วันพฤหัสบดีที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2562

น้ำแรกของฤดูกาลทำนาที่ขังในทุ่งนาชาวโพธิ์กระสังข์ | HUG HOUSE [สุขนี้ที่บ้านเรา]


ศรีสะเกษชาวนาตำบลโพธิ์กระสังข์ยิ้มได้บ้าง พายุพัดพาฝนมาสู่เติมทุ่งนา

ช่วงนี้ พายุโซนร้อนโพดุล ทำชาวนาทุกพื้นที่ได้รับน้ำฝนที่แตกต่างกันออกไป
บางพื้นที่ได้รับโดยตรงก็ได้มากถึงมากที่สุด แต่สำหรับชาวตำบลโพธิ์กระสังข์ อำเภอขุนหาญ จังหวัดศรีสะเกษ และตำบลใกล้เคียงนั้น ได้ยิ้มได้ที่ได้รับน้ำ และปรากฏว่ามีน้ำขังในทุ่งนาที่นับว่าเป็นน้ำแรกของทุ่งนาก็ว่าได้ ทำให้นาข้าวหลายแปลงหลายคนส่วนมากที่มีต้นข้าวเหลืองซีดได้กลับมารับน้ำและมีชีวิตขึ้นได้อีกครั้งและภาพที่เห็นในช่วงเช้า ๆ ในช่วงนี้ จะเห็นชาวนาปั่นจักรยานลุยฝนไปนาของตัวเอง เพื่อไปถอนหญ้าบ้างหรือดูสภาพนาของตัวเองตามวิถีชาวนาที่ควรจะเป็น
เพราะชาวนาตำบลโพธิ์กระสังข์และใกล้เคียงละแวกนี้เป็นพื้นที่ทำนาปีเป็นหลักและไม่มีระบบส่งน้ำชลประทาน รอรับน้ำจากธรรมชาติ พายุมาครั้งนี้ชาวนาจึงเหมือนได้ลืมตาอ้าปากได้พอสมควร
รวมถึงพืชผักต่าง ๆ ของชาวบ้านตามสวน ตามครัวเรือนก็ได้มีผลผลิตให้เห็นได้ถนัดตา จำพวก ผักขะ (ผักชะอม) ผักตำนิน(ตำลึง) ผักกะเสก(กระถิน) หมากหุ่ง(มะละกอ)  เป็นต้น

ขวัญชิต โพธิ์กระสังข์ กลุ่มอนุรักษ์วัฒนธรรมกวยตำบลโพธิ์กระสังข์ รายงาน
30 08 62











วันพุธที่ 28 สิงหาคม พ.ศ. 2562

พลังนักสื่อสารรุ่นใหม่ เรียนรู้วิถีกูยปรางค์กู่ | HUG HOUSE [สุขนี้ที่บ้านเรา]


ศรีสะเกษ-นักสื่อสารพลังบวก เรียนรู้ เข้าใจ สร้างพลังการเปลี่ยนแปลงสังคม ในวิถีกูยปรางค์กู่

เมื่อ 27 ส.ค. 62 ที่ผ่านมา สภาวัฒนธรรมตำบลกู่ อำเภอปรางค์กู่ จังหวัดศรีสะเกษร่วมกับภาคีเครือข่าย สภาผู้ชมและผู้ฟังรายการภาคอีสาน (ไทยพีบีเอส) โรงเรียนปรางค์กู่ สภาวัฒนธรรมตำบลกู่ พันธมิตรสุขภาวะ สสส. และมหาวิทยาลัยการกีฬาแห่งประเทศไทย วิทยาเขตศรีสะเกษ จัดกิจกรรม “มัคคุเทศก์ท้องถิ่น-นักสื่อสารพลังบวก” โดยมีนักเรียนและผู้สนใจเข้าร่วมกว่า 100 คน เพื่อให้เกิดความรู้ความเข้าใจการเป็นนักสื่อสาร เป็นนักเล่าเรื่องชุมชนที่ดี ณ ศูนย์เรียนรู้ใกล้บ้านตำบลกู่ 



ในกิจกรรม ได้รับเกียรติจากนายอำเภอปรางค์กู่ (เทเวศน์  มีศรี) มาเป็นประธานเปิดงาน กล่าวให้กำลังใจและให้แง่คิดการเป็นนักสื่อสารชุมชนที่ดี ก่อนจะแบ่งกลุ่มตามฐานการเรียนรู้ ได้แก่ ฐานประวัติศาสตร์ปรางค์กู่ ฐานเรียนรู้สุขภาวะ ฐานภูมิปัญญา ฐานศูนย์รวมวัตถุโบราณชุมชน


ศุภรัตน์  ระยับศรี อายุ 17 ปี ชั้น ม.6/8 โรงเรียนปรางค์กู่ “พวกเราได้มาเรียนรู้การเป็นนักสื่อสาร ซึ่งกลุ่มเราได้มาเรียนรู้ที่วัดบ้านกู่ ได้เห็นยอดของปราสาทปรางค์กู่ที่หักลงมา ทางชุมชนนำมาเก็บไว้ที่นี่เพื่อให้รุ่นต่อไปได้มาศึกษาค้นคว้า แล้วยังมีมณฑปหลวงปู่งาม และยังมีของโบราณมาเก็บไว้เป็น
ศุภรัตน์  ระยับศรี นักเรียนชั้น ม.6 โรงเรียนปรางค์กู่
พิพิธภัณฑ์แห่งนี้ด้วย”


เพ็ญพิชชา ดียิ่ง อายุ 15 ปี “วันนี้ดีใจได้มาเรียนรู้การเป็นนักสื่อสาร ทำให้ได้รู้ว่า ที่บ้านกู่มีอะไรมากมาย ที่ไม่ได้มีแค่ภาษาถิ่นกูย ผ้าไหมหรือแค่ปราสาทปรางค์กู่เท่านั้น
เพ็ญพิชชา  ดียิ่ง ชั้น ม.3 โรงเรียนปรางค์กู่
แต่ยังมีอะไรให้ได้เรียนรู้อีกมากมาย อยากเชิญชวนให้ทุกคนมาเที่ยวมาเรียนรู้ที่นี่ด้วยกันค่ะ” นักเรียนชั้น ม.3 โรงเรียนปรางค์กู่ หนึ่งในกลุ่มที่เข้าร่วมกิจกรรมเล่าถึงสิ่งที่ได้เรียนรู้กล่าวเชิญชวน





เรื่อง-ภาพ โดย ขวัญชิต โพธิ์กระสังข์ กลุ่มอนุรักษ์วัฒนธรรมกวยตำบลโพธิ์กระสังข์ 

























วันพฤหัสบดีที่ 22 สิงหาคม พ.ศ. 2562

ข้อกังวลที่มีคำตอบอยู่ในชุมชน จากกรณีคำถามโรงงานอุตสาหกรรมที่ศรีสะเกษ | HUG HOUSE [สุขนี้ที่บ้านเรา]


ศรีสะเกษ-ชาวโพธิ์กระสังข์จัดเวทีหาคำตอบจากข้อกังวลที่ไม่เคยรับรู้ถึงผลกระทบอันมาจากโรงงานอุตสาหกรรมใกล้พื้นที่

วันนี้ (22 ส.ค. 62) กลุ่มสำนึกรักษ์บ้านเกิดจังหวัดศรีสะเกษ  จัดเวทีให้ข้อมูลเกี่ยวกับผลกระทบ ผลได้ ผลเสีย ที่จะเกิดขึ้นหากมีโรงงานอุตสาหกรรมในพื้นที่ โดยมีนักสิ่งแวดล้อมภาคอีสาน นักกฎหมายด้านสิทธิมนุษยชนและเครือข่ายมาให้ข้อมูล และร่วมแลกเปลี่ยนถึงข้อกังวล ข้อสงสัยที่ชาวบ้านต้องการทราบ ณ ศาลาประชาคมหมู่ที่ 2 บ้านโพธิ์กระสังข์ ตำบลโพธิ์กระสังข์  อำเภอขุนหาญ จังหวัดศรีสะเกษ โดยมีพระสงฆ์ นายกเทศมนตรีตำบลโพธิ์กระสังข์ สมาชิกสภาเทศบาลตำบลโพธิ์กระสังข์  ครู ผู้นำชุมชน เยาวชน เด็กและชาวบ้านจากหมู่ที่ 1 หมู่ 2 หมู่ 7 หมู่ 9 หมู่ 10 หมู่11 หมู่ 12 ร่วม 200 คน แน่นขนัดเต็มศาลาจนต้องยกเต็นท์อีกหลังยื่นออกมาในถนนเพื่อรองรับผู้ร่วมรับฟ้ง ส่วนใหญ่ชาวบ้านที่มาฟังคือชาวบ้านที่ยังไม่เคยได้รับข้อมูลเรื่องโรงงานน้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีวมวล

“ก็ดีใจอย่างมากกับญาติโยมที่มารับความรู้ด้วยกัน ไม่ได้มาเพื่อต่อต้านหรืออย่างอื่นใด อาตมาก็เพิ่งได้มารับรู้ข้อมูลในวันนี้เหมือนกันตั้งแต่ได้ยินข่าวเรื่องนี้มา เรื่องผลกระทบเรื่องควันไม่ต้องคิดอะไรไปไกลเลย สังเกตเพียงชาวบ้านแต้พัฒนา (หมู่ที่ 11) ก็เพียงพอ ใกล้ๆ เพียงแค่นี้เอง เพียงแค่ท่อจากเมรุเผาศพเพียงอันเดียวยังเดือดร้อน ไม่มีการเผาศพบ่อยนักเลย  นานทีถึงจะมีงานศพที แต่ว่าควันจากการเผาศพยังเหม็น เหมือนกลิ่นศพ ผลกระทบเช่นนี้ถามบ้านแต้จะรับรู้ดี แต่สำหรับโรงงานอุตสาหกรรมที่ทำการเผาบ่อยขนาดนี้ เราคิดภาพไม่ออกเลย จึงอยากให้ญาติโยมรับรู้ถึงผลได้ ผลเสียที่จะเกิดขึ้น ไม่ได้ห้ามหรืออย่างอื่นนะ อย่างน้อย ๆ ที่ทุกคนมาก็จะได้รับรู้จากผู้ที่มีประสบการณ์นำมาแลกเปลี่ยนกัน ทำให้เราได้มองภาพออก หรือจะรับหรือไม่เป็นต้น ถือว่าเป็นสิ่งดีที่มีผู้มาให้ข้อมูลกับพวกเรา” ส่วนหนึ่งจากหลวงพ่อ พระครูสังวรวุฒิคุณ เจ้าอาวาสวัดไตรราษฎร์สามัคคี ที่มีพื้นที่อยู่ในเขตตำบลโพธิ์กระสังข์ ผู้เข้าร่วมรับฟังในครั้งนี้ กล่าวกึ่งหยิบแง่คิดมาเล่าแลกเปลี่ยนกัน

“หลาย ๆ ท่านคงทราบดีเรื่องผลกระทบฯ วันนี้ กระผมเองหวังว่า ท่านที่มาร่วมฟังวิทยากร ขอวิงวอนให้ช่วยกันจริง ๆ ที่จะให้ประสบความสำเร็จเพื่อลูกหลานเราต่อไป ขอบคุณมากครับ” นายสุบิน  งอนสวัน นายกเทศมนตรีเทศบาลตำบลโพธิ์กระสังข์ กล่าวในการพบปะกับชาวบ้าน

ซึ่งจากการพูดคุย ร่วมแลกเปลี่ยนกันแล้ว ชาวบ้านมีมติอยากให้มีเวทีเช่นนี้อีกทั้ง 14 หมู่บ้านในเขตตำบลโพธิ์กระสังข์ หรือรวมกันในครั้งเดียวแต่รวมชาวบ้านทั้ง 14 หมู่บ้าน แล้วจัดทำเป็นแผนร่วมกัน รวมถึงจะมีการขยายเวทีเช่นนี้ออกไปในวงกว้างในตำบลใกล้เคียงที่ได้รับผลกระทบเช่นกัน

และก่อนที่จะจบเวทีแลกเปลี่ยน เสนอแนะข้อกังวลกันนั้น หลวงพ่อฯ ได้กล่าวสรุปเป็นภาษาถิ่นกวยโพธิ์กระสังข์ ได้ใจความว่า “พี่น้องเราทั้งหลาย ถึงจะอย่างไรก็ตาม ไม่อยากให้เราใช้เรื่องพวกนี้ไปทะเลาะกันเองในครอบครัวหรือชุมชน แต่เราควรพูดเพื่อให้เกิดประโยชน์ร่วมกัน ไม่ควรพูดแล้วขัดแย้งกันเอง ซึ่งเราควรเอ่ยถึงประโยชน์และโทษของมันในอนาคต และควรมองให้ไกลถึงอนาคตลูกหลานเราเองด้วย”


ขวัญชิต โพธิ์กระสังข์ กลุ่มอนุรักษ์วัฒนธรรมกวยตำบลโพธิ์กระสังข์ รายงานจากศาลากลางหมู่บ้านโพธิ์กระสังข์ หมู่ที่ 2


ลิงค์ประกอบ : 

วันจันทร์ที่ 19 สิงหาคม พ.ศ. 2562

สร้างนักยุววิจัยไทบ้านขุนหาญ เรียนรู้ สืบเสาะหาของดีที่บ้านเรา | HUG HOUSE [สุขนี้ที่บ้านเรา]


ศรีสะเกษ :  สร้างองค์ความรู้เป็นนักยุววิจัยไทบ้านให้นักเรียนร่วม 100 คน ในเขตอำเภอขุนหาญ ได้รู้การเรียนแบบลงมือปฏิบัติจริงกับพื้นที่จริงและใช้ได้จริง

[ มีคลิป ] เมื่อวันที่ 17-18 สิงหาคม ที่ผ่านมา ที่โรงเรียนบ้านพยอม อำเภอขุนหาญ จังหวัดศรีสะเกษ ตัวแทนนักเรียนในเขตอำเภอขุนหาญ ร่วมกับชุมชนในเขตตำบลโพธิ์กระสังข์ ร่วม 100 คน มีการทำกิจกรรมศึกษา เก็บข้อมูล วิเคราะห์และนำเสนอสิ่งที่ลงพื้นที่ไปเก็บมานั้นนำมาแลกเปลี่ยนกัน โดยลงพื้นที่ในเขตพื้นที่อำเภอขุนหาญ หรือเรียกสิ่งนี้ว่า “วิจัยไทบ้าน” แต่ในการทำในรูปแบบของนักเรียนจะเรียกว่า “ยุววิจัยไทบ้าน” 


“งานวิจัยไทบ้านนี้ มีอาจารย์จากมหาวิทยาลัยมหาสารคามมาให้ข้อมูล ความรู้กับชาวบ้าน คุณครูเห็นว่าเป็นเรื่องใหม่จึงอยากให้นักเรียนได้เรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ จึงได้ชักชวนขอความสมัครใจกับนักเรียนที่สนใจมา ซึ่งเป็นนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายมาฝึกกระบวนการเก็บข้อมูลเพื่อจะได้รู้ว่าในพื้นที่อำเภอขุนหาญเรานั้น มีของดี สิ่งดีงามอะไรบ้าง มีคุณค่าอะไรบ้าง”
ลัดดา เลิศศรี ครูโรงเรียนกันทรอมวิทยาคม สังกัดองค์การบริหารส่วนจังหวัดศรีสะเกษ เล่าให้ฟังถึงสิ่งดี ๆ ที่นักเรียนจะได้เรียนรู้ผ่านการปฏิบัติลงมือทำจริง

“สิ่งที่ได้ เกินความคาดหวังเลย สังเกตเห็นเด็ก ๆ สนใจและสนุกกับการเรียนรู้และบางคนได้คำศัพท์พื้นถิ่นใหม่ ๆ ไปด้วย ทั้งนี้ทั้งนั้นได้เห็นความสัมพันธ์ของผู้ปกครองที่ให้ข้อมูลกับเด็กแบบเอ็นดูด้วย ซึ่งนอกจากเด็กจะได้ความรู้แล้ว ยังได้ความรักไป ผู้เฒ่าผู้แก่ยังได้ความหวังกลับคืนมา นี่ล่ะคือข้อมูลที่ทำให้เรารู้ว่าบ้านเรามีอะไรดีที่อยู่ในมือ ทำให้เราสามารถปกป้องสิ่งดี ๆ ได้ ถ้าเราไม่ทำแบบนี้เราจะรู้ได้อย่างไรว่าบ้านเรามีดีอะไรบ้าง” คุณครูฯ กล่าวทิ้งท้าย

      ในกิจกรรมครั้งนี้ ไม่เพียงแค่รับองค์ความรู้เท่านั้น แต่ทำให้ได้คิดและวิเคราห์กับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจริงในการเรียนรู้นอกห้องเรียน

“เคยร่วมกิจกรรมการสำรวจแบบนี้ เมื่อตอนประถม แต่ขึ้นมัธยมมาไม่ค่อยได้สำรวจแบบนี้เลย จึงได้ทักษะจากประถมมาใช้ในครั้งนี้ สนุกมากและได้รู้คำใหม่ ๆ เยอะเลย เพราะที่บ้านก็ไม่มีแล้ว แต่ถ้าให้ดี ควรจำกัดเวลาให้ชัดเจนจะไม่เหนื่อยมาก และจากการได้สำรวจก็ได้รู้ว่าพื้นที่ใกล้ ๆ แถบนี้เขาว่าจะมีการสร้างโรงงานน้ำตาลและโรงไฟฟ้าด้วย แล้วของที่พวกเราสำรวจไปจะหมดไปด้วยไหม...!” พรกนก สมรัตน์ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนกันทรอมวิทยาคม เล่าให้ฟังถึงประสบการณ์ที่ได้รับ

“เพื่อน ๆ จากโรงเรียนเราที่สมัครใจมาน่าจะถึง 40 คนนะ ได้โจทย์ลงพื้นที่สำรวจสัตว์น้ำที่กินได้ แต่แถวนี้ไม่มีน้ำแล้ว เจอแต่หอยที่ตายแล้ว แปลกเนาะขนาดหน้าฝนยังไม่มีน้ำ จึงได้ถ่ายรูปแล้วถามข้อมูลจากคนในชุมชนเอาไว้ ที่บ้านพูดภาษาไทอีสาน (ลาว) สิ่งที่ได้คือคำศัพท์ภาษาถิ่นทั้งเขมรและส่วย(กูย,กวย) และได้เพื่อนจากต่างโรงเรียนด้วย” จนิตา สมรัตน์ นักเรียนจากโรงเรียนขุนหาญวิทยาสรรค์ กล่าว

(ขอบคุณภาพจาก fb:/คริสเตียโน่ โฟโต้)

โดย ขวัญชิต  โพธิ์กระสังข์ 

20 ส.ค. 2562


ลิงค์ประกอบ : https://www.youtube.com/watch?v=mLGW4kY2Zu8&list=PLcx0VcPxAS-ZGypKOmUw1w5XB1RaY4UPX&index=25&t=0s



ภาพประกอบ





















ทุ่งกะบาลกะไบแห่งเทือกเขาพรมแดนไทย-กัมพูชา พื้นที่เปิดแห่งใหม่เหมาะกับนักเดินทางและนักประวัติศาสตร์

“บุญ” ต้องฟรี วัดไตรสามัคคี’ จ.ศรีสะเกษ ติดป้ายชัดเจน ทำบุญที่นี่ “ฟรี” ไม่เสียตังค์ [มีคลิป]

ที่วัดไตรสามัคคี ต.โดด อ.โพธิ์ศรีสุวรรณ จ.ศรีสะเกษ เป็นวัดท่องเที่ยวเชิงพุทธอีกแห่งของจังหวัดศรีสะเกษ ที่กำลังเป็นที่นิยมในการทำบุญของพุทธศา...