เมืองเก่าแก่ยุคแรกของศรีสะเกษ ที่มีของของดีอายุในสมัยต้นรัตนโกสินทร์
ที่ถูกลืม
เรื่อง-ภาพ โดย ขวัญชิต โพธิ์กระสังข์
อีกหนึ่งพื้นที่ที่ได้รับฟังข้อมูลแล้วถึงกับอึ้งว่า
พื้นที่แห่งนี้เป็นบ้านเก่าเมืองแก่โบราณกว่า 200 ปีและมีประวัติศาสตร์ความเป็นมาที่ควรค่าแก่การศึกษาและบันทึกเอาไว้
ที่แห่งนี้คือ วัดสำโรงใหญ่ หมู่ที่
1 ตำบลสำโรง อำเภออุทุมพรพิสัย จังหวัดศรีสะเกษ มีพื้นที่ประมาณ 8 ไร่เศษ ๆ สันนิษฐานว่าก่อตั้งเมื่อปี
พ.ศ. 2360 (ตามบันทึกหน้าซุ้มประตูวัดสลักตัวเลขเอาไว้) และเป็นวัดประจำอำเภอ
ในอดีตนั้นเรียกว่าอำเภอประจิม
และเปลี่ยนมาเป็นอำเภออุทุมพิไสย ก่อนจะเปลี่ยนเป็น อุทุมพรพิสัยในปัจจุบัน ซึ่งเป็นหนึ่งในหกอำเภอของจังหวัดศรีสะเกษในขณะนั้น
อำเภอนี้ก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ. 2454 และตั้งอยู่ที่บริเวณบริเวณสำโรงใหญ่แห่งนี้นี่เอง
ก่อนจะย้ายที่ว่าการอำเภอไปตั้งอยู่ที่แห่งใหม่ห่างไปทางทิศใต้ประมาณ 3 กิโลเมตร
คือ บ้านตำแย หมู่ที่ 7 ตำบลกำแพง ในปี 2491 จวบจนปัจจุบัน
วัดสำโรงใหญ่ ปัจจุบันมีท่านอาจารย์พระมหาขุนทอง
เขมสิริ เป็นเจ้าอาวาส และมีพระภิกษุ 7 รูปและสามเณรอีก 1 รูป
เป็นวัดที่มีบริบทที่งดงามที่บ้านเรือนรอบรอบติดกับถนนหลักเส้นอุทุมพร-ราษีไศลมีเสนาสนะครบทุกประการ
มีกุฏิไม้หลังเก่า มีศาลาการเปรียญไม้หลังเก่า
มีหอระฆัง มีอุโบสถที่มีพระประธานโบราณ รวมถึงมีสระน้ำ เป็นทำเลที่งดงามสมกับเป็นวัดเก่าแก่ของศรีสะเกษแห่งหนึ่งเลย
พระมหาขุนทอง เขมสิริ
เจ้าอาวาสวัดสำโรงใหญ่ เล่าให้ฟังว่า “วัดเราเป็นวัดเก่าแก่โบราณมาก อดีตเจ้าอาวาสเป็นนักปกครอง
เป็นเกจิอาจารย์ เป็นถึงเจ้าคณะอำเภอมาแล้ว เดิมทีจะมีหอพระไตรปิฎกตั้งอยู่กลางสระน้ำ
เสามีรูปสลักพญานาค 8 ตัว ปัจจุบันไม่มีแล้ว
ได้กลายเป็นสระน้ำสำหรับใช้สอยของชาวบ้าน และมีตู้พระธรรมไม้โบราณอายุกว่า 200
ปี 2 ตู้ จึงได้นำตู้พระธรรมไม้มาเก็บรักษาไว้ที่หอพระข้างอุโบสถแทน
ซึ่งมีลวดลายที่สลักงดงาม มีภาพเขียนสีฝุ่นแบบจิตรกรรมฝาผนังไทยโบราณ
เป็นลวดลายพันธุ์พฤกษา และที่สำคัญกว่านั้น พระประธานในอุโบสถ เรียกกันว่า
หลวงพ่อนาค ถูกนำมาประดิษฐานไว้หลังการสร้างอุโบสถเรียบร้อยแล้ว
สร้างเสร็จแล้วสลักชื่อไว้ฐานด้านหลังว่า สร้างเมื่อ 13 กรกฎาคม
2492 รูปพรรณสัณฐานเหมือนพระภาคกลางมากกว่าจะเป็นพระแบบอีสาน
ส่วนต้นจันทร์นั้นก็มีอายุมากกว่า 100 ปีก็ยังคงอยู่...ชาวบ้านสำโรงใหญ่
บ้านโนนหาญหก บ้านหนองเมย บ้านขนวน และบ้านหนองแคนได้เข้ามาทำบุญมิได้ขาดโดยการนำของผู้นำหมู่บ้านและส่วนราชการ
และมีประเพณีสำคัญที่ยังรักษาไว้คือการตักบาตรกรวยในวันเข้าพรรษาของทุกปี”
และนี่ไง ความอบอุ่นบนสิ่งดีงาม ประวัติศาสตร์ที่ควรแก่การศึกษา บันทึกเอาไว้ให้คงอยู่ เรื่องราวดี ๆ เหล่านี้ยังมีให้เรียนรู้อีกมากมาย หรือข้อมูลที่มีอาจจะไม่สมบูรณ์นัก สามารถเพิ่มเติมช่วยกันได้นะครับ ในรูปแบบ ฮักเฮา สุขนี้ที่บ้านเรา
#ฮักเฮา
#สุขนี้ที่บ้านเรา
#Hug-House
#HugHouse