วันอังคารที่ 28 มกราคม พ.ศ. 2563

[มีคลิป] ศรีสะเกษ’ แซนโฎนตา เดือนสามฤกษ์ดีเปิดยุ้งฉาง ประเพณีวิถีเขมร ที่ห้วยทับทัน บ้านผักไหมใหญ่





“แซนเลา คือเราเตรียมกับข้าวคาวหวานมาจุดเรียกบอกกล่าวให้พระแม่โพสพหรือพระแม่ธรณี ผีบรรพบุรุษให้รับรู้ นิยมทำพร้อมกับวันที่เซ่นปู่ตานี่ล่ะ.."


เรื่อง-ภาพ โดย ขวัญชิต โพธิ์กระสังข์

แต่ละบ้าน แต่ละถิ่น แต่ละชุมชน มีสิ่งดีงามและปัญหาที่แตกต่างกันออกไป วิถี ประเพณี ภาษา ชาติพันธุ์ก็คือหนึ่งในสิ่งดีงามเหล่านั้น
ขึ้น 3 ค่ำเดือน 3 ของทุกปี ชาวอีสานมีความเชื่อดั้งเดิมว่าเป็นวันดี ที่เรียกว่า “บุญเบิกฟ้า” หรือเป็นวันที่ฟ้าไข หรือฟ้าเปิดประตูฝนนั่นเอง โดยเชื่อว่า ในเดือนสามนี้ ถือว่าเป็นเดือนที่ฟ้าร้องเป็นครั้งแรกของปี หากมีฟ้าร้องในเดือนสามนี้ แสดงว่าปีนั้น ๆ จะทำนาได้ผลผลิตดีมาก และมีการกำหนดทิศทางของฟ้าที่ร้องไปตามคำทำนายของผู้รู้ ซึ่งสามารถหาข้อมูลเพิ่มเติมได้จากแหล่งเรียนรู้ต่าง ๆ ได้ และในวันดังกล่าวนี้เอง ชาวอีสานเชื่อว่ามีปรากฎการณ์มหัศจรรย์เกิดขึ้น 3 อย่าง สมดังผญาอีสานที่ร้อยเรียงไว้ว่า “ออกใหม่ขึ้น สามค่ำเดือนสาม มื้อที่กบบ่มีปาก นากบ่มีฮูขี่ หมากขามป้อมแสนส่มกะเหล่าหวาน” ซึ่งแปลได้ใจความว่า “กบไม่มีปาก นากไม่มีรูทวาร และมะขามป้อมจะมีรสหวาน” ซึ่งนัยะนั้น คำว่า “กบบ่มีปาก” คือ กบจะมีแผ่นเยื่อขึ้นปิดรูปากกบ วันนั้นกบจะจำศีล ไม่สามารถจับสัตว์อื่นกินเป็นอาหารได้ และ “นากบ่มีฮูขี่” คือ จะมีแผ่นเยื่อเกิดขึ้นปิดทวารหนักของตัวนาก และจะไม่สามาถขับถ่ายได้ในวันนั้น และสุดท้ายคือ “หมากขามป้อม แสนส่มกะเหล่าหวาน” ได้แก่ ปกติของรสมะขามป้อมจะต้องมีรสฝาดอมเปรี้ยว แต่ในวันดังกล่าวนี้จะมีรสหวานอย่างน่าอัศจรรย์

และที่ชุมชนบ้านผักไหมใหญ่ หมู่ที่ 4 ต.ผักไหม อ.ห้วยทับทัน จ.ศรีสะเกษ  เป็นชุมชนที่สื่อสารกันด้วยภาษาถิ่นเขมร ก็มีวิถีและประเพณีที่ดำเนินการในวันดังกล่าวนี้ด้วยเช่นกัน โดยในเช้าของวันนี้ ที่ตรงกับวันจันทร์ที่ 27 มกราคม 2563 ชาวบ้านทุกครัวเรือนต่างถือตะกร้ากับข้าว ที่มีอาหารคาวหวาน ผลไม้ น้ำดื่ม หมากพลู รวมไปถึงไข่ไก่ต้มสุกคนละฟอง และข้าวเปลือกคนละหยิบกำมือหนึ่งใส่ตะกร้ามา ด้วยและมีสิ่งที่ขาดไม่ได้คือ ก้านกล้วยที่ตัดมาเพียงแค่วาหนึ่งมีการปักเสียบด้วยธูปและเทียนอีกหนึ่งคู่ด้วย ต่างมุ่งหน้าสู่ศาลปู่ตาที่อยู่หนองน้ำทิศตะวันออกหมู่บ้าน
    
ศาลปู่ตา ถูกรายล้อมด้วยต้นไม้ใหญ่หลายต้น และต้นไม้ใหญ่และศาลปู่ตาจึงถูกชาวบ้านจับจอองเป็นกลุ่ม เมื่อทุกคนมาถึงก็ต่างวางสัมภาระและนำอาหารคาวหวานต่าง ๆ มาวางเป็นสำรับของใครของเรา รวมถึงนำข้าวเปลือกที่เตรียมมาวางบนใบตองที่ฉีกมาเพื่อรองข้าวเปลือกโดยเฉพาะ แล้วจุดธูปที่ปักบนก้านใบตอง และเทียนอีกคู่หนึ่งที่ถูกจุดและปักไว้บนกับข้าวคาวหวานเหล่านั้น ต่างคนต่างอธิฐานเรียกบอกกล่าวไปยังชื่อปู่ตาและเอ่ยเป็นภาษาถิ่นเขมร ฟังดูในยามนี้แทบจำไม่ได้ศัพท์นัก เพราะเป็นเสียงกึ่งอธิฐานและอวยพรของแต่ละคน ก่อนที่แต่ละคนจะแกะไข่ไก่ต้มที่สุกแล้วมาวางไว้บนฝ่ามือของตัวเองแล้วดู นั่นคือสิ่งที่จะบ่งบอกว่าที่ผ่านมาข้าวปลานาทุ่งอุดมสมบูรณ์มากน้อยเพียงไหน รวมไปถึงสภาพการณ์ฝนฟ้าต่อไปในหน้านี้เป็นอย่างไร และสุขภาพร่างกายของแต่ละครอบครัวจะสุข สบายหรือป่วยไข้ ทุกอย่างล้วนอยู่ในไข่ที่อยู่บนฝ่ามือที่ถูกแกะเปลือกไข่ออกแล้วนั่นเอง

     ไม่นานนักผ่านไปสัก 20-25 นาทีน่าจะได้ ทุกคนต่างเดินทางกลับไปยังบ้านของตัวเอง ทิ้งไว้เพียงอาหารและเสียงไฟที่ปลายเทียนและธูปที่ยังทำหน้าที่ของมันอยู่
     ที่บ้านของคุณยายอินทร์ สมบัติวงค์ วัย 76 ปี ก็ทำเช่นนั้นเช่นกัน หลังจากกลับจากศาลปู่ตาแล้ว ก็มีการเตรียมสำรับอีกหนึ่งที่คล้าย ๆ กัน แต่มีเพิ่มมาคือ มีพานที่ใส่ผ้าไหมหลายผืนสวยงาม วางในสำรับนั้นด้วย

     “แซนเลา คือเราเตรียมากับข้าวคาวหวานมาจุดบอก เรานิยมทำพร้อมกับวันที่เซ่นปู่ตานี่ล่ะ เป็นประเพณีที่ทำมาตั้งแต่บรรพบุรุษแล้ว และมีผ้าไหมมาด้วยก็เป็นการขอขมาต่อพ่อแม่เราด้วย ซึ่งการทำแบบนี้เป็นการบอกกล่าวต่อพระแม่ธรณี พระแม่โพสพ และผีบรรพบุรุษเราด้วย ตั้งแต่เราเก็บเกี่ยวข้าวและนำขึ้นยุ้งฉางเก็บไว้ เราจะไม่สามารถนำข้าวเปลือกออกมาขายหรือสีข้าวเพื่อกินได้ ต้องทำพิธีบอกกล่าวเสียก่อนถึงจะนำออกมาได้ และก็ต้องรอให้ถึงวันนี้ก่อนด้วย” คุณยายอินทร์ เล่าให้ฟังหลังจากที่ทำพิธีกรรมภายในยุ้งฉางเสร็จ
   
  “แซนเลา” หรือภาษาเขมรบางพื้นที่จะเรียกว่า “แซนเติ่ก” ที่แปลว่า เซ่นบอกกล่าวที่เกี่ยวกับยุ้งฉางข้าวนั่นเอง และสำหรับภาษากวยทางโพธิ์กระสังข์ ก็เรียกว่า “เซนเลา” ซึ่งคำว่า “แซน” ในภาษาเขมร กับคำว่า “เซน” ในภาษากวย มีความหมายเดียวกัน ส่วนคำว่า “เลา” นั่นหมายถึง “เล้า” หรือยุ้งฉางข้าวนั่นเอง
นี่คงเป็นอีกพื้นที่หนึ่งที่มีวิถีประเพณี สิ่งดีงาม และควรคู่กับการเรียนรู้และถ่ายทอดเก็บไว้ให้กับลูกหลานหรือผู้สนใจใคร่รู้ได้ไม่น้อยเลย
ซึ่งที่หมู่บ้านนี้ ไม่ได้มีเพียงเรื่องวิถีหรือประเพณีเท่านั้น ยังมีการขับเคลื่อนชุมชนด้วย สภาผู้นำชุมชนหมู่บ้าน ที่มีผู้ใหญ่บ้านเป็นประธานสภาผู้นำชุมชน และมีตัวแทนจากชาวบ้าน จากกลุ่มต่าง ๆ มาร่วมออกแบบทำสิ่งดีงามให้กับบ้านเกิดตัวเอง ซึ่งหลายเรื่องราวถูกออกแบบผ่านสภาผู้นำชุมชน อาทิ การขับเคลื่อนงานด้านการลดละเลิกสารเคมีในนาข้าว การปลูกพืชผักอินทรีย์ไว้กินเอง รวมถึงมีการวางกฎกติกา ระเบียบข้อบังคับของชุมชนที่ชัดเจนที่สุด และที่แห่งนี้ไม่ได้ขับเคลื่อนงานตัวเองเพียงอย่างเดียวแต่ยังเป็นแหล่งเรียนรู้ของผู้ที่มาดูงานไม่ขาดสาย
ที่หมู่บ้านผักไหมใหญ่ หมู่ 4 นี้เป็นเพียงหมู่บ้านหนึ่งใน 17 หมู่บ้านที่ขับเคลื่อนในรูปแบบเดียวกันนี้ทั้งตำบลผักไหมเลย และมีอะไรที่น่าค้นหาไม่น้อยเลย
.















#สุขนี้ที่บ้านเรา
#ฮักเฮาสุขนี้ที่บ้านเรา

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ทุ่งกะบาลกะไบแห่งเทือกเขาพรมแดนไทย-กัมพูชา พื้นที่เปิดแห่งใหม่เหมาะกับนักเดินทางและนักประวัติศาสตร์

“บุญ” ต้องฟรี วัดไตรสามัคคี’ จ.ศรีสะเกษ ติดป้ายชัดเจน ทำบุญที่นี่ “ฟรี” ไม่เสียตังค์ [มีคลิป]

ที่วัดไตรสามัคคี ต.โดด อ.โพธิ์ศรีสุวรรณ จ.ศรีสะเกษ เป็นวัดท่องเที่ยวเชิงพุทธอีกแห่งของจังหวัดศรีสะเกษ ที่กำลังเป็นที่นิยมในการทำบุญของพุทธศา...