วันพฤหัสบดีที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2563

สายบุญ...กวย ข้ามพร้อมแดนสู่ ‘มหาปราสาทนคร’ ยล “ศิลปะขอม” ก้องโลก


       สายบุญ...กวย ข้ามพรมแดน สู่ ‘มหาปราสาทนคร’ ยล “ศิลปะขอม” ก้องโลก

 

       ทันทีที่ได้รับการบอกให้ร่วมสายบุญเพื่อทอดผ้าป่าถวายยังประเทศเพื่อนบ้านอย่างกัมพูชา พลันนึกถึงความใฝ่ฝันที่อยากจะสัมผัสเมืองแห่งอารยธรรมมหาปราสาทสถาปัตยกรรมในอดีตขึ้นมาทันที


       ภาพถ่ายและสารคดีต่าง ๆ  เกี่ยวกับมหาปราสาทแห่งนี้ ภาพการบอกเล่าว่า “เขมร” ก็เหมือนบ้านเราเมื่อ ๓๐ ปีก่อนในความเป็นวิถี จินตนาการภาพจากคำบอกเล่าเหล่านั้นชวนให้ใหลหลงไม่น้อย พยายามนึกตามความคิดจากวิถีของชนชาวลาว (ส.ป.ป.ลาว) ว่า คงไม่แตกต่างกันเป็นแน่

       แต่กระนั้น ภาพดังกล่าวรอการพิสูจน์จากการเดินทางในครั้งนี้ !!!

       ‘นครวัด นครธม’ มหาปราสาทติด ๑ ใน ๗ สิ่งมหัศจรรย์ของโลกที่ใกล้บ้านเราเพียงเท่านั้น ไม่กี่อึดใจ .. ก็คงได้สัมผัส

       ตั้งคำถามจากความรู้อันน้อยนิดของตัวเองว่า “อะไร” หรือคือ “เขมร..กัมพูชา”  แล้วเราอยากจะได้เรียนรู้อะไรบ้างจากการเดินทางครั้งนี้

       ‘การได้เหยียบอีกแผ่นดินหนึ่ง จะเป็นเช่นไร..!’


เขามีอะไรดี อดีตนายกทักษิณของไทย ถึงได้เป็นใหญ่ในแดนดินนี้....ง่ายจัง’

ภาษาเขมร..กัมพูชา กับเขมรท้องถิ่นไทย จะแตกต่างกันสักเพียงไหน’

ความอลังการแห่งชื่อของคำว่า “นครวัด นครธม”…’

อาหารการกิน อาคารบ้านช่อง การเดินทาง วิถีชีวิต ..... ฯลฯ’

...เหล่านี้ ถั่งโถมเข้าในให้เก็บเป็นข้อมูลเบื้องต้นไว้กับความปลื้มยินดีที่จะสัมผัสเรียนรู้อีกประเทศหนึ่งใกล้บ้านเราเท่านั้น หลังจากที่ได้ยินผู้สูงอายุราวสัก ๗๕ ปี กล่าวว่า “เคยนำสินค้าจากไทยเรา เช่น พริก เกลือ ปลาทูเค็ม ยาเส้น(ยาสูบฝานเป็นเส้นๆ มวนเป็นบุหรี่สำหรับสูบ) แลกปลาร้าจากฝั่งกัมพูชา โดยการหาบสิ่งเหล่านั้นใส่ตะกร้าไปทางฝั่งเทือกเขาพนมดงแร็ก ทาง ต.กันทรอม อ.ขุนหาญ จ.ศรีสะเกษ ลงเขาลูกแล้วลูกเล่า”


หกโมงเช้าของวันที่ ๑๖ มีนาคม ๒๕๕๗ คือกำหนดแรกที่ได้นัดหมายการเคลื่อนสายบุญมุ่งสู่กัมพูชาผ่านช่องสะงำ ต.ไพรพัฒนา อ.ภูสิงห์ จ.ศรีสะเกษเรา

ล่วงกำหนดกาลไปชั่วโมงกว่าๆ

       ... รถบัส ๑ คัน รถตู้ ๑ คันและรถกระบะบรรทุกสัมภาระอีก ๑ คัน รวมเป็น ๓ คันกับผู้โดยสาร ๗๐ ชีวิตมุ่งตรงจุดหมายแรกโดยถนนหมายเลข ๒๔ มุ่งไปแยกละลมแล้วเลี้ยวซ้ายตรงไป ซึ่งมีป้ายบอกตลอดเส้นทางสู่ด่านดังกล่าว

       หนึ่งชั่วโมงกับยี่สิบนาที ที่หมายที่วางไว้ก็มาถึง โดยผ่านหลายๆหมู่บ้าน หลายๆตำบล รวมถึงผ่านวัดไพรพัฒนา อันเป็นอารามที่พำนักของหลวงปู่สรวง เทวดาเล่นดิน เกจิชื่อดังอีกสานใต้


       เข้าติดต่อประสานงานเกี่ยวกับเอกสารผ่านแดนของคณะ โดยรวบรวมบัตรประจำตัวประชาชนไว้ ในขณะที่รอเจ้าหน้าที่ดำเนินการ คณะสายบุญก็ได้พักรับประทานอาหาร พร้อมกันนั้นก็ได้จ้างเด็ก ๆ ชาวกัมพูชาขนของสัมภาระที่จะทอดถวายนั้นขึ้นรถเข็นที่ทำกับไม้ ข้ามไปฝั่งกัมพูชาในราคา ๗๐๐ บาท

       ๐๙.๓๐ น.  เอกสารผ่านแดนแบบชั่วคราว (Border Passport) เสร็จเรียบร้อยแล้วกับค่าบริการคนละ ๕๐ บาท ก็ข้ามไปยังฝั่งกัมพูชาใน ๑๐๐ เมตรข้างหน้า คือ ช่องจวม เพื่อตรวจสอบเอกสารอีกหน ณ ด่านนี้ เราคนไทยเสียอีกคนละ ๒๐๐ บาทที่เราจะเสียให้เป็นค่าเหยียบแผ่นดินกัมพูชา


       ช่วงเช้าถึงสายๆของทุกวัน จะมีรถเข็นที่มีชาวกัมพูชาอาสาขนสัมภาระนักท่องเที่ยวจากฝั่งไทยไปอีกฝั่ง และจะลากของใช้สอย หรือพืชผักต่าง ๆ จากฝั่งกัมพูชามาขายฝั่งไทย เป็นภาพที่เรียกรอยยิ้มกับผู้สัญจรหน้าใหม่ไม่น้อยทีเดียวกับการต่อสู้เพื่อแลกกับเงินตรา

       ตรงข้ามป้อมตรวจคนเข้าเมืองฝั่งกัมพูชา เป็นตลาดเช้า ซึ่งมีผัก ผลไม้ ของป่ามากมายวางเรียงรายกันเป็นทิวแถว รอคนฝั่งไทยมาเหมาไปขายฝั่งช่องสะงำต่อไป

       เบื้องหน้านั้นประมาณ ๕๐๐ เมตรเป็นบ่อนกาสิโนหรูที่เปิดรองรับนักท่องเที่ยวเข้ามาอุดหนุน ซึ่งส่วนมากแล้วก็คือคนไทยนี่เอง

       ณ จุดแห่งนี้ เรียกว่า “ช่องจวม” คือ ด่านตรวจคนเข้าเมืองของกัมพูชา ตั้งอยู่ อ.อันลองเวง (Anlong veng) จ.อุดรมีชัย


       ๕๙ คน กับ ๑๑ รูป ถือว่ามากพอสมควรสำหรับคณะสายบุญเรา รวมถึงสัมภาระอีกจำนวนหนึ่งอีก จึงได้ว่าจ้างเหมารถตู้ ๓ คัน รถเก๋งอีก ๓ คัน สนนราคาเหมารวม ๒๐,๐๐๐ บาท แต่กระนั้นก็ได้เห็นภาพแห่งการเดินทางของคณะเราแบบกัมพูชาที่เปิดประทุนท้ายรถตู้ให้นั่งแบบสบายๆ สำหรับผู้ที่นั่งภายในก็เบียดอัดกันเป็นปลากระป๋อง

       รถเก๋ง TOYOTA CAMRY จุผู้โดยสาร ๗ คน/คัน แล้วแต่ละคนหนัก ๖๕ กิโลกรัมขึ้นทั้งสิ้น

คำบอกเล่าที่ว่า “กัมพูชา ล้าหลังเราประมาณ ๓๐ ปี ในเรื่องถนนหนทาง บ้านเรือน วิถีชีวิต” เริ่มเปิดการเรียนรู้ให้เราได้เห็นตั้งแต่ข้ามมาฝั่งกัมพูชาและเรียนรู้ตลอดไหล่ทางแล้ว

       ถนนหมายเลข ๖๗ จากช่องจวมของอันลองเวง มุ่งสู่ตัวเมืองเสียมราฐ แดนดินอันลือชื่อก้องโลก “มหาปราสาทนคร” นาม “นครวัด นครธม” หนึ่งใน ๗ สิ่งมหัศจรรย์ของโลก ซึ่งชาวกัมพูชาเรียกเสียมราฐว่า “เสียมเรียบ” ระยะทาง ๑๓๕ กิโลเมตร เป็นถนนลาดยางตลอดเส้นทาง

       พลขับชาวกัมพูชาเปิดประตูรถเก๋งฝั่งซ้าย แล้วขับเล่นเลนขวาของถนน เหมือนการเดินทางใน ส.ป.ป.ลาว ทำให้ผู้ร่วมเดินทางสับสนไม่น้อยทีเดียวในระยะแรก


       จากช่องจวมของกัมพูชา รถวิ่งลงจากภูเขาพนมดงแร็กไปเรื่อย

อันลองเวง’ คือ ฐานที่มั่นสุดท้ายของนายพอลพต และนายพลตา ม็อค อดีตผู้นำเขมรแดง โดยทั้งคู่ถูกฝังอยู่เมืองแห่งนี้ โดยนายพอลพต ถูกฝังแถวช่องจวม ติดชายแดนช่องสะงำของไทย ส่วนนายพลตา ม็อคนั้น ถูกฝังที่วัดสระชุก ต.ตระเปรียงไปร ห่างจากช่องสะงำไปเพียง ๓ กิโลเมตร หรือที่ช่องตา ม็อคนี่เอง

       อาคารบ้านเรือนสองฟากข้างถนนมุ่งตรงสู่เสียมราฐ เป็นบ้านไม้สองชั้นยกสูง ผนังบ้านยังคงเป็นแผ่นไม้กระดาน หลังคามุงด้วยหญ้าคา แต่ที่โดดเด่นเป็นสง่าคือบันไดบ้านจะทอดยาวจากชั้นสองลงมาด้วยสถาปัตยกรรมพื้นบ้านโดยแท้ เสาบ้านยกวางบนตอไม้ซึ่งปรากฏเห็นเช่นเดียวกับบ้านเรือนของ ส.ป.ป.ลาว

ป่าเขาที่สัมผัสได้ว่าน่าจะใช่ ถูกไฟผลาญเหลือเพียงตอบ้าง เหลือแต่ซากไม้บ้าง สภาพไฟกำลังไหม้ก็ยังปรากฏเห็นอยู่ แต่ต้นไม้ใหญ่ระหว่างสองข้างนั้นไม่มีปรากฏให้เห็นนักแล้ว

      มันสำปะหลังที่สับและถูกนำมาตากข้างถนนมีให้เห็นประปราย บ้างก็ได้เก็บใส่กระสอบปุ๋ยวางไว้ข้างถนนเพื่อรอจำหน่าย

       เพลแล้ว รถเก๋ง ๓ คัน แวะจอดยังหมู่บ้านข้างถนนบริเวณบ้าน “แซรโน” เพื่อให้พระคุณเจ้าฉันภัตตาหารก่อนเดินทางต่อ ปล่อยให้รถตู้อีก ๓ คันที่บรรทุกญาติโยมล่วงหน้าไปก่อน

       “ข้าวหอมมะลิ” ของไทยเราดี ๆ นี่เอง เพียงแต่ข้าวที่นี่ขาวและนุ่มเหนียวกลมกล่อม ชาวกวยเราต่างออกปากว่าข้าวถูกปาก กับข้าวก็ง่ายๆมีแกงปลาช่อนและปลาปิ้ง รวมราคาอาหาร ๗ หมื่นกว่าเหรียล

       ผ่านหมู่บ้านแห่งหนึ่ง ที่มีการตั้งซุ้มขายของเรียงรายโดยเฉพาะน้ำตาลสดๆ แต่ละหลังคาก็มีเกวียนจอดเทียบไว้เกือบทุกหลังคาบ้าน และเห็นบ่อบาดาลคันโยกที่มีการผู้โยกวิดน้ำอาบอยู่ หรือไม่ก็มีบ่อน้ำท่อซีเมนต์หน้าบ้านที่เหมือนกับการสร้างสีสัน่ให้กับตัวบ้านไม่น้อยทีเดียว

       เที่ยงครึ่งพอดี รถทุกคนจอดต่อแถวกันทางด้านขวามือของถนน ตรงข้ามนั้นเป็นตลาดเสียมราฐ รถมอไซค์ที่ต่อพ่วงบรรทุกผู้โดยสารเหมือนสามล้อบ้านเราเกลื่อนถนนสลับกับรถจักรยานบ้าง รถเข็นของขายบ้าง รถตู้ รถเก๋ง วิ่งกันตามเลนแต่เหมือนจะยุ่งเหยิงไปหมด เนื่องจากว่าไม่มีไฟแดงนั่นเอง

เดินเข้าไปในตัวตลาดเพื่อพักผ่อน เป็นบ้านปูนสามชั้น คณะสายบุญเราก็เดินเลาะข้างๆตัวบ้านไปมีบันไดขึ้นไปต่อยังชั้นดาดฟ้าคือชั้นสาม สภาพบันไดก็ชันและแคบมาก ชั้นสามมีลมพัดมาบ้าง ทำให้ผ่อนคลายความอบอ้าวได้ไม่น้อยทีเดียว

    


   ระหว่างนี้ ได้มีการปรึกษาหารือ ชี้แจงถึงวัตถุประสงค์ ปัญหาต่าง ๆ ระหว่างการเดินทาง ก่อนที่จะมีมติสรุปลงว่า พักผ่อนก่อนสักพัก เก็บอุปกรณ์ที่ไม่จำเป็นไว้ที่นี่ก่อน จะได้เดินทางไปต่อยังมหาปราสาทก้องชื่อ

๑๐ นาทีให้หลังจากที่ได้เดินทางออกจากที่พัก ก็มาหยุดที่จุดซื้อตั๋วหรือทำบัตรเข้าชม “นครวัด นครธม” แต่เรามากันคณะใหญ่ ด้วยว่าเป็นชาวต่างชาติการเข้าชมจึงมีเกณฑ์/คนดังนี้ “ ๑ วัน = ๒๐ ดอลลาร์, ๓ วัน = ๔๐ ดอลลาร์และ ๗ วัน = ๖๐ ดอลลาร์ ” (๑ ดอลลาร์ = ๓๔ บาทโดยประมาณ)

       คณะเราจึงขอนั่งรถผ่านๆ ยลรอบปราสาทไปพลางๆก่อนหล่ะกัน พบเห็นกลุ่มนักท่องเที่ยวปั่นจักรยานเป็นกลุ่ม ข้างถนนมีต้นยางนาต้นใหญ่เป็นทิวแถวสวยงามร่มรื่นนัก

       รถตู้พาเราชมเลียบเลาะมาเรื่อย ๆ เจอแม่น้ำอยู่รอบตัวกำแพงปราการ ผู้คนบ้างนั่งเล่นขอบถนนตรงข้ามกับแม่น้ำและกำแพง บ้างจับกลุ่มนั่งกินข้าวกัน บ้างกุลีกุจอมุ่งหน้าไปยังทางเข้าปราสาท

       เด็ก ๆ กระโดดลงแม่น้ำดังกล่าวในมุมที่ไม่ลึกนักอย่างสนุกสนาน เหมือนไม่สนใจใยดีต่อนักท่องเที่ยวผู้มาแต่แดนไกลแม้แต่น้อยเลย

       ความอลังการจากภาพที่เห็นเป็นมหาปราสาทหลายๆปราสาท เรียงแถว สลับกันไป รู้ได้ทันทีว่าแต่ละปราสาทนั้นอยู่ใกล้หรือไกลกันจากสิ่งที่เห็นด้วยตา

       “ตรงนี้แน่เลย นครวัด นครธม” ความตื่นตาจากความรู้สึกแวบแรกที่ได้เห็น มือก็พลันกดชัตเตอร์ผ่านม่านกระจกของรถตู้ไม่ยอมหยุด ภาพชัดบ้าง บังบ้าง เบลอบ้างก็ช่างประไร กดไว้ก่อน แล้วค่อยมาเลือกดูภายหลัง

พลขับ นำพวกเรามาหยุดหน้าสะพานหินขนาดใหญ่ที่ทอดยาวไปยังตัวปราสาทต่าง ๆ ที่ถูกกั้นด้วยกำแพงอีกชั้นหนึ่ง ระหว่างนั้นเป็นแม่น้ำกั้นกลางระหว่างถนนรถวิ่งและตัวปราสาทที่มองด้วยสายตาเป็นรูปทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้าเป็นแน่ พร้อมพูดเป็นภาษาถิ่นว่า “อังกอร์ วัด”

       ทั้งสองข้างแห่งสะพานหินนั้น ปรากฏศิลาปั้นเป็นรูปนาคราช ๗ หัว ชูคอแผ่เบี้ย ลำคอมีรูปวงกลมคล้ายธรรมจักรหันหน้ามาต้อนรับผู้มาเยือนทั้ง ๒ ข้างซ้ายขวา และข้างๆ ไม่ห่างกันนักมีราชสีห์ ๒ ตัวหันข้างให้กับนาคราช

       ความตื่นตาในความอลังการของภาพที่เห็นยิ่งตอกย้ำความอิ่มเอมใจยิ่งนัก ปราสาทน้อยใหญ่ เรียงรายด้านหลังสลับกับแฉกใบจากต้นตาลที่เคียงข้าง ทำให้สัมผัสได้ถึงความมโหฬารใสสิ่งที่ได้ยล

เพียงศิลาแลงแท่งทึบก้อนแล้วก่อนเล่า สลักเป็นลายต่าง ๆ วางก่อกันขึ้นจนเป็นรูปเป็นร่างเป็นลายอลังการยิ่งนักเกินคำบรรยาย

       “สะพานที่เห็นมีผู้คนเดินเข้าและออก สู้กับแดดที่แผดจ้าเพื่อแลกกับความงามแห่งมหาปราสาท... ร้อนเพียงใดผู้ใคร่ชมก็มิบ่นว่าเหนื่อยเหน็ด”

       ได้เพียงเก็บภาพบันทึกไว้ด้วยเหตุผลดังกล่าว จึงได้ยกมือประนมเหนือเศียรอธิฐานในใจว่า “จักขอมาเยือนอีกหน” ก่อนขึ้นรถไปตามถนนอันร่มรื่นจากไม้ยางนาใหญ่ที่ปกคลุมแสงไว้แดดไว้ตลอดเส้นทาง

      

หน้าปัดนาฬิกาบอกเวลา ๔ โมงเย็น รถนำคณะเรามาหยุดอีกหนใต้ร่มเงาต้นยางนาขนาดใหญ่ราว ๓ คนโอบ ข้างหน้าเป็นร้านค้าจำหน่ายสินค้าพื้นเมืองของกัมพูชาและมีลานแสดงช้างเป็นเบื้องหลัง เจ้าหน้าที่ตำรวจกัมพูชาเรียกให้รถเราหยุดแล้วพูดคุยกับพลขับโดยที่เราไม่ได้สนใจอะไร แอบหลบเดินไปเล่นๆ กดชัตเตอร์ไปพลางๆ และเห็นคล้ายประตูโขงเข้าสู่วัดแต่อลังการมากเลย สิ่งนี้นี่เองที่เขาเรียกกันว่า ประตูสู่นครหลวง “เมืองนครธม” และไม่รีรอที่จะตั้งกล้องก่อนจะวิ่งเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของภาพถ่ายแห่งประวัติศาสตร์ตัวเองโดยมีสิ่งอลังการประตูนั้นเป็นฉากหลัง

       ไม่ถึงสิบนาที คณะของเราก็ถูกเรียกขึ้นรถในรูปแบบเร่งรีบ มารู้ตอนหลังว่าเราโดนไล่....!!!

แต่ก็ไม่รีรอที่จะเก็บภาพต้นดอกและใบแห่งยางนาจากกัมพูชาไว้ด้วย

       เราปรับตัวให้กลายเป็นปลากระป๋องอีกหนบนรถตู้คันเดิม มุ่งหน้าไปตามถนนลูกรังผ่านสนามบินเสียมราฐของกัมพูชา สองข้างถนนเป็นทุ่งนากว้างสลับกับบ้านเรือนที่อยู่อาศัย มีไม้ใหญ่อุดมสมบูรณ์ประกอบกับสองข้างถนนที่ทอดไปเบื้องหน้าเป็นคูน้ำตลอดสาย

       ห้าโมงเย็นพอดี กับทะเลสาบอันเวิ้งใหญ่ ที่นี่คือ “บารายตะวันตก” เป็นสถานที่พักผ่อนของนักท่องเที่ยวและชาวกัมพูชาเอง เห็นภาพหนุ่มสาวกระโดดโลดเต้น หยอกเย้าจับกันโยนกันลงจากเรืออย่างสนุกสนาน อีกทั้งเป็นมุมที่มองจากประสาทพนมบาแคง ที่ตั้งอยู่บนยอดเขาสูง ๗๐ เมตร ห่างจากนครวัดเพียง ๑.๗ กิโลเมตรมองลงมายังที่แห่งนี้ที่มีพระอาทิตย์อัศดงค์ในยามเย็น

       และแล้ว “อาทิตย์ก็อัสดงค์” ในมือเราที่บารายแห่งนี้

       พอได้เวลาก็เคลื่อนพลกลับที่เราพำนักเดิม ซึ่งญาติโยมชาวกัมพูชาต้อนรับเราด้วยอาการพื้นถิ่นง่ายๆ และได้กำหนดนัดหมายในวันพรุ่งนี้ตั้งกองผ้าป่าที่แห่งนี้ โดยได้นัดหมายนิมนต์สมภารท่านมารับที่นี่ ซึ่งเราจะไม่ต้องเดินทางไกลไปถวายยังวัดที่อยู่ห่างจากที่นี่อีกร่วม ๑๐๐ กว่ากิโลเมตร รวมถึงพื้นที่ที่จะไปนั้นเป็นป่าเป็นเขา ถนนหนทางไม่สะดวกเลย

       ดาดฟ้าชั้นสามที่ว่าสูง ยุงยังสามารถบินมาเยี่ยมยามได้ถึงที่...ในยามค่ำคืน นับถือยิ่ง..!!! แต่ราตรีนี้ไม่นานนัก..สำหรับเรา

...... .......

       เสียงเพรียกแห่งกาลเวลาย้ำเรียกคณะให้ตื่นเป็ดเสียงไก่ขันไม่แตกต่างจากบ้านเราเลยแม้นแต่น้อยในเวลา ตีห้าโดยประมาณ

       ชำระร่างกายแล้ว ชวนคณะสอง-สามคนออกมาสัมผัสบรรยากาศรับอรุณกับตลาดเสียมเรียบแห่งกัมพูชา มองหากาแฟร้อนๆสักร้าน ยังไม่เจอเลย

       ผู้คนกัมพูชาต่างนำสินค้ามาแลกเปลี่ยนกันอย่างหนาตาและพลุกพล่านเช่นตลาดในยามเช้าของไทย

       ๐๖.๕๕ น. ทำพิธีทอดถวายระฆัง ฆ้อง รวมถึงเครื่องใช้สอยต่าง ๆ เช่น ฟูก หมอน และอื่น ๆ อีกระดับหนึ่ง ก่อนถวายภัตตาหารเช้าและร่วมกันรับประทานอาหารร่วมกันแบบบ้านๆ

       แต่ก่อนจะล่ำลาเจ้าบ้านเพื่อกลับมาตุภูมินั้น คณะเราก็ได้รวบรวมจตุปัจจัยอีกรอบหนึ่งเพื่อมอบเป็นค่าน้ำใจต่าง ๆ ให้กับเจ้าบ้านด้วย

       สามโมงเช้า รถตู้ ๔ คัน กับรถเก๋ง ๑ คันที่เราติดต่อเช่าเพื่อกลับช่องสะงำก็มารับเราตามกำหนด

ระหว่างทางกลับนั้น ก็เก็บภาพผ่านกระจกรถตู้ตลอดเส้นทางตามเคย

       “เด็กนักเรียนชาวกัมพูชา” ในชุดนักเรียนปั่นจักรยานกลับบ้านตามไหล่ทางในยามก่อนเที่ยงเป็นเวลาเลิกเรียนสำหรับพวกเขา

       ๑๑.๔๕ น. รถตู้เปิดประตูหน้าทางเข้าของบ่อนกาสิโนฝั่งช่องจวม อ.อันลองเวง จ.อุดรมีชัย ส่งพวกเราสู่แดนดินถิ่นเกิดอีกหน

       ก้าวข้ามเหยียบแผ่นดินไทยอย่างสวัสดิภาพ

       หันหลังกลับไปมองอันลองเวงอีกหน

       “ลาก่อน..! สำหรับสายบุญครั้งนี้ ... โอกาสหน้า จะมาเยือนอีกหน....!!!”

 

  tags : #ช่องสะงำ, ศรีสะเกษ, นครแห่งมหาปราสาท, นครวัด, นครธม,

 

ขวัญชิต โพธิ์กระสังข์

วันที่ ๑๖ – ๑๗ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๕๗ 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ทุ่งกะบาลกะไบแห่งเทือกเขาพรมแดนไทย-กัมพูชา พื้นที่เปิดแห่งใหม่เหมาะกับนักเดินทางและนักประวัติศาสตร์

“บุญ” ต้องฟรี วัดไตรสามัคคี’ จ.ศรีสะเกษ ติดป้ายชัดเจน ทำบุญที่นี่ “ฟรี” ไม่เสียตังค์ [มีคลิป]

ที่วัดไตรสามัคคี ต.โดด อ.โพธิ์ศรีสุวรรณ จ.ศรีสะเกษ เป็นวัดท่องเที่ยวเชิงพุทธอีกแห่งของจังหวัดศรีสะเกษ ที่กำลังเป็นที่นิยมในการทำบุญของพุทธศา...