วันเสาร์ที่ 2 กันยายน พ.ศ. 2566
เราเป็นกวย,กูย,ซูย,เยอ หรือใคร แล้วทำไมล่ะ
ก่อนแลกเปลี่ยน ออกตัวก่อนว่าตัวเองคือ กอนกวย และเป็นกอนกวยซะเกด โดยกำเนิดครับ และด้วยความเป็นกลุ่มชนที่มีภาษาเฉพาะ ทางรัฐไทยจะใช้เรียกคำว่า “ชนเผ่า” ที่มาจากคำว่า “เผ่าพันธุ์” บ้าง “ชาติพันธุ์”บ้าง ซึ่งเรื่องนี้ โดยส่วนตัวก็ไม่รู้จะใช้เรียกคำไหน เพราะตั้งแต่เด็กมักได้ยินคำว่า “เผ่าเขมร เผ่าเยอ เผ่าลาว และรวมถึงคำว่า เผ่าส่วย” บ้าง พอปัจจุบันได้ยินคำว่า “ชาติพันธุ์” บ่อยขึ้น ซึ่งในหลักวิชาหรือหลักสูตรการเรียนการสอน โดยเฉพาะจังหวัดที่มีความเป็นเฉพาะเรื่องพวกนี้ ก็ไม่ได้มีนักวิชาการหรือมหาวิทยาลัยไหนให้ความสำคัญ ที่พอจะออกแบบเข้าสู่สถานศึกษาให้ได้รู้จักตัวตนตัวเองเลยสักหน่อย กลับหยิบเอาวิชาหรือหลักสูตรที่ว่าด้วยเรื่องจากส่วนกลาง (ภาคกลาง) ไปทั้งสิ้น ทั้งที่ตัวเองไม่ได้รู้จักเลยว่าตัวเองมีอะไรดี มีอะไรเด่น มีความเป็นมาอย่างไร รวมถึงความเป็นภาษาของรากเหง้าตัวเอง
คำว่า “ส่วย” ก็เลยรับวัฒนธรรมจากคนของรัฐไทย ภาครัฐราชการสั่งการหรือเรียกขานว่า “ส่วย” มาตั้งแต่มีการกดทับไม่ให้ความเป็นกวย,กูย,เยอ,รวมถึงกลุ่มต่าง ๆ ที่มีตัวตนเหมือนกับพวกเราได้ลืมตาอ้าปาก
เกริ่นมาซะยาว ขอเข้าเรื่องเลยล่ะกัน
1. การอนุรักษ์ภาษา ด้วยคำพูด คงหมายรวมถึงการฟื้นฟู อนุรักษ์และสืบสาน เนาะครับ หากจะมองว่าแค่การสื่อสารกับลูกหลานตามบ้านเรือนต่าง ๆ นั้น คงดีไม่น้อย แต่ทว่าโลกที่เปลี่ยนไปเร็ว ต้องย้อนกลับไปดูก่อนว่า ปัจจุบันนี้แต่ละชุมชนยังมีการพูดกับลูกหลานด้วยภาษาถิ่นตัวเองสักกี่มากน้อย มีกี่เปอร์เซ็นต์หรือกี่ครอบครัวกันหนอ นี่คงเป็นการเริ่มต้นจากตัวเองก่อนที่อยากจะสืบสานด้วยการสื่อสารเนาะ แต่ถ้าจะมองให้กว้างกว่านี้อีกหน่อยคือมองไปรอบกายว่า จะทำอย่างไร ถึงจะมีการสื่อสารในวงกว้างขึ้น ให้ครอบครัวอื่นเห็นความสำคัญ แล้วเราเป็นใครจะไปบอกหรือไปแนะนำให้เขาสนใจขนาดนั้น หรือมองกว้างขึ้นมาอีกนิดทำอย่างไร ถึงจะให้องค์กรหน่วยงานในพื้นที่และที่เกี่ยวข้องให้ความสำคัญกับเรื่องภาษาในมุมและมิติต่าง ๆ เช่น หยิบมาทำการเรียนการสอน หรือหยิบมาเล่าบอกผ่านวิชาเรียน ผ่านกิจกรรมต่าง ๆ ผ่านหนังสือ โดยท้องถิ่นและท้องที่ให้ความสำคัญจริงๆ ร่วมกัน
ทั้งหมดเรื่องการใช้ภาษาถิ่นตัวเอง เริ่มแรกคงง่ายที่สุดที่ตัวเราเองที่อยากจะให้ความสำคัญกับภาษาถิ่นตัวเองเป็นดีที่สุด แต่หากจะคาดหวังหรืออยากให้คนอื่นเขาเห็นความสำคัญก็ยากไม่น้อย เพราะต้องมองว่าตัวเองจะมีอำนาจหรือบทบาทอะไรไปบอกไปสั่งการใครให้ทำอย่างที่เราคิดนั่นเอง เว้นเสียแต่ว่าคนที่คิดแบบนั้นมีบทบาทและหน้าที่ทางท้องถิ่น ท้องที่หรือเป็นผู้บริหารพื้นที่
2. ความเป็นตัวตน กวย,กูย,ซูย,เยอ โดยส่วนตัวเรื่องนี้ หากเป็นเมื่อก่อนย้อนหลังไปสัก 15 ปี ประสาคนบ้านนอก มักมองว่า เราคือขี้ข้า คือทาส ที่ยอมรับรัฐไทยภายใต้รัฐราชการยัดเยียดให้เรียกตัวเองว่า “ส่วย” แม้ว่าเรามีนักวิชาการที่เป็นตัวตนกวย,กูย,ซูย,เยอ ไม่น้อย แต่นักวิชาการเหล่านั้นก็ไม่กล้าอ้าปากดัง คงเพราะอยู่ภายใต้กรอบเงินเดือนที่ได้รับ เลยไม่กล้าหายใจแรง เกรงถูกมองว่านอกคอกเป็นแน่
ในยุคนี้ พอได้ออกไปนอกบ้านได้เห็นอะไรมากขึ้นไม่น้อย เลยรู้สึกว่า ตัวเองก็ยังเป็นกวยเช่นเคย และคำว่า “ส่วย” ก็ยังถูกนักวิชาการในพื้นที่เรียกแบบไม่เขินอายเช่นเคย เพียงแต่เข้าใจมากขึ้นไม่น้อย
กวย,กูย,ซูย,เยอ เป็นใคร แยกออกก่อนว่า กวยกับกูย คือแบบเดียวกัน แตกต่างกันเพียงสำเนียงพูดที่สื่อสาร ส่วนจะเรียกตัวเองว่ากวยหรือกูยหรือซูย คงเป็นประวัติศาสตร์ของแต่ละพื้นที่ไป และโดยส่วนตัวไม่รู้ว่าข้อมูลที่นักวิชาการเอ่ยถึงคำว่า “กูยมะไฮ” กับ “กูยมะโลและกูยมะลัว” 2-3 คำนี้ แปลว่าอะไร และหมายถึงอะไร เพราะโดยส่วนตัวได้ยินคนเอ่ยถึงมาตลอดและพอสืบค้นดู ก็มักจะเจอตลอด แต่ก็ไม่สามารถหาคำตอบต่อไปอีกว่า มันหมายถึงอะไร
ซึ่งส่วนตัว จะขอแยกความเป็นกวย,กูย ออกเป็น 3 ประเภท ตามอาชีพ คือ 1)กวยอาเจียง อันได้แก่ กวยที่มีการเลี้ยงช้างเป็นหลัก 2) กวยตำต๊ะอ์ ได้แก่ กวยที่ประกอบอาชีพตีเหล็ก ปัจจุบันมีให้เห็นไม่มากนักแล้ว และ 3) กวยวอแธร ได้แก่ กวยที่ทำเกษตร ผมเองจะเรียกตัวเองว่า กวยวอแธร คือกวยที่ทำนาทำสวนทำไร่ทางการเกษตร
และ กวยและกูย แตกต่างกันที่สำเนียงที่สื่อสารกัน เช่น มะพร้าว กวยเรียกตูง กูยเรียกโตง เป็นต้น ส่วนคำอื่นอาจจะเปลี่ยนแปลงไปบ้าง
ซูย คำนี้ ผมเองเคยคิดว่า เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่เพี้ยนมาจากคำว่า กวยหรือกูย ความคิดเช่นกับผู้รู้หรือคนอื่น ๆ ที่คิดไว้ แต่ก็ไม่ได้มองว่าผิด เพราะท้ายที่สุดแล้ว ความเป็นตัวตนและมีประวัติศาสตร์ของตัวเอง เรียกว่าว่า ตัวเองคือ กวยซูย หรือกูยซูย นั่นก็คือเสน่ห์ของแต่ละพื้นที่ไป ไม่ได้ไปมองว่าผิดหรือไม่มีแต่อย่างใด อย่างน้อย ๆ ไม่ว่าจะกวย,กูยหรือซูย นั้น หากศึกษาประวัติศาสตร์จริงๆ อยู่ที่เราจะบอกว่าเรามีที่มาจากไหน แค่ไหน อย่างไร แต่โดยส่วนตัวแล้ว ก็เคยย้อนศึกษาประวัติศาสตร์ตัวเองบ้าง แต่อยากให้ความสำคัญกับปัจจุบันมากกว่าอดีตว่าเป็นมาอย่างไร ทำอย่างไรเราจะรักษารากเหง้า ณ ปัจจุบันให้คงอยู่นานที่สุดเท่านั้น
ส่วนสุดท้าย คำว่า “เยอ” คำนี้ หลายคนคิดว่า คงมาจากกลุ่ม กวย,กูย แต่ตามประวัติศาสตร์นั้น “เยอ” เองก็มีที่มาของตัวเองเฉพาะ ไม่ได้มีประวัติศาสตร์มาจากกวย,กูยแต่อย่างใด ฉะนั้นแล้ว โดยส่วนตัว คิดว่า ไม่ว่าใครจะมาจากไหน โดยเฉพาะกลุ่ม “เยอ” เอง ล้วนมีตัวตนเฉพาะส่วนตัว เราควรให้เกียรติกันและกัน แม้ว่าจะมีสำเนียงภาษาการสื่อสารที่ใกล้เคียงกัน คงพอกันกับกลุ่ม “โซ่” “กะเลิง” “ฌอง” “บรู” และอีกไม่น้อยที่มีสำเนียงใกล้เคียงกับกวย,กูยเรา
ทั้งหมดที่เอ่ยมา ล้วนแต่เป็นความคิด ทัศนะส่วนตัวเท่านั้น ไม่ได้มองว่าถูกทั้งหมดหรือผิดทั้งหมด ยินดีหากมีท่านใดแลกเปลี่ยน น้อยรับฟังร่วมกัน และโดยส่วนตัวก็ยังมองว่า เราทำตัวเองให้ดีก็พอ ไม่ได้มองว่าใครจะต้องเหมือนตัวเองหรือไปเหมือนใคร และแต่ละบ้านล้วนมีเสน่ห์มีเรื่องราวของตัวเอง
ขวัญชิต โพธิ์กระสังข์
3 กันยายน 2566
ลิงก์ประกอบ
วิกีพีเดีย สารานุกรมเสรี คำว่า “ชาวกูย” : https://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%8A%E0%B8%B2%E0%B8%A7%E0%B8%81%E0%B8%B9%E0%B8%A2
ฐานข้อมูลชาติพันธุ์ กูย โดย ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)
https://ethnicity.sac.or.th/database-ethnic/161
ภาพยนตร์ “กอนกวย ส่วยไม่ลืมชาติ” :
https://www.youtube.com/watch?v=Amjz1BPIXzc
สารคดี “สะเองกวย” ทาง ไทยพีบีเอส :
https://www.youtube.com/watch?v=FHtdKY38M6M&t=620s
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ทุ่งกะบาลกะไบแห่งเทือกเขาพรมแดนไทย-กัมพูชา พื้นที่เปิดแห่งใหม่เหมาะกับนักเดินทางและนักประวัติศาสตร์
“บุญ” ต้องฟรี วัดไตรสามัคคี’ จ.ศรีสะเกษ ติดป้ายชัดเจน ทำบุญที่นี่ “ฟรี” ไม่เสียตังค์ [มีคลิป]
ที่วัดไตรสามัคคี ต.โดด อ.โพธิ์ศรีสุวรรณ จ.ศรีสะเกษ เป็นวัดท่องเที่ยวเชิงพุทธอีกแห่งของจังหวัดศรีสะเกษ ที่กำลังเป็นที่นิยมในการทำบุญของพุทธศา...
-
"เฉพาะกิจทีม" ในนามรวมทีมคนรักกีฬาวัย 35+ จากตำบลโพธิ์กระสังข์ อ.ขุนหาญ จ.ศรีสะเกษ ร่วมสนามเป็นคู่พิเศษกับทีม "ปกครองสำโรงพล...
-
ที่วัดไตรสามัคคี ต.โดด อ.โพธิ์ศรีสุวรรณ จ.ศรีสะเกษ เป็นวัดท่องเที่ยวเชิงพุทธอีกแห่งของจังหวัดศรีสะเกษ ที่กำลังเป็นที่นิยมในการทำบุญของพุทธศา...
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น