วันพฤหัสบดีที่ 31 ตุลาคม พ.ศ. 2562

[ มีคลิป ] ร้องผู้ว่าศรีสะเกษ ยกเลิกแผนหนุนโรงงานน้ำตาล-โรงไฟฟ้าชีวมวลไปตั้งที่เหมาะสมแทน | HUG HOUSE [สุขนี้ที่บ้านเรา]

เรื่อง-ภาพ โดย ขวัญชิต โพธิ์กระสังข์
สายของวันที่ 30 ตุลาคม 2562 กลุ่มสำนึกรักษ์บ้านเกิดจังหวัดศรีสะเกษ (อำเภอไพรบึง  อำเภอขุนหาญ อำเภอขุขันธ์ จังหวัดศรีสะเกษ) จำนวนกว่า 500 คน เดินทางยังศาลากลางจังหวัดศรีสะเกษ เพื่อเข้าพบและยื่นหนังสือต่อผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้บริษัทโรงงานน้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีวมวลไปดำเนินการจัดตั้งโรงงานในพื้นที่ที่มีวัตถุดิบอ้อยที่เหมาะสมแทนพื้นที่ชุมชน โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษ นายวัฒนา พุฒิชาติ มารับหนังสือและรับข้อเสนอจากกลุ่มดังกล่าว และกล่าวว่า “หน้าที่ต่าง ๆ ส่วนหนึ่งอยู่ที่ส่วนกลาง กระทรวงฯ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยมีคณะกรรมการกำกับดูแล ซึ่งเคยรับรู้มาว่าเรื่องก็เคยถูกส่งไปในคณะกรรมการส่วนกลางแล้ว กรรมการท่านก็ตอบมาว่ามันเป็นข้อมูลในการพิจารณาในครั้งต่อไป ที่ทุกคนมายื่นหนังสือมา ผมก็รับหนังสือเอาไว้ตามจุดประสงค์และรายงานส่งต่อให้นะครับ”
หลังจากนั้น ทางกลุ่มฯ ได้อ่านคำแถลงการณ์คัดค้านโรงงานน้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีวมวลจนกว่าจะมีการยกเลิกต่อไป
ตี โพธิสาร ตัวแทนกลุ่มสำนึกรักษ์บ้านเกิด ยื่นหนังสือต่อผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษ

ตี โพธิสาร ตัวแทนกลุ่มสำนึกรักษ์บ้านเกิดจังหวัดศรีสะเกษ กล่าวว่า “ก่อนหน้านี้ ชาวบ้านในพื้นที่ ไม่ได้มีความรู้ถึงผลกระทบจากโรงงานน้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีวมวลเลย และที่ผ่านมามีการให้ข้อมูลกันเองเพียงบางกลุ่มแค่ภายในเท่านั้น ซึ่งภายหลังได้มีอาจารย์ผู้รู้ด้านสิ่งแวดล้อม มาให้ความรู้และข้อดีข้อเสียรวมถึงข้อมูลที่อ้างอิงได้ ทำให้ชาวบ้านถึงได้เข้าใจถึงผลกระทบมากมาย และได้เห็นข้อเท็จจริงจากสื่อต่าง  ๆ ที่ได้นำเสนอในพื้นที่ต่าง ๆ ทำให้ชาวบ้านเกิดความตระหนักและคิดว่า ถ้าทุกคนนิ่งอย่างนี้ ลูกหลานและคนในพื้นที่คงได้รับผลกระทบได้ในอนาคต และการมาในครั้งนี้เรามีเป้าหมาย ซึ่งจะแตกต่างจากครั้งที่ผ่านมา คือ ครั้งก่อนเรามายื่นหนังสือเพื่อให้ยกเลิกการรับฟังความคิดเห็นครั้งที่หนึ่งและครั้งที่สอง ที่ชาวบ้านไม่มีส่วนร่วมนั้น แต่ครั้งนี้เราเห็นถึงผลกระทบมากมาย เราจึงบอกว่า ไม่เอาแล้ว ขอให้ขยับการก่อสร้างจากที่ดังกล่าวนี้ ไปก่อตั้งที่อื่นแทน และการประชุมรับฟังความคิดเห็นครั้งต่อไปก็ไม่ต้องทำ นี่คือจุดประสงค์หลักของครั้งนี้”
 
นายวัฒนา พุฒิชาติ ผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษ กล่าวพบปะกับกลุ่มฯ
ธีรพล แก้วลอย กลุ่มสำนึกรักษ์บ้านเกิดจังหวัดศรีสะเกษ กล่าวว่า “การมาครั้งนี้ เราใช้สิทธิขั้นพื้นฐานที่เรามี เรามาเพื่อปกป้องทรัพยากรของพวกเรา และหวังพึ่งพ่อเมืองศรีสะเกษในการช่วยเหลือชาวบ้านพวกเรา เพราะถ้าหากมีโรงงานน้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีวมวลเกิดขึ้น ย่อมมีผลกระทบที่จะเกิดขึ้นมากมาย”

สิริศักดิ์ สะดวก ที่ปรึกษากลุ่มสำนึกรักษ์บ้านเกิดจังหวัดศรีสะเกษ กล่าวว่า “พื้นที่บริเวณดังกล่าวนั้น ไม่มีความเหมาะสมที่จะตั้งโรงงาน เพราะอยู่ใกล้บ้าน วัดและโรงเรียน ในระยะรัศมี 5 กิโลเมตรตรงนั้น เป็นพื้นที่ชุมชนประมาณ 41 หมู่บ้าน 7 ตำบล 3 อำเภอ และเป็นพื้นที่ปลูกข้าวหอมมะลิ ทำเกษตรอินทรีย์ ที่อยู่บนดินแดนภูเขาไฟ เป็นต้น ถ้าจะต้องทำโรงงานน้ำตาล ควรจะต้องไปดำเนินในพื้นที่ซึ่งมีการปลูกอ้อยจริง ๆ วันนี้ทางกลุ่มสำนึกรักษ์บ้านเกิดจังหวัดศรีสะเกษจึงมีข้อเสนอคือ 1.ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษทำหนังสือถึงบริษัทที่ปรึกษาฯ ในกรณีโครงการโรงงานผลิตน้ำตาล ของบริษัท เอเคเอ็น แอสโซซิเอท จำกัดขนาด 20,000 ตันอ้อย/วัน และโครงการโรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงชีวมวล ของบริษัท กัญจน์สยามไบโอ เอนเนอร์จี จำกัด 40 เมกะวัตต์  โดยให้บริษัทไปดำเนินการจัดตั้งโรงงานในพื้นที่ซึ่งมีวัตถุดิบอ้อยจริง ๆ เพื่อประหยัดต้นทุนและเพิ่มกำไรให้ชาวไร่อ้อย เพราะพื้นที่ซึ่งกำลังผลักดันโครงการนั้นไม่มีความเหมาะสมตามเหตุผลข้างต้น 2.ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษและหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องยกเลิกแผนผลักดันโครงการโรงงานน้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีวมวลในพื้นที่อ.ไพรบึง อ.ขุนหาญ จ.ศรีสะเกษ 3.ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษมีคำสั่งยกเลิกการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นครั้งที่ 1 และครั้งที่ 2 เนื่องจากการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นไม่มีความชอบธรรมต่อชาวบ้านในพื้นที่ 4.ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษประกาศเป็นพื้นที่ปลอดภัยด้านดิน น้ำ อากาศและคุณภาพชีวิต เพื่อให้สอดคล้องกับพื้นที่ตามยุทธศาสตร์และแผนพัฒนาจังหวัดศรีสะเกษ 5.ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษแต่งตั้งคณะกรรมการศึกษาความเป็นจริงของพื้นที่โดยมีชาวบ้านเข้าไปมีส่วนร่วม 6.ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษและหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องลงดูพื้นที่ความเป็นจริงและพูดคุยแลกเปลี่ยนกับกลุ่มสำนึกรักษ์บ้านเกิดจังหวัดศรีสะเกษ
.
คลิปประกอบจากรายการ นักข่าวพลเมือง C Site ทาง ไทยพีบีเอส (ออกอากาศในช่วง ข่าววันใหม่ไทยพีบีเอส เวลา 07.45 น. ของวันที่ 31 ตุลาคม 2562)
ว่าด้วยเรื่อง ความกังวลใจเรื่องแผนดำเนินโครงการอุตสาหกรรมในพื้นที่ อ.ไพรบึง จ.ศรีสะเกษ หมุดนี้คุณขวัญชิต โพธิ์กระสังข์ รายงานจากศาลากลางจังหวัดศรีสะเกษ หลังจากที่กลุ่มสำนึกรักษ์บ้านเกิดจังหวัดศรีสะเกษ เดินทางจาก อ.ไพรบึง เข้ายื่นหนังสือต่อผู้ว่าราชการจังหวัดขอให้พิจารณาเรื่องการตั้งโรงงานอุตสาหกรรมน้ำตาลในพื้นที่ชุมชน
#CSite #ข่าววันใหม่ #นักข่าวพลเมือง #ThaiPBS
#กลุ่มสำนึกรักษ์บ้านเกิดจังหวัดศรีสะเกษ


















วันเสาร์ที่ 26 ตุลาคม พ.ศ. 2562

[ มีคลิป ] ไม้มะดัน คุณค่าจากชุมชน สร้างมูลค่าสู่สากล | HUG HOUSE [สุขนี้ที่บ้านเรา]


ศรีสะเกษ – พื้นเพชุมชนไทลาวเวียง(จันทร์) นำวัตถุดิบในชุมชนมาย้อมสีธรรมชาติสร้างรายได้เพิ่มให้คนในชุมชนที่บ้านหนองโนและใกล้เคียงอำเภอโพธิ์ศรีสุวรรณ


เรื่อง-ภาพ โดย ขวัญชิต โพธิ์กระสังข์

น่าจะเป็นการเดินทางอีกครั้งที่ไม่ไกลนักจากบ้านเกิดมายังอีกฟากหนึ่งของศรีสะเกษ  ระยะทางตามพิกัดของ GPS ที่พาผมมา 104 กิโลเมตร ซึ่งใช้ระยะเวลาร่วม 2 ชั่วโมงเลยทีเดียว ด้วยเป้าหมายครั้งนี้ได้ทราบข่าวจากแชทไลน์และข้อความที่ผ่านมาว่าพื้นที่ดังกล่าวนั้นกำลังมีกิจกรรมขึ้นเท่านั้น และเป็นพื้นที่ที่ผมเองกำลังสนใจอยู่พอดี เลยไม่รอช้าที่จะออกไปร่วมเรียนรู้ด้วย

จากขุนหาญ ต้องมุ่งสู่ตัวเมืองศรีสะเกษ และไปยังทิศตะวันตกตามถนนสู่อุทุมพรพิสัย-รัตนบุรี ทางทิศตะวันตก หากไปเป้าหมายเราอยู่ก่อนถึงพื้นที่อำเภอรัตนบุรีแห่งเมืองสุรินทร์
ณ พื้นเพแห่งตำบลเสียว อำเภอโพธิ์ศรีสุวรรณนั้น เป็นคนลาวเวียงมาก่อน อพยพมาเมื่อครั้งอดีต และบางส่วนเป็นชนเผ่ากูย (ซึ่งบางหมู่บ้านที่เป็นกูยก็ยังคงมีอยู่)
สิ่งที่น่าสนใจหลักของพื้นที่แห่งนี้ คือป่าชุมชนจำนวน 2,224 ไร่ ซึ่งป่าชุมชนแห่งนี้ยังกว้างใหญ่มีอาณาเขตอยู่ในพื้นที่ตำบลใกล้เคียงด้วย 2 ตำบล คือ ตำบลเสียว 3 ชุมชน และตำบลอีเซ อีก 2 ชุมชน
ป่าชุมชนขนาดใหญ่ มีต้นไม้ใหญ่น้อยเรียงรายตามสภาพป่าชุมชนหนาทึบทั่วอาณาบริเวณ ซึ่งนับว่าเป็นป่าชุมชนที่ใหญ่ที่สุดอีกแห่งของศรีสะเกษเลยทีเดียว เข้าไปด้านในจะมีความเย็นสบาย เสียงจากสัตว์น้อยใหญ่ส่งเสียงทักทายเป็นระยะ

“ไม่พะยูง กะพึ่งถืกตัดไปแต่จับไผเฮ็ดบ่ได้ หลายกกอยู่ สงสัยย้อนว่ากกมันใหญ่พอมันตัดแล้วขนเอาไปบ่ได้ สุดท้ายเลยเห็นรถของรัฐมาขนไปดำเนินการ” คำพูดจากคุณตาท่านหนึ่งที่เล่าให้ฟังเรื่องเกี่ยวกับไม้วิเศษดังกล่าว

“มีหลายคัก แนวกิน ทั้งเห็ด ทั้งมัน ทั้งแมง โดยเฉพาะเห็ดนี่ มีคนมาหาประจำ บ่ได้มีแต่คนไทบ้านเฮาดอก ทังอื่นกะมาหาคือกัน หลายโพด ได้ขายมือละหลายบาท แมงจี่โป่มช่วงนี้กะมีหลายคือกัน ลังคนได้มื้อละเกือบพันบาทพุ้นแล่ว” คุณตาท่านเดิม พูดถึงสิ่งที่เกิดในป่าชุมชนของตัวเอง
ป่าชุมชนดังกล่าว ฝั่งที่เข้าไปนี้ ออกจากบ้านหนองมโนรมย์ หมู่ที่ 15 ต.เสียว ไปราว 500 เมตรเท่านั้น โดยบริบทถนนเข้าไปก็ค่อนข้างเป็นถนนดินและมีที่นาปลูกข้าวที่รอพร้อมการเก็บเกี่ยวในเร็ววันนี้

คราเมื่อย้อนเข้ามาในหมู่บ้าน เรากลับพบเจอหมู่บ้านที่แปลกตาแตกต่างจากบ้านของเราพอสมควร เรื่องความสะอาดตั้งแต่ถนนหนทาง ถึงตัวอาคารบ้านเรือน และในพื้นที่ตัวบ้านเอง เพราะหากเปรียบเทียบกับหลายหมู่บ้านที่แม้จะได้รับงบพัฒนาจากโครงการต่าง ๆ ที่ทำเกี่ยวกับเรื่องนี้โดยตรงก็อาจจะแตกต่างจากที่นี่เหมือนกัน จึงแอบหลอยเดินไปตามถนนซอกเล็ก ๆ คุยเล่นกับชาวบ้านพอสมควร และสังเกตด้วยสายตาแม้ในตามถนนท้ายหมู่บ้านนั้น ๆ ซึ่งเป็นสิ่งที่น่าชื่นชมและให้กำลังใจเหมาะกับการได้เรียนรู้ไม่น้อย

อีกสิ่งที่ได้เห็น เนื่องจากคงเพราะเป็นช่วงปิดภาคเรียนหรือว่าเป็นวันหยุดก็ตาม ได้เห็นเยาวชนวัยประถม วัยมัธยมล้อมวงเล่นกันตามถนนอย่างสนุกสนานที่ดูกี่ครั้งก็ไม่ใช่การจัดฉากใด ๆ ทำให้รับรู้ได้ถึงวิถีบางอย่างที่ถูกซึมซับของผู้คนที่นี่

หน้าศาลากลางหมู่บ้าน หมู่ที่ 15 ของตำบลเสียว มีการตากข้าวบนผ้าแญง กองเล็ก ๆ ไม่ยาวนัก บ่งบอกว่านี่คงได้เกี่ยวก่อนใคร และด้านหลังศาลาแห่งนี้ก็คือ บ้านของผู้นำชุมชนนั่นเอง
“เฮาเอาเปือกไม้มะดันมาต้มแล้วเอามาย้อมผ้า ซึ่งย้อมได้ทั้งผ้าไหมและผ้าผ่าย (ฝ้าย) แล้วกะย้อมได้ทั้งเสื้อทั้งโต หรือสิย้อมเฉพาะเส้นไหม เส้นผ่ายเองกะได้ ปกติสิย้อม 1-2 น้ำท่อนั้น” คำบอกและแนะนำให้ทราบของผู้ใหญ่สิริวรรณ อุ่นอบ ที่ยืนต่อหน้าหม้อที่กำลังต้มด้วยเปลือกมะดันในสภาพจวนเดือดให้ฟัง พร้อมทั้งนำผ้าที่ย้อมด้วยเปลือกมะดันและเส้นไหมที่ย้อมด้วยมะดันให้ดู

“ก่อนหน้านี้ ผู้เฒ่าบ้านเฮาเพิ่นมักสานกะต่า สานไม้กวดเอาไว้ไซ้ แต่ตอนนี้กะมีการตำผ้าไหมและย้อมสีธรรมชาติเข้ามานำนี่ล่ะ” ท่านผู้ใหญ่คนเก่งเล่าให้ฟังอีกครั้ง
.
นี่คงเป็นการเดินทางที่ใช้เวลาพอสมควร แต่เวลาที่ได้สำรวจพื้นที่ก็สั้นนัก พระอาทิตย์อัศดงเสียแล้ว ได้เวลาที่เราจะขยับตัวเองออกจากพื้นที่

ซึ่งครั้งนี้แม้เวลาจะน้อยนัก แต่ทำให้ได้พบเจอสิ่งใหม่ ๆ ได้พูดคุย ได้พบเจอ ได้เรียนรู้ ได้เห็นอะไรมากมาย ความเอาใจใส่ การต่อสู้ ความน่ารัก เกิดจากการที่เราน้อมให้เกียรติพื้นที่นั้น 

ป่าชุมชนก็ดี ความสะอาดก็ดี การทอผ้าการย้อมสีธรรมชาติก็ดี เป็นเพียงส่วนหนึ่งที่พบเจอและประทับใจ แต่ยังมีอีกมากมายที่ไม่ได้บรรยายไว้ ณ แห่งนี้ ขอไว้มีโอกาสมาเยือนอีกสักครั้งหรือหลายครั้ง คงได้มีอะไรมาร่ายยาว ๆ อีกหน

.
      อยู่ดีมีแฮง ครับ
บันทึกการเดินทางเมื่อครั้งเดินทางวันศุกร์ที่ 25 ตุลาคม 2562
บันทึกไว้ในวันนี้ อาทิตย์ 27 ตุลาคม 2562





ภาพประกอบ



























ทุ่งกะบาลกะไบแห่งเทือกเขาพรมแดนไทย-กัมพูชา พื้นที่เปิดแห่งใหม่เหมาะกับนักเดินทางและนักประวัติศาสตร์

“บุญ” ต้องฟรี วัดไตรสามัคคี’ จ.ศรีสะเกษ ติดป้ายชัดเจน ทำบุญที่นี่ “ฟรี” ไม่เสียตังค์ [มีคลิป]

ที่วัดไตรสามัคคี ต.โดด อ.โพธิ์ศรีสุวรรณ จ.ศรีสะเกษ เป็นวัดท่องเที่ยวเชิงพุทธอีกแห่งของจังหวัดศรีสะเกษ ที่กำลังเป็นที่นิยมในการทำบุญของพุทธศา...