ความสำคัญของประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะที่มีพื้นที่ติดกับประเทศไทยเราเอง เป็นเรื่องสำคัญยิ่ง ที่ควรใส่ใจในทุกมิติ เพราะเป็นเรื่องละเอียดอ่อน และหากพูดถึงคำว่าประเทศเพื่อนบ้านขึ้นมาแล้ว คำว่า “พรมแดน” จึงเป็นความหมายที่ต้องอธิบายเพิ่มเติม
พรมแดน ตามความหมายจาก พจนานุกรม ราชบัณฑิตยสถาน ให้ความหมายไว้ว่า [พฺรม] เป็นคำนาม คือ ขีดขั้นเขตแดน แดนต่อแดน คำนี้เป็นคำเขมร (ข. พฺรํแฎน)
ฉะนั้นแล้ว คำนี้ ทั้งไทยและชาวกัมพูชาเอง ใช้เป็นคำเดียวกัน โดยรู้ว่า นี่คือรอยต่อของกันและกันนั่นเอง ที่เอ่ยมาข้างต้น ชวนคิดต่อว่า แค่คำเรายังใช้คำเดียวกัน นั่นแสดงว่าอาจจะยังมีอีกมากมายที่เราใช้ด้วยกัน ปฏิบัติเหมือนกัน อาทิ วิถีชีวิต ความเป็นอยู่ อาหารการกิน วิถี ชาติพันธุ์ การสื่อสาร รวมไปถึงเครือญาติที่เหมือน ๆ กันหรือใกล้เคียงกันนั่นเอง
ด้วยเพราะพรมแดนมีความละเอียดอ่อนอย่างยิ่ง โดยเฉพาะด้านความมั่นคงระหว่างประเทศยิ่งต้องระมัดระวัง หากมีการทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งไปแล้วทำให้อีกฝั่งประเทศไม่สบายใจ หรือผิดกับหลักวิถี ประเพณี หรือผิดระเบียบซึ่งกันและกันที่ส่งผลกระทบต่อกันแล้ว ยิ่งก่อให้เกิดความบาดหวางระหว่างกันได้ แม้จะอยู่ใกล้กัน เพียงสื่อสารกันรู้เรื่องแต่คนละประเทศที่กั้นด้วยพรมแดนคน ยิ่งต้องระวัง
ทว่า หน่วยประสานงานเพื่อความมั่นคง กลับมีหน้าที่หนึ่งที่เป็นหน้าที่หลักเพื่อสานสัมพันธ์อันดีระหว่างกันอยู่อย่างต่อเนื่อง ที่ปฏิบัติหน้าที่บนเทือกเขาพนมดงรัก (พนมดอกแรก) อำเภอภูสิงห์ จังหวัดศรีสะเกษ
วันนี้ (๗ ก.พ. ๖๓) ออกปฏิบัติหน้าที่ โดยมีภารกิจสอนหนังสือและมอบขนมและเครื่องใช้สอยสำหรับนักเรียนบางส่วน ณ โรงเรียนสระชุก ต.ตระเปียงไปร อ.อัลลองเวง จ.อุดรมีชัย ประเทศกัมพูชา ซึ่งอยู่ในแนวตะเข็บชายแดนกัมพูชา – ไทย ห่างจากจุดผ่านแดนถาวรช่องสะงำ อ.ภูสิงห์ จ.ศรีสะเกษ เดินทางด้วยรถยนต์เพียง ๕ นาทีโดยประมาณ
โรงเรียนในประเทศกัมพูชา ทำการเรียนการสอนในแต่ละวันมีสองช่วงเวลา คือช่วงเช้าและช่วงบ่าย โดยจะเรียนแค่ชั้นละช่วงเท่านั้น หากชั้นไหนมีการกำหนดเรียนในช่วงเช้า ก็เรียนช่วงเช้าถึงเที่ยงแล้วเลิกกลับบ้านได้ ส่วนชั้นไหนที่เรียนช่วงบ่ายก็มาเรียนบ่ายถึงเย็น โดยวันนี้ เราได้ติดตามหน่วยเจ้าหน้าที่ฯ มาร่วมสนุกกับนักเรียนในช่วงเช้าโดยมีการทำกิจกรรมสอนภาษาไทยให้กับนักเรียนในชั้น ป.๕ (ทะนะตี ปรัม มวย)
“เราได้ทำกิจกรรมสอนภาษาไทยให้กับนักเรียนโดยให้น้อง ๆ ได้รับความรู้ในด้านการอ่านการเขียนขั้นพื้นฐานจะได้สื่อสารกับคนไทยได้ โดยหน่วยเราได้จัดมาอย่างต่อเนื่องทุกปี ปีนี้ก็เป็นอีกปีที่เราจัดกิจกรรมนี้ และได้นำขนมและอุปกรณ์การเรียนและเครื่องใช้สอยมามอบให้ด้วย” ภัทรวุฒิ โสภานนท์ เจ้าหน้าที่หน่วยประสานงานเพื่อความมั่นคงประจำอำเภอภูสิงห์ จังหวัดศรีสะเกษ เล่าให้ฟัง
โดยในกิจกรรม มีเจ้าหน้าที่ได้มอบความรู้ และพาน้อง ๆ นักเรียนทำกิจกรรมเรียนรู้และวาดภาพระบายสีอย่างสนุกสนานและเป็นกันเอง สร้างความอบอุ่นให้เกิดขึ้นและมิตรภาพระหว่างกันได้เป็นอย่างดี
และด้วยระยะเวลาจำกัด ที่นักเรียนต้องเลิกเรียนทำให้ความสนุกสนานสิ้นสุดลง
“ทางโรงเรียนเรามีนักเรียนจำนวนมาก มีครูผู้ชาย ๑๐ คน ครูผู้หญิง ๑๐ คน เรารู้สึกยินดีเป็นอย่างมากที่ทางไทยเห็นความสำคัญและเอากิจกรรมมาให้ชาวกัมพูชาได้เรียนรู้และสนุกสนานกัน ทางโรงเรียนเราอยู่ติดชายแดนแบบนี้ก็ได้มีกิจกรรมแบบนี้ตลอดซึ่งอบอุ่นมาก สิ่งที่โรงเรียนเรายังขาดอีกมาก โดยเฉพาะเรื่องบริบทพื้นที่คงยังต้องปรับแต่งอีกมากเลย อยากให้มีกิจกรรมแบบนี้บ่อย ๆ เด็ก ๆ ได้สนุกและผ่อนคลายได้มากด้วย” คอย เวือน ผู้อำนวยการโรงเรียนสระชุ กล่าว
แม้ว่าในแต่ละห้องจะมีจำนวนนักเรียนมาก แต่ก็ไม่ใช่ปัญหาในการสอนของที่นี่ ชุดฟอร์มของครูเองก็ไม่ได้ถูกจัดระเบียบว่าต้องมีชุดนั้นชุดนี้ แต่ดูแล้วสะอาดตาเป็นใช้ได้ ส่วนนักเรียนเองเสื้อสีขาว กางเกงและกระโปรงสีน้ำเงินอมดำขายาว เป็นเช่นนี้ทุกวัน
ก่อนจะเลิกกิจกรรม ทางหน่วยประสานงานเพื่อความมั่นคงประจำอำเภอภูสิงห์ ให้กล่าวกับผู้อำนวยการโรงเรียนว่าจะมีกิจกรรมเล่นกีฬากับคณะครูด้วย ซึ่งก็ได้รับการตอนรับและรอกิจกรรมดี ๆ ในครั้งต่อไป และในขณะที่เลิกเรียนเราได้เห็นน้อง ๆ นักเรียนที่ได้รับมอบหมายเป็นชุดดูแลความปลอดภัยในการข้ามถนนของนักเรียน สวมเป็นชุดลำลอง เสื้อจราจรสะท้อนเสียงและมีแผงกั้นมาคอยอำนวยความสะดวกด้วย เป็นภาพที่สัมผัสได้ถึงการจัดการของโรงเรียนชายแดนในการดูแลชีวิตและทรัพย์สินเบื้องต้นด้วย
นี่คงเป็นอีกกิจกรรมน้อย ๆ ที่สร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างสองประเทศ ทำให้รู้ว่าแท้จริงแล้ว มิตรภาพของทั้งสองฝั่งยังเกื้อกูลกันและกัน สร้างสิ่งดีงามให้เกิดระหว่างกัน ซึ่งแม้ระยะเวลาจะไม่มากนัก แต่ก็ได้เห็นแววตาน้อย ๆ ใสซื่อของเด็กนักเรียนชาวกัมพูชาที่ตั้งใจและใส่ใจในการเรียนการสอนครั้งนี้
.
เรื่อง/ ภาพ : ขวัญชิต โพธิ์กระสังข์
.
.
.
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น