วันเสาร์ที่ 25 เมษายน พ.ศ. 2563

“ปลาแดก” ภูมิปัญญาถนอมอาหารแบบอีสานสู่สากลที่ดงตาดทอง


จะมีสักกี่มากน้อยที่เราจะได้เห็นภูมิปัญญาอีสานกับการถนอมอาหารและนำมาส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่น ให้เป็นที่รู้จักและแพร่หลายในยุคปัจจุบัน
ปลาแดก” คำฮิตหรูที่คนอีสานเข้าใจดีที่สุด หรือ ปลาร้า คือการนำปลาที่มีมาแปรรูป หมักและสามารถเก็บไว้กินได้นานเป็นแรมปีโดยไม่เสีย กลิ่นของปลาร้าก็ชวนให้หลงใหลได้น้อยเลย และหากจะมีการทำปลาร้ากันเพียงแค่ครอบครัวหรือเพียงไม่กี่คน ก็ไม่น่าแปลก แต่สำหรับที่บ้านดงตาดทอง ต.โพธิ์ศรี อ.ปรางค์กู่ จ.ศรีสะเกษ กลับพบเจอว่ามีการทำปลาร้ากันทุกครัวเรือน โดยรูปแบบการทำคือการนำปลาจากสระน้ำตามหัวไร่ปลายนาของตัวเองเป็นวัตถุดิบหลัก และสามารถสร้างรายได้ให้กับผู้คนในชุมชนได้เป็นอย่างดี

ปลาที่สูบจากสระน้ำคือวัตถุดิบของชุมชนนำไปทำปลาร้า


สุชาดา  ไกรวิเศษ / ประธานวิสาหกิจชุมชนสตรีแปรรูปปลาบ้านดงตาดทอง วัย 57 ปี กล่าวว่า “การทำปลาร้า ทำมาตั้งแต่บรรพบุรุษแล้ว โดยแต่ก่อนจะหมักใส่ไหเล็ก ๆ เพื่อกินและมีการนำหาบไปจำหน่ายตามหมู่บ้านใกล้เคียง ต่อมาเห็นว่าได้ปลามาเยอะและปลาร้าที่มีไม่เพียงพอกับการขาย เลยมีการหมักใส่โอ่งมังกร เพื่อให้เพียงพอกับลูกค้าที่ต้องการด้วย และจะขายได้ดีเป็นพิเศษในช่วงเทศกาลปีใหม่และสงกรานต์ และช่วงบุญข้าวสากด้วย”
ปลากระดี่ คือ ปลาหลักที่ชุมชนต้องการ

แต่ด้วยสถานการณ์เรื่องโควิด 19 ที่มีการแพร่ระบาดในปีนี้ ทำให้ชุมชนขาดรายได้ เพราะลูกค้าส่วนใหญ่คือคนที่กลับบ้านเกิดและซื้อกลับไปเพื่อประกอบอาหารในต่างจังหวัด แต่กระนั้นก็ตามปลาร้าจากบ้านตาดทองก็ไม่เคยเสีย เพราะสามารถเก็บไว้ขายได้ตลอด
การรับจ้างทำความสะอาดปลาเพื่อหมักเป็นปลาร้าคือรายได้ของชุมชน

และด้วยสภาพบริบทดินฟ้าอากาศของปีที่ผ่านมา ฝนฟ้าไม่ได้ตกต้องตามฤดูกาลนัก ฝนทิ้งช่วงนาน ข้าวก็ไม่ได้เท่าที่ควร น้ำที่ควรจะมีในสระน้ำก็ไม่มาก ทำให้ปลาที่พอจะเป็นวัตถุดิบของชุมชนนั้นก็หายากมากพอสมควร เพราะปลาที่ชุมชนแห่งนี้นำมาหมักเป็นปลาร้านั้น ส่วนใหญ่คือปลาจากสระน้ำที่สูบขึ้นมาแล้วนำปลาหมอ (อีสานเรียกว่า ปลาเข็ง) ปลากระดี่ (อีสานเรียก ปลากะเดิด) เป็นหลักนำมาแล้วขอดเกล็ด ตัดหัวและหางทิ้ง นำมาล้างทำความสะอาด ก่อนนำมาหมักด้วยเกลือแล้วแช่เก็บไว้ในโอ่ง ปิดผ้ามิดชิดป้องกันแมลงวันเข้าไปได้
โอ่งมังกรที่หมักปลาร้าของแต่ละครัวเรือน

สิงห์ ศรีลาชัย หญิงวัย 63 ปี ที่เคยมีอาชีพสูบสระน้ำเพื่อนำปลาขาย และส่วนหนึ่งก็นำมาหมักทำปลาร้าของตัวเองด้วย กล่าวว่า “เลิกทำอาชีพเหมาสูบสระน้ำมาได้ 2 ปีแล้ว เพราะสังเกตเห็นว่าที่ผ่านมานี้ ฝนไม่ดี ปลาก็คงมีน้อยไปด้วย การจะไปเหมาสูบสระน้ำนั้นก็ไม่คุ้มกับค่าแรงและวัตถุดิบที่เราจะได้นัก เลยมารับจ้างตัดหัวปลาให้กับคนในชุมชนเพื่อทำปลาร้าแทน มารับจ้างแบบนี้ ก็ได้ค่าแรงคิดเป็นเงินได้ กิโลกรัมละ 6 บาท ในแต่ละวันก็ได้ 500-600 บาท”


ในแต่ละครัวเรือนของชุมชนแห่งนี้ จะมีการทำปลาร้าเป็นของส่วนตัว ครอบครัวที่มากที่สุด ก็อยู่ที่ 200 โอ่งมังกร ส่วนคนที่ทำน้อยสุดเพื่อกินเองหรือขายบ้าง ก็มีคนละ 5-10 โอ่งมังกร ส่วนการตลาดนั้นจะไม่มีการแย่งพื้นที่กันขาย บ้างก็นำไปขายตามตลาดนัดเอง บ้างก็ส่งขายตามหมู่บ้าน ตามตำบลหรืออำเภอต่าง ๆ บ้างก็ส่งขายออนไลน์ด้วยเช่นกัน
และที่แห่งนี้ยังมีการแปรรูปจากปลาร้า เป็นแบบฉบับปลาร้าต้มสุก ปลาร้าสมุนไพรโบราณ รวมไปถึงปลาร้ากรอบด้วย
สะอาดถูกหลักอนามัย ก่อนบรรจุและส่งขาย
ปลาแดกหรือปลาร้า เป็นอีกการถนอมอาหารที่พูดถึงทีไร ก็อดนึกถึงส้มตำไม่ได้ เพราะนี่คงเป็นอีกรูปแบบหนึ่งที่คนอีสานเราเข้าใจดีที่สุด แม้ไม่ต้องเอื้อนเอ่ยให้มากนัก แต่มันคืออาหารแห่งอีสานศนิกชนไปเสียแล้ว และปลาแดก หรือปลาร้าแห่งบ้านดงตาดทอง ต.โพธิ์ศรี อ.ปรางค์กู่ จ.ศรีสะเกษ แห่งนี้ก็ทำหน้าที่เป็นตัวแทนของความเป็นอีสานสู่สากล ทุกหย่อมหญ้าไปเสียแล้ว แม้โรคร้ายต่าง ๆ จะมาเยือนขนาดไหนก็ไม่เสียหาย ยิ่งเก็บไว้นานยิ่งนัว ยิ่งมีรสชาติแห่งความอร่อยที่รอการไปชิมลิ้มรสของผู้คน
นี่คืออีกสิ่งหนึ่งที่ควรค่าแก่การสนับสนุนและบอกต่อว่า ศรีสะเกษเรายังมีสิ่งดีงาม ยังมีความงดงาม มีวิถี มีวัฒนธรรม มีอาหารการกินที่ส่งต่อมาจากรุ่นสู่รุ่น และรอคอยทุกท่านไปสัมผัสอยู่ตลอดเวลา หากว่างสักวัน ไปขับรถเล่นชมวิวต้นตาลแห่งอำเภอปรางค์กู่ แวะเข้าไปสัมผัสรับรสความเป็นอีสานได้ที่บ้านดงตาดทอง ได้ตลอดเวลานะครับ
เรื่อง/ ภาพ : ขวัญชิต โพธิ์กระสังข์
25 เมษายน 2563

วันพฤหัสบดีที่ 2 เมษายน พ.ศ. 2563

[มีคลิป] ม.สงฆ์ จัดรายการออนไลน์ ติดตามนิสิต กับสถานการณ์โควิดในต่างแดน | HUG HOUSE [สุขนี้ที่บ้านเรา]


มหาวิทยาลัยสงฆ์ (มจร.) ใช้วิกฤตเป็นโอกาสเรียนรู้จัดรายการ #มจร.สื่อสาร ออนไลน์นิมนต์นิสิตและพระคุณเจ้าต่างประเทศแลกเปลี่ยนมุมมองและการปรับตัวในสถานการณ์โรค COVID-19 เข้า




31 มีนาคม 2563 เวลา 19.15 น. เวลาในประเทศไทยที่ผ่านมา บนแฟนเพจ ภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มจร.  จัดรายการออนไลน์ ชื่อว่า “มจร.สื่อสาร” กำหนดชื่อตอนว่า “COVID เข้า พระสงฆ์เราอยู่อย่างไร” เป็นรูปแบบการจัดรายการแบบอยู่กันคนละที่ ผู้ร่วมเสวนาออนไลน์ก็อยู่คนละประเทศ โดยมีผู้ดำเนินรายการ 2 คน คือ ผศ.ดร. ผดุง วรรณทอง หัวหน้าภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย และ ขวัญชิต โพธิ์กระสังข์ นักข่าวพลเมือง/ผู้ผลิตสารคดีอิสระ ไทยพีบีเอส และเป็นศิษย์เก่า มจร. มีผู้ร่วมเสวนาที่เป็นนิสิต คณาจารย์และศิษย์เก่า ด้วยกัน 4 รูป+1 คน ได้แก่ 1) พระหนุ่มแลง  ธัมมิสสระ  เจ้าอาวาสวัดศรีวัฒนะเมืองมัณฑะเลย์  สำนักเรียนปริยัติธรรมมหาธัมมิการาม มัณฑะเลย์ ประเทศเมียนมา 2) พระสีวอน ธัมมาภิสิฏโฐ  ภูมิลำเนา จากแขวงไชยะบุรี ประเทศลาว ปฏิบัติศาสนกิจ ที่อยู่ เมืองโปชาดาส รัฐมิชิออนเน็ส ประเทศอาร์เจนติน่า 3) พระชานี  บูรณา  ภูมิลำเนาจังหวัดตราวิ่ญ ประเวศเวียดนาม ปัจจุบันปฏิบัติศาสนกิจและศึกษาอยู่ที่กรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา 4)พระโสเธียริต ภูมิลำเนาประเทศกัมพูชา ปฏิบัติศาสนากิจที่วัดคุณหญิงส้มจีน จ.ปทุมธานี และคุณพชร วลัยศรี ศิษย์เก่า มจร. ทำงานอยู่ประเทศสหรัฐอเมริกา

ผศ.ดร. ผดุง วรรณทอง วิทยากรดำเนินรายการ กล่าวว่า “จากสถานการณ์ปัจจุบันที่โรคร้ายเข้ามาเยือนคนเรา ทำให้ได้รับผลกระทบกันทุกกลุ่มชน ไม่เว้นกระทั่งพระสงฆ์องคเจ้า พวกเราเองในนามคณาจารย์ของมหาวิทยาลัยสงฆ์เองก็ดี หรือในนามผู้ได้รับผลกระทบเองก็ดี จึงคิดอยากทำอะไรเป็นการบอกกล่าว หรือถามไถ่ถึงความเป็นอยู่ โดยเฉพาะเกี่ยวกับพระสงฆ์เรา ซึ่งที่เป็นศิษย์เก่า มจร. หรือเป็นคณาจารย์ที่ปฏิบัติศาสนกิจอยู่ต่างแดนก็ดี อยู่อย่างไรกันบ้าง ได้รับผลกระทบอย่างไร เป็นอยู่อย่างไร เราจึงได้จัดรูปแบบการเสวนาออนไลน์ขึ้น โดยไม่ต้องนิมนต์พระคุณเจ้ามาสนทนาหรือเสวนาธรรมในที่เดียวกัน ซึ่งก็เป็นรูปแบบใหม่ของการจัดขึ้นแบบนี้ และเป็นครั้งแรกของการจัดรายการ เราใช้ชื่อว่า “มจร.สื่อสาร” เพื่อให้ความสำคัญกับมหาลัยของพวกเราด้วย”

การจัดรายการเสวนา เป็นรูปแบบการจัดรายการถ่ายทอดสด โดยใช้ระบบออนไลน์ เป็นการชวนคุย แลกเปลี่ยนกัน โดยใช้เวลาเวลาในประเทศไทยคือ 19.15 น. เป็นช่วงออนแอร์


พระหนุ่มแลง ธัมมิสสระ, รศ.ดร., ประเทศเมียนมา "..ขอให้ทุกท่าน จงตระหนัก แต่อย่าตระหนกจนเกินไป ให้ดำเนินชีวิตอย่างมีสติสัมปชัญญะ รักษากฎระเบียบวินัยอย่าง เคร่งครัดแล้วทุกอย่างจะผ่านพ้นไปด้วยดีกลับเข้าสู่ภาวะปกติ.."
พระโสเรียริต, ประเทศกัมพูชา สรุปเป็นแง่คิดให้ว่า "...หากทุกคนรู้หน้าที่ ทำตามหน้าที่ ให้ดีที่สุด จะช่วยหยุดโควิด ทำชีวิตให้สงบสุขร่มเย็นดังเดิม.."
พระชานี บูรณา, ประเทศเวียดนาม "..ขอให้ทุกคนทุกศาสนาที่อยู่บนโลกใบนี้ จงดูแลตัวเองให้ดี ดูแลครอบครัวให้ดี เพราะว่าเรามีเวลาจำกัด เราไม่มีเวลาวันนี้ 2 ครั้ง ดูแลสุขภาพกายสุขภาพใจให้ดีอยู่ด้วยความไม่ประมาท.."
พระสีวอน ธมฺมาภิสิฏฺโฐ, ประเทศอาเจนตินา "...คนเราเกิดมาในโลกนี้ หนีไม่พ้นความแก่ ความเจ็บ และความตาย แต่ก็ไม่ควรปล่อยให้แก่ เจ็บ และตาย ด้วยความประมาท..."
พชร วลัยศรี, สหรัฐอเมริกา สรุปเป็นแง่คิดให้ว่า “..ท่านที่ยังไม่ติดโควิด ก็ให้ดูแลรักษาตัวเองให้ดีอย่าให้เป็น ปฏิบัติตามที่หมอแนะนำ และสำหรับคนที่เป็นแล้ว ก็ให้ไปรักษาให้หาย อย่าไปแพร่เชื้อให้กับคนอื่น เพราะการทำเช่นนั้นถือว่าเป็นบาป.."

    
     การจัดรายการเสวนาออนไลน์ ในชื่อว่า “มจร.สื่อสาร” ครั้งนี้ เป็นครั้งแรก จึงมีข้อบกพร่องและเหตุการณ์สุดวิสัยไม่น้อย แต่ก็เป็นจุดเริ่มต้นของการพลิกวิกฤตให้มองเห็นโอกาส ทำให้ได้เรียนรู้การใช้สื่อ เป็นนวัตกรรมของการสื่อสารได้เป็นอย่างไร และเชื่อว่าในครั้งต่อไป คงได้นำสิ่งผิดพลาดหรือยังไม่สมบูรณ์นั้นมาปรับประยุกต์ใช้ให้เข้ากับเหตุการณ์ได้ในวันข้างหน้าต่อไปได้

สามารถติดตามรายละเอียด
บันทึกรายการสดที่ลิงค์ youtube ได้ที่


หรือรูปแบบของแฟนเพจ การจัดรายการสดช่วงที่ 1 ได้ที่ลิงค์
การจัดรายการสดช่วงที่ 2 ได้ที่ลิงค์



เรื่อง-ภาพ โดย ขวัญชิต โพธิ์กระสังข์
















#ฮักเฮา
#สุขนี้ที่บ้านเรา
#Hug-House
#HugHouse
#ฮักเฮา สุขนี้ที่บ้านเรา


ทุ่งกะบาลกะไบแห่งเทือกเขาพรมแดนไทย-กัมพูชา พื้นที่เปิดแห่งใหม่เหมาะกับนักเดินทางและนักประวัติศาสตร์

“บุญ” ต้องฟรี วัดไตรสามัคคี’ จ.ศรีสะเกษ ติดป้ายชัดเจน ทำบุญที่นี่ “ฟรี” ไม่เสียตังค์ [มีคลิป]

ที่วัดไตรสามัคคี ต.โดด อ.โพธิ์ศรีสุวรรณ จ.ศรีสะเกษ เป็นวัดท่องเที่ยวเชิงพุทธอีกแห่งของจังหวัดศรีสะเกษ ที่กำลังเป็นที่นิยมในการทำบุญของพุทธศา...