ชุมชนส่วยกับเครือไม้นานาที่ควรค่าแก่การส่งต่อสร้างคุณค่าให้บ้านหนองพะแนง
ป้ายทางเข้าหมู่บ้าน เส้น 221 |
ในจังหวัดศรีสะเกษ หลาย ๆ
คนมักจะรู้จักดีในเรื่องของพืชผักผลไม้ที่ขึ้นชื่อ อาทิ หอม กระเทียม
รวมถึงทุเรียนภูเขาไฟ และมีแหล่งท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ที่อยู่ติดกับประเทศเพื่อนบ้าน อย่าง
ผามออีแดง หรือ ปราสาทเขาพระวิหารที่สามารถมองเห็นด้วยกล้องส่องไปในระยะใกล้เคียงกันจากผามออีแดง
ฝั่งอำเภอกันทรลักษ์ นั้น
นอกจากสิ่งดีงามที่ขึ้นชื่อดังกล่าวแล้ว
ยังมีความงดงามแห่งชาติพันธุ์ทั้ง 4 ที่มีปะปนอยู่ตามตำบล อำเภอต่าง ๆ
ของศรีสะเกษด้วย
และในศรีสะเกษเอง ก็ยังมีสิ่งดีงามมากมายที่ซ่อนอยู่ภายใต้ชุมชนแต่ละแห่งแตกต่างกันออกไปอีก
ซึ่งที่บ้านหนองพะแนง ม.5 ต.รุ่งระวี อ.น้ำเกลี้ยง จ.ศรีสะเกษ เป็นอีกชุมชนที่มีประวัติศาสตร์และเรื่องราวที่น่าชวนติดตาม
คุณยายบุญมี
สังขะพงษ์ เล่าให้ฟังว่า “บรรพบุรุษย้ายมาจากบ้านอาทิ ต.ลมศักดิ์ อ.ขุขันธ์
จ.ศรีสะเกษ ซึ่งเป็นชาวส่วย มาตั้งถิ่นฐานตั้งแต่ปีไหนนั้นไม่รู้เหมือนกัน
ไม่เคยถาม แต่คุณยายเป็นคนเกิดที่นี่ เขาว่า แต่ก่อนนั้น มีต้นหนามแท่ง
หรือที่ชาวส่วยจะเรียกว่า “อะลาพะแนง” เป็นจำนวนมาก เป็นป่าไม้อุดมสมบูรณ์ และมีหนองน้ำอยู่ท้ายหมู่บ้านด้วย
เลยสันนิษฐานการตั้งชื่อว่า “บ้านหนองพะแนง” ตั้งแต่นั้นมา
ส่วนภาษาดั้งเดิมคือส่วยนั้น
ปัจจุบันนี้มีการพูดกันแค่ในกลุ่มวัยทำงาน ส่วนนักเรียนคนรุ่นใหม่
ไม่ค่อยพูดกันแล้ว เพราะผู้ปกครองไม่ยอมพูดภาษาถิ่นกับลูกหลาน”
หนองพะแนง แห่งชุมชน |
คำว่า “ส่วย” “ชาวส่วย” “ชุมชนส่วย” “ภาษาส่วย”
ของพื้นที่บ้านหนองพะแนง ยังคงเรียกและใช้คำนี้อยู่อย่างเป็นปกติ
ไม่ได้เรียกตัวเองว่า “กูย” หรือ “กวย” เฉกเช่นบ้านอื่นเลย
การประกอบอาชีพของผู้คนที่นี่ ก็ทำนาเป็นหลัก
มีการเลี้ยงสัตว์เลี้ยงเหมือนคนอีสานทั่วไป แต่ที่นี่ มีป่าชุมชนที่ชื่อเรียกทางการว่า
“สถานีวนวัฒนวิจัยห้วยทา” หรือว่า ป่าสนสองใบ
ซึ่งเป็นป่าสนสองใบแห่งสุดท้ายของจังหวัดศรีสะเกษ มีพื้นที่ 800 ไร่
ซึ่งมีกรมป่าไม้ เป็นผู้ดูแล และในพื้นที่ป่าชุมชนแห่งนี้
นอกจากจะมีต้นสนขึ้นเป็นจำนวนมากแล้ว ยังมีเครือวัลย์ หรือเถาวัลย์เป็นจำนวนมาก
ชาวบ้านก็สามารถเข้าไปใช้ประโยชน์และนำเครือไม้เหล่านี้มาใช้ประโยชน์สร้างคุณค่าและมูลค่าให้เกิดกับชุมชนได้เป็นอย่างดี
เฟื่องฟ้า ผลบุญ เล่าว่า “ลาวเฮาเอิ้นว่า เคือ
แต่ส่วยอยู่นี่ เอิ้นว่า “อะวัลย์” คุณน้าเล่าด้วยภาษาถิ่นไทย
อีสานให้ฟัง
เนื่องด้วยเป็นลูกสะใภ้ของที่นี่ เล่าให้ฟังขณะม้วนขดเพื่อเก็บเรียงไว้รอพ่อค้ามารับซื้อไป
อะวัลย์ ฉูจย์ เครือไม้จากป่าชุมชน |
ส่วนคุณวิลาวรรณ์ มุ่งหมาย ชาวบ้านหนองพะแนง เล่าให้ฟังว่า “เถาวัลย์หรือเครือวัลย์นี้
ภาษาถิ่นจะเรียกว่า “อะวัลย์ ซูจย์” ภาษาไทอีสานจะเรียกว่า
“เครือ ซูด”
โดยจะมีหลายชนิดที่ชุมชนเรานำมาใช้ประโยชน์ คือ เครือขี้โก๊ะ หรือ เครือซูดขาว ภาษาถิ่นจะเรียกว่า
“อะวัลย์ บั๊วะ [ เครือขาว ]” ที่มีขนาดใหญ่และมีน้ำหนักดีและอีกชนิดหนึ่งคือ
เครือซูดแดง ภาษาถิ่นเรียกว่า “อะวัลย์ ฉูด [ เครือ ซูด]
” จะมีน้ำหนักเบา วิธีการคือไปตัดมาแล้วต้มด้วยน้ำประมาณ 2 ชม.
แล้วนำมาแกะเปลือกออก ก่อนขดม้วนไว้ก่อนนำส่งขายให้พ่อค้า
โดยพ่อค้าจะมารับซื้อถึงบ้าน”
หลังจากต้มแล้วนำมาปอกเปลือกออกสวยงาม |
เถาวัลย์ที่รอการจำหน่าย |
คุณน้าวิลาวรรณ์ เล่าให้ฟังต่ออีกว่า “เราตัดมา
มันยิ่งแตกแขนงออกใหม่เรื่อย ๆ ถ้าเราไม่ตัด มันก็จะขึ้นไปเดี่ยว ๆ เลย
โดยเราต้องไปหาในป่า ซึ่งในป่าชุมชนเราก็มีส่วนหนึ่ง และไปหาเพิ่มอีกในพื้นที่อื่นด้วย”
เครือไม้ดังกล่าว จะมีหลายขนาด
และใช้ได้แทบทุกขนาด เพราะนำมาขัด ม้วนถักเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ได้
โดยเปลือกของมันจะมีลักษณะหอม
ตุ๊ มุ่งหมาย เล่าว่า “ตาเป็นคนโคราช
มาอยู่ที่นี่หลายสิบปีแล้ว มีอาชีพเป็นช่างทำผลิตภัณฑ์มาก่อน
มาที่นี่ก็ทำงานแบบนี้มาตลอด ไปหาเถาวัลย์ตามป่า ซึ่งก็ทำได้ทุกอย่างที่เป็นเถาวัลย์แบบนี้
ไม่ว่าจะเป็นโต๊ะ เก้าอี้ โชว์ฟา
หรือดัดเป็นสัตว์จำพวก ช้าง ม้า วัว ควายและทุกอย่างตามออร์เดอร์มา
ช่วงนี้งานล้นมือ และเป็นวิทยากรอบรมให้กับหน่วยงานต่าง ๆ ด้วย
ที่สำคัญโดยเฉพาะงานโรงเรียนที่เชิญมาหรือบอกมา ก็ยินดีไปช่วยด้วยความเต็มใจเลย”
คุณตาวัย
58 ปี เล่าให้ฟังด้วยท่าทีเป็นกันเองและสนุกสนานกับผู้สนทนา
ก่อนจะแนะนำเก้าอี้ตัวใหญ่ที่นั่งอยู่ว่า “ตัวนี้ ขายราคา 200 บาท จากต้นทุนแค่ 80
บาท นอกนั้นคือค่าแรงและค่าความคิดออกแบบของคุณตา
ปราชญ์ชาวบ้านเรื่องการออกแบบผลิตภัณฑ์ |
นอกจากการนำไม้ในป่ามาแปรสภาพและจำหน่ายสร้างมูลค่าให้กับชุมชนแล้ว
ยังมีกลุ่มที่นำไม้มาแปรรูปในนามของกลุ่ม “ผลิตภัณฑ์เครือเถาวัลย์” ด้วย
โดยนำไม้มันปู และไม้เสียว ไม้ปอน้ำ มาสร้างเป็นกระเช้าของฝากต่าง ๆ
ไม้กับผลิตภัณฑ์ชุมชน |
“แต่ก่อนเราใช้เครือวัลย์หรือเถาวัลย์เส้นใหญ่
แต่หาไม่ทัน เลยเปลี่ยนมาเป็นไม้มันปู แต่ไม้มันปูมีข้อเสียคือถ้านานเข้าแมลงจะกัดกินได้
เราจึงเปลี่ยนมาใช้ไม้เสียวและไม้ปอน้ำแทน โดยไปหาไม้จากลำห้วย หรือตามริมชายป่า
เราจึงใช้หลายๆ อย่างมาผสมผสานกัน ถ้าใช้เถาวัลย์หมดจะมีต้นทุนที่สูงด้วย
ส่วนการทำคือตะปูเท่านั้น
บางคนที่ถนัดก็มีเครื่องมือทุ่นแรงช่วยจะได้เยอะกว่าเพื่อน
สมาชิกที่ทำและนำมารวมกันแต่ละคนจะมีรายได้ วันละ 600-700 บาท
สำหรับคนที่ใช้ตีตะปูด้วยมือ
ส่วนคนที่มีอุปกรณ์เครื่องทุ่นแรงก็จะได้มากกว่านั้นเยอะ
กลุ่มที่สร้างมูลค่าให้กับชุมชน |
ข้อเสียคือ เรามีแรงงานเป็นคนวัยทำงานถึงผู้สูงอายุ
ไม่มีแรงงานวัยรุ่น ทำให้เราไม่สามารถรับออเดอร์จากต่างประเทศได้ทัน ส่วนมากจะทำออเดอร์ส่งให้กับนายทุนใหญ่ ๆ
แต่ก็ทำเพื่อจำหน่ายปลีกด้วยในอีกราคาหนึ่ง
รวมไปถึงมีการเป็นชุดให้กับลูกค้าที่สนใจ”
สังวาล ศรีกะชา สมาชิกกลุ่มฯ
เล่าให้ฟังขณะเร่งทำผลิตภัณฑ์กระเช้าดอกไม้
ความเข้มแข็งของชุมชนคือการได้มีงานทำอย่างต่อเนื่อง
มีผลิตภัณฑ์ให้ได้ทำ ให้ได้ฝึกฝีมือ จนเป็นที่ยอมรับ
มีการสั่งออร์เดอร์รายการเข้ามาอย่างต่อเนื่อง นั่นคือความเข้มแข็ง
อันส่งต่อให้เกิดรายได้กับคนในชุมชน
ทั้งนี้ทั้งนั้นเป็นการช่วยกันอนุรักษ์และเรียนรู้วิธีการอยู่กับป่าชุมชน
ไม่ทำลายให้สูญไป คุณค่าจากสิ่งที่มีในชุมชนนำมาส่งต่อก่อให้เกิดมูลค่าสร้างรายได้
แต่จะเป็นคุณค่ายิ่งกว่านั้นหากได้ส่งต่อเรื่องราวดี ให้อยู่คู่กับชุมชนให้ลูกเรียนได้เรียนรู้
ได้ทำลงมือทำ นั่นคงเป็นความท้าทายและจะนำไปสู่ “ความยั่งยืน” ได้ในอนาคต
สำหรับบ้านหนองพะแนงในวันข้างหน้า
ทั้งหมดนี้ ยังไม่ใช่ทั้งหมดแห่งบ้านหนองพะแนง ยังมีอีกมากมายที่น่าค้นหา น่าศึกษา น่าเรียนรู้จากผู้คนแห่งนี้ จากพื้นที่แห่งนี้
บ้านของท่านล่ะ ได้มีอะไรให้น่าเรียนรู้เช่นนี้บ้างหรือไม่ ลองเล่าสู่กันฟัง แลกเปลี่ยนกันได้
แต่วันนี้ ที่นี่ คือ #หนองพะแนง
บ้านของท่านล่ะ ได้มีอะไรให้น่าเรียนรู้เช่นนี้บ้างหรือไม่ ลองเล่าสู่กันฟัง แลกเปลี่ยนกันได้
แต่วันนี้ ที่นี่ คือ #หนองพะแนง
ขวัญชิต
โพธิ์กระสังข์
30 กรกฎาคม 2562
[ ขอบคุณการได้ร่วมเดินทาง เรียนรู้
ได้พบเจอสิ่งใหม่ๆ กับผู้คนใหม่ ๆ ประสบการณ์ใหม่ ๆ
จึงขอนำส่งต่อสิ่งที่ได้พบเจอนี้สู่ผู้คนต่อไป ขอบคุณทุกโอกาสดี ๆ ครับ
ขอบคุณที่สุด มพด. มูลนิธิพัฒนาเด็ก อีสานตุ้มโฮม โดย ดวงใจ เที่ยงดีฤทธิ์ และเครือข่ายเพื่อนครู
รวมถึงทีมงานนักข่าวพลเมือง โดย สำนักสื่อภาคพลเมือง ไทยพีบีเอส พี่เปียและน้องๆที่แสนน่ารัก ]
ขอบคุณที่สุด มพด. มูลนิธิพัฒนาเด็ก อีสานตุ้มโฮม โดย ดวงใจ เที่ยงดีฤทธิ์ และเครือข่ายเพื่อนครู
รวมถึงทีมงานนักข่าวพลเมือง โดย สำนักสื่อภาคพลเมือง ไทยพีบีเอส พี่เปียและน้องๆที่แสนน่ารัก ]