วันพุธที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563

"ผักไหม" พลังท้องถิ่นผนึกท้องที่ จัดการเป็นชุมชนน่าอยู่ | HUG HOUSE [สุขนี้ที่บ้านเรา]


"... ชวนผู้นำและชาวบ้าน ผ่านสภาผู้นำชุมชนทำตามความต้องการของชาวบ้านเอง ด้วยสำนึกรักบ้านเกิดของตัวเอง..."
.
แต่ละหมู่บ้านก็สามารถเป็นแหล่งรู้ดูงานของผู้สนใจ
แต่ละถิ่น แต่ละพื้นที่ ล้วนมีเรื่องราว มีสิ่งดีงาม มีวิถีวัฒนธรรม มีปัญหาที่แตกต่างกันออกไป อยู่ที่ชุมชนนั้น ๆ มีการจัดการกับเรื่องราวเหล่านั้นอย่างไร
      บางพื้นที่มีการบริหารจัดการและขับเคลื่อนชุมชนตัวเองจนน่าอยู่ มีกิจกรรมที่ถูกออกแบบโดยคนในชุมชนเองก็มีให้เห็นไม่น้อย ซึ่งที่ตำบลผักไหม อำเภอห้วยทับทัน จังหวัดศรีสะเกษ คือหนึ่งในพื้นที่ที่มีความเข้มแข็งในการบริหารจัดการและขับเคลื่อนชุมชนได้ทั้งตำบล โดยมีท้องถิ่นอย่าง องค์การบริหารส่วนตำบล เป็นหน่วยงานหลักที่มาชวนท้องที่ทั้ง ๑๗ หมู่บ้านขับเคลื่อนไปด้วยกัน ซึ่งมีชื่อว่า “หน่วยจัดการชุมชนน่าอยู่ตำบลผักไหม
     
วิถีวัฒนธรรมแซนโฎนตาเดือนสามของบ้านไทยเชื้อสายเขมรบ้านผักไหมใหญ่
ตำบลผักไหม อยู่ห่างจากตัวอำเภอห้วยทับทันไปทางทิศใต้ประมาณ ๑๕ กิโลเมตร และห่างจากตัวจังหวัดศรีสะเกษไปทางทิศตะวันตกประมาณ ๔๐ กิโลเมตรซึ่งมีพื้นที่ติดกับอำเภอสำโรงทาบจังหวัดสุรินทร์นั่นเอง และที่นี่ประกอบอาชีพเกษตรกรรมเป็นหลัก มีวิถีวัฒนธรรมที่อิงความเป็นพื้นถิ่น ฮิต ๑๒ คอง ๑๔ และความดั้งเดิมแห่งประเพณีที่ปฏิบัติมาช้านาน
      “ตำบลของเรา มีพี่น้องพูดภาษาถิ่นกันหลายภาษา คือ เขมร กูย ลาว และมีภาษาไทยกลางเป็นภาษาราชการ แม้จะคุยกันหลากหลายภาษาแต่เราไม่เคยแตกแยกกัน มีการทำงานร่วมกันโดยเป็นการผนวกท้องถิ่นและท้องที่ทำงานร่วมกัน ซึ่งเราโชคดีที่ได้มีโอกาสทำงานร่วมกับ สสส. สำนัก 6 ที่ทำงานขับเคลื่อนด้านสุขภาพมาตั้งแต่ ปี 2553 เป็นต้นมา จนในปัจจุบันนี้ เราได้มีการขยับขับเคลื่อนไปด้วยกันทั้ง 17 หมู่บ้านเลย โดยมีน้อง ๆ ที่เป็นพนักงานและเจ้าหน้าที่ของ อบต.เรา คอยเป็นพี่เลี้ยง คอยประสานและลงพื้นที่ให้ข้อมูลชวนผู้นำและชาวบ้าน ผ่านสภาผู้นำชุมชนทำตามความต้องการของชาวบ้านเอง ด้วยสำนึกรักบ้านเกิดของตัวเอง” จันทรา หาญสุทธิชัย นายกองค์การบริหารส่วนตำบลผักไหม หญิงแกร่งหัวเรือของหน่วยงานท้องถิ่นที่ทำงานควบกับหน้าที่ “หัวหน้าหน่วยจัดการชุมชนน่าอยู่ตำบลผักไหม” ด้วย เล่าให้ฟังถึงบริบทและการจัดการชุมชนให้น่าอยู่
      พี่เลี้ยงที่เอ่ยถึงคือผู้ประสานงาน คอยกระตุ้นชุมชนที่ตัวเองดูแลและกำกับติดตามงานด้วย ซึ่งพี่เลี้ยงแต่ละคน เลือกที่จะไปประจำการทำหน้าที่ขับเคลื่อนให้กับชุมชนตัวเอง
ครัวเรือนมีการจัดการสวนครัวทีก่ินได้
ได้รับผิดชอบดูแลหมู่บ้านหนองลุงที่ขับเคลื่อนกิจกรรมต่าง ๆ ของชุมชน ซึ่งหน้าที่หลักคือการหนุนเสริมชุมชน โดยในช่วงแรก ๆ คือการพัฒนาศักยภาพในเรื่องความรู้ต่าง ๆ ให้กับชุมชน โดยมีสภาผู้นำชุมชนคอยขับเคลื่อนกิจกรรมต่าง ๆ ถือว่าเป็นการเรียนรู้ไปพร้อม ๆ กัน ซึ่งการขับเคลื่อนร่วมกันกับชุมชนแบบนี้ ไม่ใช่แค่ตอบโจทย์เรื่องสุขภาพอย่างเดียว แต่มันสามารถตอบโจทย์ทั้งด้านสังคมและมิติด้านอื่น ๆ เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงหรือมีผลลัพธ์ที่ดีขึ้นนุสรา มังษะชาติ หญิงสาวตำแหน่งเจ้าหน้าที่ธุรการของ อบต. และบทบาทพี่เลี้ยงวิชาการของชุมชน หนึ่งใน 20 คนที่ทำหน้าที่พี่เลี้ยงคอยหนุนเสริมชุมชนของพื้นที่ตำบลผักไหม
กิจกรรมที่ตำบลผักไหมได้ขับเคลื่อน แม้ว่าโดยหลักจะเป็นงานด้านสุขภาพ อาทิ การลดใช้สารเคมีทางการเกษตร การลดละเลิกแอลกอฮอล์ การปลูกและกินผัก รวมไปถึงงานจัดการด้านสุขภาพของผู้คนในชุมชน ซึ่งดูจะเป็นเรื่องราวพื้นฐานที่ชุมชนอื่น ๆ อาจจะคิดว่าไกลตัว แต่ที่นี่ขับเคลื่อนงานเหล่านี้และสามารถสร้างสภาผู้นำชุมชนให้เข้มแข็ง และต่อยอดไปสู่การคิดกิจกรรม แผนเพื่อพัฒนาชุมชนให้น่าอยู่ได้ด้วยการพูดคุยกันทุกเดือน ที่เรียกว่า “ประชุมสภาผู้นำชุมชน” ในแต่ละเดือนด้วย
ความเป็นระเบียบเกิดจากการเห็นความสำคัญของชุมชน
สิ่งที่ปรากฏชัดและเห็นได้ด้วยตาเมื่อมาสัมผัสคือ ทุกหมู่บ้านในตำบลผักไหมแห่งนี้ จะมีแผนผังผู้นำชุมชน สภาผู้นำชุมชน ป้ายกฎ กติกา ระเบียบข้อบังคับ และข้อตกลง ที่ติดให้เห็นเด่นชัดกลางศาลาประชาคมของแต่ละชุมชน ไม่ว่าจะเป็นข้อตกลงด้านการซื้อ/จำหน่ายแอลกอฮอล์ หรือมาตรการที่ชุมชนร่วมกันออกแบบเพื่อป้องกันผู้ใช้สารเสพติดต่าง ๆ และป้ายมาตรการใช้สารเคมีทางการเกษตร รวมถึงป้ายกิจกรรม รณรงค์ตามวาระและโอกาสที่ชุมชนมีด้วย และในปัจจุบันนี้แต่ละหมู่บ้านก็สามารถเป็นแหล่งเรียนรู้ศึกษาดูงานของกลุ่มต่าง ๆ ด้วยเช่นกัน
และด้วยที่ตำบลผักไหม มีการขับเคลื่อนกิจกรรมที่เกี่ยวกับด้านสุขภาพทุกหมู่บ้าน ทำให้ชุมชนเกิดการตื่นตัวและพัฒนาหมู่บ้านของแต่ละคนให้น่าอยู่ สะอาด เป็นระเบียบเรียบร้อย ที่หน้าบ้านหรือหลังบ้านมักจะมีการปลูกพืชผักสวนครัวกับแทบทุกครัวเรือน อาทิ ผักบุ้ง ผักกาด ผักชี พริก ตะไคร้ โหระพา ถั่วฝักยาว และอื่น ๆ อีกหลากหลายชนิด ซึ่งก็เป็นการจัดการชุมชนให้เห็นถึงการรักษารากเหง้าวิถี และอยู่กับตัวตนความเป็นจริงของตัวเองด้วย โดยไม่ต้องมีการจับจ่ายซื้อของเพื่อประกอบอาหารให้สิ้นเปลืองนัก
แม้ว่าช่วงนี้เป็นช่วงเข้าสู่ฤดูแล้ง สภาพทุ่งนาของหลาย ๆ หมู่บ้านกลับปรากฏให้เห็นพืชในแปลงนาที่กำลังออกดอกงดงาม แทนที่ข้าวที่ถูกเก็บเกี่ยวออกไป ซึ่งมีการส่งเสริมให้ปลูกพืชหลังนา คือ กระเจี๊ยบ และปอเทือง เป็นต้น ซึ่งการปลูกพืชเหล่านี้ไม่เพียงแต่บำรุงสภาพดินแล้วยังเป็นการสร้างรายได้ด้วยการเก็บกระเจี๊ยบขาย หรือนำเมล็ดกระเจี๊ยบออกจำหน่ายได้ด้วย
กระเจี๊ยบคือพืชบำรุงดินและสร้างรายได้ให้ชุมชน
นี่คงเป็นความเข้มแข็งของชุมชนที่มีการวางแผนและมีกระบวนการทำงานที่เป็นขั้นตอนตั้งแต่วิธีคิดและการดำเนินการ ด้วยผลประโยชน์ของผู้คนในชุมชนด้วย
“หลายปีที่ผ่านมา สังเกตเห็นได้ถึงการพัฒนาทั้งวิธีคิดและการดำเนินการของหมู่บ้านต่าง ๆ ที่เขามีสภาผู้นำชุมชนร่วมกันวางแผนและออกแบบกัน หน่วยงาน อบต.เองก็ทำได้แค่หยิบเอาแผนงานที่ชุมชนทำข้อมูลหลักเอาไว้แล้วมาเข้าแผนงานของ อบต. ซึ่งถ้า อบต.ลองทำเป็นไม่ใส่ใจสิ่งที่ชุมชนคิดเอาไว้สิ เป็นเรื่องแน่ เพราะอย่างน้อยที่สุด สภาผู้นำชุมชนของแต่ละหมู่บ้านนั้น ๆ ไม่ยอมแน่นอน” บทสรุปที่ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลผักไหม ได้กล่าวชื่นชมถึงความเข้มแข็งของชุมชน
ซึ่งก็ตรงกันกับที่คุณ ตรีทิพย์นิภา บัวบาน นักวิเคราะห์และบริหารโครงการ สำนักสร้างสรรค์โอกาส สสส. ได้ให้ความเห็นกับหน่วยจัดการชุมชนน่าอยู่ตำบลผักไหมแห่งนี้ว่า “วิธีการทำงานของนายก เป็นกุศโลบายที่ค่อนข้างแยบยลมากเลย ใช้เจ้าหน้าที่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด นายกพัฒนาคนได้ทุกกลุ่ม ตั้งแต่เจ้าหน้าที่ธุรการ ครูศูนย์พัฒนาเด็กก่อนเกณฑ์รวมไปถึงเจ้าหน้าในสำนักงาน เพราะเขาเหล่านี้คือกำลังสำคัญของ อบต.ในการทำงานของพื้นที่ตัวเองต่อไป ซึ่งเห็นความพิเศษของพื้นที่แห่งนี้ คือ เนื่องการการทำงานของภาครัฐนั้นเขาต้องทำงานตามโครงการ แต่สำหรับที่นี่ เขาทำงานจากข้อมูลร่วมกับชุมชนได้เป็นอย่างดี และสามารถสร้างการมีส่วนร่วมให้เข้ากันได้เป็นอย่างดี นี่ล่ะ คือกุศโลบายที่ท่านนายกมี วิสัยทัศน์ที่ท่านนายกมีไม่เหมือนใคร”
นายกอบต.ผักไหม หัวเรือหลักขับเคลื่อนชุมชน
นี่คงเป็นพื้นที่หนึ่งในบรรดาอีกหลายพื้นที่ ที่ท้องที่ทำงานร่วมกับท้องถิ่นและมีสภาฯมาขับเคลื่อนเหมือนกัน เพียงแต่ว่าชุมชนก็คือ สภาผู้นำชุมชน สามารถคิดและวางแผนว่าตัวเองต้องการอะไร จะทำอะไร แบบไหน แล้วเสนอสิ่งเหล่านั้นสู่ท้องถิ่นหรือทำงานเสนอผ่านหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ โดยมีท้องถิ่นหนุนเสริมและเดินไปด้วยกัน และสามารถจัดการชุมชนทั้งตำบลให้น่าอยู่ได้ด้วยกุศโลบายที่ชวนสภาผู้นำแต่ละชุมชนคิดและวางแผนร่วมกัน ด้วยหน่วยงานท้องถิ่นที่เป็นหัวเรือหลักในการขับเคลื่อนที่ชื่อ “หน่วยจัดการชุมชนน่าอยู่ตำบลผักไหม” แห่งนี้
.
เรื่อง/ ภาพ ขวัญชิต โพธิ์กระสังข์

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ทุ่งกะบาลกะไบแห่งเทือกเขาพรมแดนไทย-กัมพูชา พื้นที่เปิดแห่งใหม่เหมาะกับนักเดินทางและนักประวัติศาสตร์

“บุญ” ต้องฟรี วัดไตรสามัคคี’ จ.ศรีสะเกษ ติดป้ายชัดเจน ทำบุญที่นี่ “ฟรี” ไม่เสียตังค์ [มีคลิป]

ที่วัดไตรสามัคคี ต.โดด อ.โพธิ์ศรีสุวรรณ จ.ศรีสะเกษ เป็นวัดท่องเที่ยวเชิงพุทธอีกแห่งของจังหวัดศรีสะเกษ ที่กำลังเป็นที่นิยมในการทำบุญของพุทธศา...