วันจันทร์ที่ 28 มีนาคม พ.ศ. 2565
สืบสาน “บุญเดือนสี่” วิถีกวย
สืบสาน “บุญเดือนสี่” วิถีกวย
“เทศน์มหาชาติ” คือคำเรียกขานของงานบุญเดือนสี่ ที่เป็น 1 ในฮีต 12 คอง 14 ของอีสาน หรือที่เรียกว่า “บุญผะเหวด เทศน์มหาชาติ” นั่นเอง ซึ่งที่ชุมชนชาวกวยสังกัดวัดไตรราษฎร์สามัคคี อำเภอขุนหาญ จังหวัดศรีสะเกษ ยังคงสืบสานเอาไว้ให้คงอยู่คู่ชุมชน แม้ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด 19 ก็ตาม
ตั้งแต่เกิดการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา 2019 ทำให้การสืบสานประเพณีวิถีวัฒนธรรมห่างหายไป โดยเฉพาะงานบุญเดือนสี่ที่ชาวชุมชนต่างให้ความสำคัญ ให้ความร่วมมือ ช่วยกันประดับประดาและร่วมสืบสานด้วยการฟังเทศน์มหาชาติเช่นทุกปี ถูกระงับไปด้วยตามมาตรการของรัฐที่ผ่านมาเช่นกัน
และในปี 2565 นี้ ไวรัสโคโรนา 2019 ก็ยังคงมีอยู่ในทุกพื้นที่ รวมไปถึงในพื้นที่ตำบลโพธิ์กระสังข์ด้วยเช่นกัน แต่เพื่อเป็นการรักษาไว้ คงไว้ สืบสานไว้ซึ่งสิ่งดีงาม จึงมีการประชุมกันขึ้นเพื่อหาแนวทางเรื่องนี้
พระครูสังวรวุฒิคุณ เจ้าอาวาสวัดไตรราษฎร์สามัคคี เล่าให้ฟังว่า แม้สถานการณ์โควิด-19 จะมีอยู่ ซึ่งก็ไม่ได้มีเฉพาะพื้นที่เรา มีทุกพื้นที่ เราก็ต้องช่วยกันปฏิบัติตามมาตรการของรัฐด้วย ในขณะเดียวกันเพื่อเป็นการสืบสานที่เราเคยทำมาตลอด ก็ต้องรักษาไว้เช่นกัน ซึ่งเราไม่ได้จัดงานบุญเดือนสี่มาตั้งแต่เกิดโควิด-19แล้ว ถึงอย่างไร ก็ควรจัดเอาไว้ให้คงอยู่ตามความเป็นไปได้ และช่วยกันรักษาและปฏิบัติตามระเบียบของทางภาครัฐด้วยดี
ธีรพล แก้วลอย คณะกรรมการดำเนินงาน เล่าให้ฟังว่า บุญประเพณีในครั้งนี้ ชุมชนจะเหนื่อยกว่าเดิม ด้วยว่า โควิด-19 ทำให้คณะทำงานบางคนต้องกักตัว และการทำงานที่ต้องระวังและดูแลกันมากขึ้นด้วย การเตรียมงานต่าง ๆ เลยมีการเตรียมการล่วงหน้า 1-2 สัปดาห์ รวมถึงต้องมีการวางแผนล่วงหน้าในเหตุการณ์ต่าง ๆ พอสมควรเพื่อให้งานสำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดี ซึ่งก็ได้รับความร่วมมือจากทุกฝ่าย ทุกคนด้วยดีเช่นกัน
และในกำหนดวันจัดงานบุญประเพณีนี้ ได้ดำเนินการในวันที่ 23 – 25 มีนาคม 2565 โดยมีการสมมุติเขาวงกตขึ้นที่หนองผือ ทิศตะวันออกของหมู่บ้านซำ และนครสีพีเป็นวัดไตรราษฎร์สามัคคี รวมถึงมีการฟังเทศน์มหาชาติตลอดทั้งวัน โดยมีการนิมนต์พระนักเทศน์ทำนองอีสาน เป็นการเทศน์มหาชาติ 3 ธรรมาสน์จากจังหวัดอุบลราชธานี ได้แก่ พระครูมงคลชยากร เจ้าอาวาสวัดมงคลสวรรค์ อำเภอศรีเมืองใหม่ พระอธิการสีนวล ปิยสีโล เจ้าอาวาสวัดห้วยฝ้าย อำเภอตระการพืชผล และพระอธิการสายัน วิสารโท เจ้าอาวาสวัดห้วยหวาย อำเภอตระการพืชผล หลวงพ่อทั้งสามรูปเมตตาเทศน์ให้สาระกับสาธุชนที่มาร่วมฟังตลอดวัน และมีการทำบุญตักบาตรในวันรุ่งเช้าอีกวันที่ 25 เป็นการเสร็จการสืบสานงานบุญประเพณีของชุมชนวัดไตรรราษฎร์สามัคคี ประจำปี 2565
การสืบสานวิถีวัฒนธรรม ประเพณีของชุมชนเป็นสิ่งดีงาม เป็นการคงไว้ซึ่งเรื่องราววิถีให้คงอยู่คู่กับชุมชน ซึ่งชุมชนสังกัดวัดไตรราษฎร์สามัคคี เล็งเห็นความสำคัญของงานบุญประเพณีนี้ แม้จะอยู่ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ก็ตาม แต่ก็ต้องดำเนินการด้วยมาตรการของภาครัฐ และเพื่อให้วิถีบ้านเรายังคงอยู่สืบไป
วันอังคารที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2565
สาระจากศพ เลิกกันเถอะ... ประเพณีกวย ที่หาชมได้ยาก [HugHouse : สุขนี้ที่บ้านเรา]
อีกหนึ่งประเพณีที่อยู่ซ่อนอยู่ในงานอวมงคลสำหรับชาวกวยที่ยังยึดถือฮีตคองเดิมอยู่ โดยที่ชุมชนชาวกวย,กูยโพธิ์กระสังข์ อำเภอขุนหาญ จังหวัดศรีสะเกษ ยังคงให้ความสำคัญกับเรื่องประเพณีดั้งเดิมที่เคยยึดถือและปฏิบัติกันมา ที่ว่าด้วยเรื่องการสูญเสียชีวิตของคนในครอบครัว หากเกิดขึ้น เมื่อมีคู่รักเสียชีวิต อีกฝ่ายที่ยังอายุไม่มากหรือยังอยู่ในวัยกลางคน และมีพยานรักด้วยกัน ตามความเชื่อของชุมชนแล้ว จำต้องทำพิธีตัดขาดกันระหว่างสกุลทั้งฝ่ายผู้เสียชีวิตและคนที่ยังอยู่เสียก่อน แล้วค่อยทำพิธีเรียกขานบอกรักกันอีกรอบในภพภูมิปัจจุบัน
โดยพิธีการจะเริ่มด้วย พ่อพราหมณ์ได้อธิบายประเพณีแบบดั้งเดิมให้ทั้งฝ่ายสามีและภรรยาได้ทราบถึงวิธีการและพิธีการ ซึ่งมีการเตรียมขันโตก 2 ชุด ในปัจจุบันเป็นถ้วยที่ตวงด้วยข้าวสารจนเต็มแล้วมีจวย (กรวยดอกไม้) จำนวน 4 ชุดปักบนพานขันโตกและมีด้าย ฝ้ายสายสิญจน์เพื่อผูกข้อต่อแขนประกอบด้วย รวมทั้งมีการเตรียมใบตองแห้งและใบตองสดไว้ แบ่งเป็นสองชุด เช่นเดียวกัน
เมื่อพร้อมแล้ว ให้คู่รักและตัวแทนครอบครัวฝ่ายที่เสียชีวิตนั้น นั่งเหยียบขาหันหลังให้กัน พ่อพราหมณ์จะเอ่ยบอกถึงพิธีการพร้อมทั้งบอกว่า “ต่อไปนี้ทั้งคู่ไม่ได้อยู่ร่วมโลกเดียวกันแล้ว ไม่ได้เป็นผัวเมียกันแล้ว ให้ตัดขาดกันเสียชาตินี้”
เมื่อเสร็จการเอ่ยถึง ให้ทั้งคู่ ฉีกใบตองแห้งให้ขาดแตกออกจากกันแล้วยื่นแลกเปลี่ยนใบตองนั้น ๆ ให้กัน แบบหันหลังให้กัน
และพ่อพราหมณ์ก็เอ่ยต่ออีกว่า “ในภาพชาติแห่งความเป็นจริงได้ตัดขาดความเป็นผัวเมียแล้ว แต่ความเป็นสกุลที่เป็นดองเป็นญาติกันนั้นยังต้องดำเนินการต่อไป มีบุญ มีงาน ยังต้องถามไถ่ บอกกล่าวกันต่อไปได้ เพราะเรามีบุญวาสนาร่วมกัน”
ครั้นแล้ว ทั้งสองฝ่ายก็ฉีกใบตองสดให้ขาดเป็นรั้วเป็นชิ้นออกจากกัน แล้วยื่นให้กันเหมือนเช่นที่ผ่านมา
พอเสร็จพิธีการแล้ว ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งหากมีอายุน้อยกว่าก็น้อมมอบพานขันโตกนั้นให้กับฝ่ายผู้สูญเสียไป พร้อมทั้งผูกข้อต่อแขนกันและกัน เป็นเสร็จพิธี
นี่คงเป็นอีกประเพณีพิธีการหนึ่งที่ไม่มีให้เห็นมากนัก จึงขอบันทึกเก็บเป็นเรื่องราวในความเป็นวิถีชาติพันธุ์ของกวย,กูยโพธิ์กระสังข์เอาไว้ อันเนื่องในงานบำเพ็ญกุศลศพ นางสาวนัดดา ขุนเศรษฐี (ครูน้ำ) ที่บ้านเลขที่ 107 หมู่ 1 ต.โพธิ์กระสังข์ อ.ขุนหาญ จ.ศรีสะเกษ เมื่อ 01 มีนาคม 2565
เรื่อง/ภาพ :ขวัญชิต โพธิ์กระสังข์
สมัครสมาชิก:
บทความ (Atom)
ทุ่งกะบาลกะไบแห่งเทือกเขาพรมแดนไทย-กัมพูชา พื้นที่เปิดแห่งใหม่เหมาะกับนักเดินทางและนักประวัติศาสตร์
“บุญ” ต้องฟรี วัดไตรสามัคคี’ จ.ศรีสะเกษ ติดป้ายชัดเจน ทำบุญที่นี่ “ฟรี” ไม่เสียตังค์ [มีคลิป]
ที่วัดไตรสามัคคี ต.โดด อ.โพธิ์ศรีสุวรรณ จ.ศรีสะเกษ เป็นวัดท่องเที่ยวเชิงพุทธอีกแห่งของจังหวัดศรีสะเกษ ที่กำลังเป็นที่นิยมในการทำบุญของพุทธศา...
-
"เฉพาะกิจทีม" ในนามรวมทีมคนรักกีฬาวัย 35+ จากตำบลโพธิ์กระสังข์ อ.ขุนหาญ จ.ศรีสะเกษ ร่วมสนามเป็นคู่พิเศษกับทีม "ปกครองสำโรงพล...
-
ที่วัดไตรสามัคคี ต.โดด อ.โพธิ์ศรีสุวรรณ จ.ศรีสะเกษ เป็นวัดท่องเที่ยวเชิงพุทธอีกแห่งของจังหวัดศรีสะเกษ ที่กำลังเป็นที่นิยมในการทำบุญของพุทธศา...