วันอาทิตย์ที่ 20 ธันวาคม พ.ศ. 2563

มันมีชีวิตเศรษฐกิจบนผืนดิน | Hug House [สุขนี้ที่บ้านเรา] มีคลิป

 


ชาวศรีสะเกษส่วนใหญ่ คือเกษตรกร ทำนาเป็นอาชีพหลัก แต่ยุคสมัยเปลี่ยนไป การทำนาก็เปลี่ยนไปตามยุคตามสมัย จากเคยใช้แรงงานสัตว์ในการเกษตรมาสู่ยุคใช้เครื่องจักรกลแทบทั้งสิ้น ผู้คนเองจึงกลายเป็นคนทำนาแบบง่าย ๆ  ใช้เงินในการจ้างเป็นส่วนใหญ่ น้อยนักจักเห็นการทำนาแบบอดีตที่ใช้สัตว์เลี้ยงหรือทำนาแบบพิถีพิถันนักแล้ว และชาวนาในปัจจุบันส่วนใหญ่ยังเป็นการทำนาปีเป็นหลัก คือทำนาปีละหนึ่งครั้ง เมื่อเสร็จจากการเก็บเกี่ยวแล้ว ก็ปล่อยพื้นที่ว่างเปล่า

ที่ตำบลโพธิ์กระสังข์ อำเภอขุนหาญ จังหวัดศรีสะเกษ ซึ่งเป็นพื้นที่ชุมชนชาวกวย,กูยเป็นหลัก เมื่อเสร็จหน้าเก็บเกี่ยวผลผลิตข้าวแล้ว มีการซื้อต้นมันสำปะหลังจากพื้นที่อื่นมาทำการตัดและปลูกในแปลงนาที่เก็บเกี่ยวข้าวออกแล้ว เรียกว่า “มันปรัง” หรือ “มันนา” ที่ใช้พื้นที่แปลงนาข้าวเป็นพื้นที่ปลูกมันสำปะหลังในระยะเวลาหน้าแล้ง และใช้เวลาในการปลูกมันระยะสั้น ๆ เพียง 6-7 เดือน ตั้งแต่เดือนธันวาคม-มิถุนายน ถึงมีการตัดและถอนเพื่อขายแล้วหว่านข้าวต่อไป


กุหลาบ สุดสังข์ อายุ 60 ปี ชาวกูยบ้านตาตา เล่าเป็นภาษาถิ่นได้ใจความว่า “เพราะบ้านเราทำนาปี และหลายปีที่ผ่านมานี้ แล้งหนักมาก ข้าวที่หว่านไปก็ไม่ได้ผลผลิตเท่าที่ควร เลยมีการหันมาปลูกมันสำปะหลังในช่วงหน้าแล้งหลังเกี่ยวข้าวออกจากนาเสร็จ ก็พอได้มีเงินจากขายมันสำปะหลังนี่ล่ะ ซื้อปุ๋ยบำรุงดินในการทำนาต่อไปได้ และชาวบ้านเราก็ทำแบบนี้มาน่าจะเป็นสิบปีแล้ว”

เช่นเดียวกับสมสมัย โล่ห์ป้อง อายุ 44 ปี ชาวกูยบ้านตาตา กล่าวว่า “ปัจจุบันนี้ชาวบ้านเรา ส่วนมากจะนิยมปลูกมันสำปะหลังกันทั้งนั้น เพราะไม่รู้จะทำอะไร อย่างเช่นวันนี้มารับจ้างในการตัดต้นมันสำปะหลังเป็นท่อน ๆ เพื่อเตรียมจะนำไปปลูก โดยรับจ้างเป็นรายวัน ๆ ละ 220 บาท โดยเหมือนทำงานโรงงานหรือบริษัทเหมือนกันคือ เริ่มงานตั้งแต่เวลา 08.00-17.00 น. ทำไปเรื่อย ๆ มากินข้าวที่บ้านเจ้าของเขาด้วยเลย ซึ่งการรับจ้างแบบนี้มีพี่น้องติดต่อไว้หลายคนแล้ว พอเสร็จจากรับจ้างช่วยคนนี้ ก็จะไปของอีกคน แบบนี้ไปเรื่อย ๆ เป็นเรื่องดีมากพอได้มีเงินใช้จ่ายในครัวเรือนเราไปด้วย”


ซึ่งมันสำปะหลังที่ชาวบ้านตำบลโพธิ์กระสังข์นิยมนำมาปลูกนั้น ต้องมีการไปเหมาซื้อต้นมันสำปะหลังจากพื้นที่สูงบนภูเขาอย่างพื้นที่ตำบลห้วยจันทร์ อำเภอขุนหาญ หรือพื้นที่อำเภอกันทรลักษ์ที่มีการปลูกเป็นจำนวนมาก แล้วจ้างคนงานไปตัดและขนมาส่งที่บ้านเป็นทอด ๆ

มันสำปะหลังนี้ มีหลายสายพันธุ์ สำหรับชาวตำบลโพธิ์กระสังข์นั้นใช้ได้ทุกสายพันธุ์ ซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจที่ต้องการน้ำน้อย เหมาะกับดินทรายเป็นหลัก และในขณะเดียวกันพืชชนิดนี้ก็เป็นการทำลายสภาพดินไปไม่น้อย ทำให้เกษตรกรที่ปลูกต้องบำรุงสภาพดินด้วยปุ๋ยเคมีปุ๋ยอินทรีย์ชนิดต่าง ๆ ไปในตัวด้วย เพื่อให้ได้ผลผลิตดี รวมไปถึงการใช้ยากำจัดหญ้าและยาบำรุงต่าง ๆ ที่คิดว่าจะสามารถทำให้มันสำปะหลังของตัวเองได้มีผลผลิตที่ดีในแต่ละรอบปีนั้น ๆ


แม้ว่าชาวบ้านจะมีการปลูกมันสำปะหลังกันอย่างกว้างขวางในช่วงฤดูแล้งในแปลงนาข้าว และมองว่าเป็นพืชเศรษฐกิจที่พอจะหล่อเลี้ยงและเป็นเศรษฐกิจของครอบครัวไปแล้ว ในขณะเดียวกันก็ต้องลงทุนเป็นจำนวนมากเช่นกัน พร้อมกันนี้ก็ต้องบำรุงสภาพผิวดินในแปลงนาข้าวอย่างมาก ได้แต่หวังว่าพืชเศรษฐกิจชนิดนี้จะได้มีราคาดี ๆ ให้สมกับที่เกษตรกรหวังและลงทุนลงแรงไป

นี่คือเรื่องราวของมัน(สำปะหลัง)ที่มีชีวิต อันเป็นเศรษฐกิจบนผืนดินที่ชาวนาคาดหวังไว้

 

เรื่อง / ภาพ : ขวัญชิต โพธิ์กระสังข์






ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ทุ่งกะบาลกะไบแห่งเทือกเขาพรมแดนไทย-กัมพูชา พื้นที่เปิดแห่งใหม่เหมาะกับนักเดินทางและนักประวัติศาสตร์

“บุญ” ต้องฟรี วัดไตรสามัคคี’ จ.ศรีสะเกษ ติดป้ายชัดเจน ทำบุญที่นี่ “ฟรี” ไม่เสียตังค์ [มีคลิป]

ที่วัดไตรสามัคคี ต.โดด อ.โพธิ์ศรีสุวรรณ จ.ศรีสะเกษ เป็นวัดท่องเที่ยวเชิงพุทธอีกแห่งของจังหวัดศรีสะเกษ ที่กำลังเป็นที่นิยมในการทำบุญของพุทธศา...