหว้ขอพร ก่อนจะขึ้นไปนมัสการพระพุทธรูปที่อยู่ในอุโบสถ
อุโบสถที่พูดถึงนั้น อยู่ติด ๆ กับพระนอน เพียงแต่ต้องเดินขึ้นไปเหมือนว่าอยู่บนภูเขาอีกลูก และรอบ ๆ ตัวอุโบสถนั้นมีพระพุทธรูปปางมารวิชัยจำนวน ๑๐๙ องค์เรียงรายเป็นกำแพงอยู่ด้านนอก มีประตูทั้ง ๔ ทิศ แต่พอก้าวผ่านประตูเข้าไปก็พบเห็นใบเสมาศิลาแลงและเก่าโบราณมาก ที่เป็นปั้นรูปเทวรูปยืนถือดอกบัว ส่วนตัวอุโบสถเองจะมี ๓ ยอด ลดหลั่นกันมา และเท่าที่สังเกตไม่มีใบระกา หางหงส์เฉกเช่นอุโบสถทื่ต่าง ๆ ที่เราเคยพบเจอ หรือเพราะในอดีตการสร้างอุโบสถไม่มีใบระกา หางหงส์หรือเปล่าก็ไม่ทราบได้ ก้าวขึ้นบันไดสู่ด้านในอุโบสถ เราพบเจอช่างกำลังบูรณะปฏิสังขรอยู่ภายใน จึงได้กราบไว้ขอพรพระพุทธรูปปางมารวิขัย และมีภาพวาดพุทธชาดกมีตัวหนังสือภาษาอังกฤษบอกว่าภาพนั้นเป็นเรื่องเกี่ยวกับอะไร โดยไม่มีภาษาไทยประกอบแต่อย่างใด
พอคณะเรากราบไหว้ขอพรภายในแล้วจึงเดินเลียบเลาะอุโบสถไปเจอะมณฑปที่อยู่ห่างไปเพียง ๕๐ เมตร มณฑปที่มีการการปั้นรูปพยานาคเป็นรอบขั้นบันไดขึ้นไป และภายในมณฑปมีพระพุทธรูปโบราณอยู่กายในด้วย และเดินสำรวจรอบ ๆ อ่านข้อมูลประวัติศาสตร์ความเป็นมาที่เป็นป้ายให้เราได้ศึกษา ยังมีพื้นที่จุดชมวิวมองลงมาด้านล่างได้อย่างสวยงาม
และก่อนที่จะไปที่รถ จึงเดินสำรวจสินค้าขึ้นชื่อของชุมชนแห่งนี้ ก็คือ ผ้าฝ้ายภูอัคนีแห่งบ้านเจริญสุขด้วย
เขาพระอังคารแห่งนี้ เดินชื่อว่า เขาลอย แต่ตั้งใหญ่ตามเรื่องราวที่มีการอัญเชิญเถ้าธุลีหรือพระอังคารธาตุของพระพุทธเจ้ามาประดิษฐาน ณ วัดแห่งนี้ ตามเรื่องราวความเป็นมาที่จารึกเอาไว้ นี่
จึงเป็นเพียงจุดแรกที่ผมและครอบครัวมาเรียนรู้ศึกษาประวัติศาสตร์ของที่นี่
๐๓. ปราสาทเขาพนมรุ้ง สถาปัตยกรรมขอมบนยอดเขาที่สูงชัน
เมื่อได้เวลาเชยชมประติมากรรม สถาปัตยกรรมบนวัดเขาพระอังคารพอสมควรแล้ว เราจึงเคลื่อนรถล้อหมุนไปยังหมุดต่อไป เป้าหมายคือ “ปราสาทหินพนมรุ้ง” หรือ “อุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้ง” มรดกอารยธรรมของโบราณอันลือชื่อ โดยเคลื่อนล้อจากหมุดแรกด้วยเวลา ๑๒.๕๒ น. ขากลับจากเขาพระอังคารลงเขา ดูเหมือนถนนจะชันลงมากกว่าก็ไม่รู้ มองสองข้างทางที่เหมือนแค่ต้นไม้ที่แข็ง แต่กลับเห็นสภาพท้องนาในเมืองต่ำแทน คงเพราะสายตาเรามองลงในที่ต่ำเป็นแน่
ตาม GPS อยู่ห่างจากหมุดแรกเพียง ๒๐ กิโลเมตรเท่านั้น ก็ไม่ถือว่าไกลนัก กด GPS แล้วไปตามนั้นเลย
เขาพนมรุ้ง แน่นอนว่าอยู่บนภูเขาเช่นเดียวกับเขาพระอังคาร แต่ชันกว่ากันเยอะ ถนนดีครับ และดีอีกอย่างที่เรามาตอนบ่ายนกว่าแล้ว รถไม่ค่อยมากนักคงเพราะนักท่องเที่ยวคงมาถึงก่อนเราตั้งแต่เช้าเป็นแน่เลย แต่กระนั้นก็ยังมีรถนักท่องเที่ยวให้เห็นไม่ขาดสายเท่าไรนัก จึงเอารถมาจอที่เชิงเขาทางขึ้นปราสาทเขาพนมรุ้ง
แม้ระยะทางจะดูเหมือนใกล้ ๆ กันกับหมุดแรก แต่หนทางที่ชันเป็นภูเขา เรามาถึงด้วยเวลา ๑๔.๐๐ น. พอดี พอจอดจึงพากันเข้าร้านอาหารกันทันที เพราะว่าท้องก็หน้าที่แสดงปฏิกิริยาแล้ว แม่และน้า ๆ เตรียมกระติกใส่ข้าวเหนียวและปลาแดกรวมถึงปลาแห้งที่ห่อมา และมีน้ำดื่มที่กรอกใส่ขวดน้ำอัดลมติดลงมาด้วย นี่ล่ะคือวิถีอีสานของแท้ เมื่อนั่งแล้วก็นั่งตำหมากหุ่ง ตำหมากถั่วอย่างละจาน และซดต้มแซบกระดูกหมู ๑ หม้อมีปลานิลย่าง ๑ ตัว อิ่มอร่อยกับอาหารในราคา ๕๖๐ บาท พออิ่มท้องแล้วจึงปล่อยให้ได้พักผ่อนเคี้ยวหมากพลูเป็นอาหารว่างเป็นของของหวานตามวัย ก่อนจะขึ้นไปยังตัวปราสาท ซึ่งก็มีค่าเข้าชมคนละ ๒๐ บาท ส่วนเด็กและสูงอายุไม่เก็บค่าเข้าชมแต่อย่างใด
ปราสาทหินพนมรุ้ง ตามข้อมูลแล้วเป็นปราสาทหินในกลุ่มราชมรรคา (จักแม่นแปลว่าหยังบ่บุ..!) อยู่บนภูเขาสูงจากพื้นดินราบประมาณ ๒๐๐ เมตร หรือประมาณ ๓๕๐ บาทจากระดับน้ำทะเล ตั้งอยู่บนภูเขาสูง บ้านดอนหนองแหน หมู่ที่ ๒ ต.ตาเป๊ก อ.เฉลิมพระเกียรติ จ.บุรีรัมย์ ซึ่งโดยความหมายแล้วคำว่า “พนมรุ้ง” มาจากภาษาเขมรที่ว่า วนํรุง แปลว่า ภูเขาขนาดใหญ่ นั่นเอง
พอได้ขึ้นไป หลานเจ้าตัวเล็กวัย ๖ ขวบก็ได้แสดงท่าทีสนุกสนานอีกหน วิ่งปนเดินขึ้นเขาอย่างสนุกสนาน เหงื่อโชกแต่ไม่ยอมหยุดสักที สำหรับผมเองเดินถ่ายภาพไปเรื่อย รู้สึกกับความสุขในการมาทุกครั้งไป เหมือนได้มาเติมพลัง เดินรอบดูบรรยากาศและเห็นผู้คนนักท่องเที่ยวก็มากมาย แต่ไม่มีนักท่องเที่ยวชาวจีนให้เห็นเลย คงเพราะโดนโคโรนาไวรัสกักกันเอาไว้
คุณน้าสายทอง สุดสังข์ เล่าให้ฟังขณะที่นั่งแหมะบนโขนหินศิลาแลงที่เป็นปราการกำแพงปราสาทภายในว่า “ไม่เคยมาเลยสักครั้ง ลูก ๆ กับคุณย่าหรือลูกหลานคนอื่น ๆ มากันทุกคนแล้ว ตอนแรกคิดว่าปราสาทคงอยู่กับพื้นดินทั่วไป คงไม่ได้อยู่บนภูเขาสูงอย่างนี้ พอมาเห็นแล้วประทับใจมาก มันคล้าย ๆ กับปราสาทเขาพระวิหารเราเลย น่าทึ่งและประทับใจมาก”
จึงเดินถ่ายภาพและชมไปเรื่อย ๆ อิ่มใจแล้วจึงให้ทุกคนออกมารอที่ป้อมยามด้านหลังปราสาท ผมจึงได้ย้อนลงไปทางขึ้นเหมือนตอนที่มาเพื่อไปเอารถและขับรถมารับที่ป้อมย้อมด้านหลังปราสาท แม้พระอาทิตย์จะดูอ่อนแรงลงมากแล้ว แต่สำหรับวันนี้แดดก็ไม่แรงนักเลย ลมเย็นแต่ด้วยเพราะเดินขึ้นชันมาก แต่ก็อิ่มเอมกับสิ่งที่ได้สัมผัสนั่นเอง
เราได้เคลื่อนล้ออีกหนไปสู่หมุดต่อไปด้วยเวลา ๑๕.๕๐ น.
๐๔. ปราสาทเมืองต่ำ เสมือนหน้าด่านสู่ปราสาทพนมรุ้ง
“ปราสาทเมืองต่ำ” คือเป้าหมายสุดท้ายตามกาลเวลาที่บอกเรามาในการเดินทางครั้ง จากปราสาทเขาพนมรุ้งใช้เวลาประมาณไม่นานนัก ซึ่งมาถึงที่นี่ด้วยเวลา ๑๖.๒๐ น. ซึ่งตาม GPS แล้วบอกว่าห่างกันเพียง ๘ กิโลเมตร แต่ว่าลงจากเขาอ้อมมาทำให้ดูเหมือนกว่าไกลกัน แต่แท้จริงแล้วน่าจะเป็นปราสาทเปิดทางขึ้นสู่ปราสาทเขาพนมรุ้ง ซึ่งปราสาทเมืองต่ำแห่งนี้อยู่บนพื้นที่ราบมีกำแพงเป็นศิลาแลงรอบตัวปราสาทเอาไว้ เราจอดรถแล้วก็บึ่งเข้าไปโดยเสียค่าเข้าชมราคาเดียวกันและรูปแบบเดียวกันครับ
โดยข้อมูลแล้ว ชื่อว่า “ปราสาทเมืองต่ำ” ไม่ได้ชื่อนี้แต่เดิม ซึ่งก็ไม่มีชื่อเดิมปรากฏ ที่เรียกว่า ปราสาทเมืองต่ำ เพราะอยู่ในที่ราบและต่ำกว่าปราสาทพนมรุ้งนั่นเอง แต่จัดว่าเป็นศิลปะการสร้างตามความเชื่อของศาสนาฮินดู เหมือนเช่นปราสาทอื่น ๆ เป็นกลุ่มปราสาทมรรคโค (ความหมายของฮินดู) เป็นศาสนสถาน ศิลปะขอมแบบปาปวน อายุประมาณ พ.ศ. ๑๕๕๑ - ๑๖๓๐ (หรือราวพุทธศตวรรษที่ ๑๖ - ๑๗
ที่แห่งนี้มีความน่าสนใจไม่แพ้ปราสาทเมื่อสักครู่เลย เดินอ้อมรอบตัวปราสาท ถ่ายภาพมุมต่าง ๆ ที่มีสระน้ำอยู่รอบ ๔ ทิศ และรอบสระก็มีบันไดศิลาแลงลงไปในสระ มีรูปปั้นพยานาค ๕ หัวอยู่ประจำทั้ง ๔ สระเลย ตัวปราสาทด้านในงดงามมากเลย มีป้ายติดด้านล่างของแต่ละที่ว่าคืออะไร แต่เรามากันเองข้อมูลต่าง ๆ จึงไม่มีใครคอยแนะนำทำให้ต้องอ่านและศึกษาเอาเองจากข้อมุลที่ติดไว้
ถ่ายภาพมุมต่าง ๆแล้วจึงออกจากบริเวณตัวปราสาทและภายในออกมา ทุกคนเหนื่อยพอสมควรจึงได้นั่งพักเอาแรงด้วยการจับจ่ายซื้อสินค้าในร้านค้าข้างโรงเรียนที่อยู่หน้าปราสาท พอเป็นที่ระลึกและมีสินค้ากลับไปฝากที่บ้าน
พอทุกคนพร้อม เราจึงเคลื่อนล้ออีกหน โดยปลายทางที่บ้านของเรา และมีการแวะพักปั้ม เติมน้ำมันเชื้อเพลงหอยอีกครั้ง ๕๐๐ บาทก่อนถึงบ้านบ้านด้วยเวลา ๒๐.๑๐ น.
๐๕. ปราสาทที่ชวนใหลหลง ในแดนดินอารยธรรมขอม
การเดินทางที่สุดคุ้มค่าด้วยเวลาและความอบอุ่น อิ่มเอมในการเยือนจังหวัดบุรีรัมย์ของผู้ร่วมเดินทางจิตใจของลูกหลานขอม
“ดีใจมากที่ได้มาเห็น เพราะถ้าไม่มาตอนที่มีแรงอยู่ ก็ไม่รู้จะได้มาอีกวันไหนเหมือนกัน ปราทับใจที่สุด อารยธรรมของยังมีให้เราได้รู้ ได้เห็นอีกมากแน่เลย ต่อไปจะไปไหนบ้างอีกต่อดี...”
สายทอง สุดสังข์ คุณน้าหนึ่งในผู้ร่วมเดินทางสรุปการพูดคุย
การเดินทางครั้งนี้ เราอยู่กับการเดินทางและเรียนรู้ ๑๑ ชั่วโมง รวมระยะทางของการเดินทางทั้งสิ้น ๓๖๖ กิโลเมตรด้วยกัน แม้ว่าการเดินทางในครั้งนี้ จะเป็นเฉพาะกิจแต่มันก็อบอุ่นและประทับใจในหลายอย่าง ทำให้รู้ว่าแต่ละพื้นที่มีสิ่งที่น่าเรียนรู้ น่าสนใจอีกมากมายเลย บ้านเราก็มีดีในรูปแบบของเรา บ้านอื่นก็มีดีที่เราอยากรู้อีกนับไม่ถ้วนจริง ๆ โดยเฉพาะเราในฐานะลูกหลานขอม รู้สึกผูกพันและสัมผัสได้ถึงมิติ ความอบอุ่นอยู่กลาย ๆ สุขนี้ในรูปแบบของเรา สุขนี้ที่บ้านเรา บนดินแดนขอมแห่งบุรีรัมย์ประเทศ
#HUGHOUSE
#ฮักเฮา
#สุขนี้ที่บ้านเรา
อาทิตย์ที่ ๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๓
เรื่อง/ ภาพ : ขวัญชิต โพธิ์กระสังข์
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น