คณะสงฆ์และทหารไทย-กัมพูชา
หน่วยงานภาครัฐ เอกชนและประชาชนสองประเทศ ร่วมทำบุญตักบาตรรับปีใหม่สร้างสันติภาพร่วมกันที่ด่านพรมแดนช่องสะงำ-ช่องจวม
เรื่อง-ภาพ โดย ขวัญชิต โพธิ์กระสังข์
ความงดงามของบริบทพื้นที่ที่มีภูเขา
แม่น้ำ ท้องนา เป็นมนต์เสน่หนึ่งของศรีสะเกษ และที่สำคัญมีประวัติศาสตร์ที่น่าศึกษาเรียนรู้มากมาย
ยิ่งพื้นที่อำเภอภูสิงห์ที่มีชายแดนติดกับประเทศพื้นบ้านอย่างกัมพูชาด้วยแล้ว
ย่อมมีเรื่องราวให้น่าสนใจตั้งแต่วิถี ผู้คน มิตรภาพ ภาษาและการเป็นอยู่
หลายอย่างหลายสิ่งมีความเชื่อมโยงกันอย่างตัดขาดไม่ได้ โดยเฉพาะความเป็นเชื้อชาติและผองเผ่าพันธุ์ของกันและกัน
พื้นที่พรมแดนด่านถาวรช่องสะงำ
อำเภอภูสิงห์ จังหวัดศรีสะเกษ ประเทศไทยและด่านถาวรช่องจวม อำเภออัลลองเวง
จังหวัดอุดรมีชัย ประเทศกัมพูชา สองพื้นที่นี้จะว่าไปแล้วก็คือผืนดินที่ต่อเขตกันนั่นเอง
หากไม่มีการขีดเส้นความเป็นเธอและฉันแล้ว มันก็คือถนนสายที่พาดผ่านไปมากันเฉกเช่นถนนทั่วไปนั่นเอง
มันถูกเส้นแดนแห่งประเทศขีดเอาไว้แล้ว ทำให้การเดินทางไปมา ค้าขาย หรือพบปะกัน
ลำบากขึ้นตามอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายของแต่ละประเทศ แต่ทว่าผู้คนเอง
บางครั้งก็คือพี่น้อง ญาติสายโลหิตกันก็มากโข
พื้นที่ดังกล่าว แม้จะถูกกีดกั้นด้วยพนังกั้นและเชือกขึง
หรือโซ่และผู้คนคนละสีเสื้อ หรือภาษาที่สื่อสารกันก็ตาม
แต่การข้ามไปมาจะต้องดำเนินการให้ถูกต้องตามข้อกำหนดการเข้าบ้านเธอบ้านฉัน แต่กระนั้นก็มีการไปมาหาสู่กันได้ตลอดไม่ขาด
“เริ่มแรกก็เป็นการจัดกิจกรรมทางพระพุทธศาสนา
เช่น วันมาฆบูชา วันวิสาขบูชา ซึ่งบางปีมีการจัดกิจกรรมร่วมกันที่ฝั่งไทยทางกัมพูชาก็ข้ามมา และบางปีเราก็จัดที่ทางฝั่งกัมพูชาชาวไทยเราเองก็ลงไปร่วมที่ฝั่งประเทศกัมพูชา ซึ่งก็ทำมาหลายปีติดต่อกันแบบนี้ จึงทำให้ความคุ้นเคยเป็นพี่เป็นน้องกัน ความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันมากขึ้นเป็นลำดับ และจากที่เราได้ทำมานาน ความร่วมมือระหว่างเจ้าหน้าที่ทั้งสองฝ่าย คือ เจ้าหน้าที่ทหารทั้งไทยและกัมพูชาเอง ซึ่งเป็นฝ่ายความมั่นคง เขาก็มีความคุ้นเคยและติดต่อประสานงานด้วยดีมาตลอดเช่นกัน” หลวงพ่อ พระครูโกศลสิกขกิจ
ประธานมูลนิธิหลวงปู่สรวง และเจ้าอาวาสวัดไพรพัฒนา อำเภอภูสิงห์ จังหวัดศรีสะเกษ
ท่านเล่าให้ฟังถึงความเป็นมิตรภาพที่งดงามด้านศาสนาและวัฒนธรรมที่ผ่านมา
ซึ่งในปีนี้ ในวันที่ 9
มกราคม 2563 ที่ผ่านมา ก็มีกิจกรรมทำบุญตักบาตรร่วมกันทั้งสองประเทศเช่นเคย
โดยมีการนิมนต์พระสงฆ์จากทั้งไทยและกัมพูชาจำนวน 67 รูป
และมีการประสานหน่วยงานความมั่นคงจากสองประเทศ รวมถึงหน่วยงานภาครัฐ เอกชน ประชาชน
รวมไปถึงคณะสงฆ์จากทั้งสองฝั่งประเทศร่วมกิจกรรมด้วยเช่นเคย โดยได้จัดในพื้นที่พรมแดน
แบบเปิดประตูไม่มีสิ่งใดกั้นออก ให้ทุกคนได้ร่วมกิจกรรมร่วมกัน นับว่าเป็นสิ่งดีงามระหว่างทั้งสองฝ่าย
โดยมีมูลนิธิหลวงปู่สรวงเป็นแกนประสานหลัก และมีหน่วยงานความมั่นคงจากทั้งสองประเทศเป็นประธานทำกิจกรรมร่วมกัน
“ในปีนี้ก็มีรองแม่ทัพภูมิภาคที่ 4 จากประเทศกัมพูชา
ได้เดินทางมาเป็นประธานทางฝั่งประเทศกัมพูชา แล้วก็มีผู้บัญชาการกองกำลังสุรนารีเป็นประธานฝ่ายประเทศไทย
กิจกรรมนี้ทำให้ทั้งสองประเทศมีความผูกพันกัน
แล้วก็ไปมาหาสู่กัน ทำให้เป็นมิตรภาพที่ดี แล้วก็เกิดสันติภาพขึ้นในภูมิภาคนี้ด้วย”
หลวงพ่อได้กล่าวเสริม
.
.
นอกจากผู้นำเหล่าทัพจากทั้งสองประเทศมาร่วมกิจกรรมแล้ว
เจ้าบ้านอย่างจังหวัดเอง ก็ได้มีรองผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษ และหน่วยงานภาครัฐทุกหน่วยงานมาร่วม
และทางจังหวัดอุดรมีชัยก็มี นายอำเภออัลลองเวง มาร่วมด้วยเช่นกัน
มิตรภาพที่ดีงาม ภราดรภาพพี่น้องสองฝั่งที่เป็นญาติสนิททั้งด้วยสายโลหิตหรือโดยอะไรก็ดี
ได้เพิ่มสันติภาพที่งดงามให้เกิดขึ้นในภูมิภาคนี้แล้ว ก้าวข้ามพรมแดนที่กั้นไว้ด้วยมิติทางศาสนาและวัฒนธรรมที่ได้ดำเนินการมาแล้วหลายปีติดต่อกัน
นี่ครับ ความสุขที่คนในพื้นที่อย่างเรา
ๆ ท่าน ๆต้องการ ที่ไม่มีการกีดกัน ปิดกั้นด้วยสิ่งอื่นใด ภาษา เชื้อชาติ
และความเป็นคนเราเท่ากัน
ฮักเฮา สุขนี้ที่เราต้องการ สุขแบบบ้าน ๆที่ถูกเปิดให้เราได้รักกัน
ฮักเฮา สุขนี้ที่เราต้องการ สุขแบบบ้าน ๆที่ถูกเปิดให้เราได้รักกัน
สุขนี้ที่บ้านเรา
ภาพประกอบ
#ฮักเฮา
#สุขนี้ที่บ้านเรา
#Hug-House
#HugHouse
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น