วันพฤหัสบดีที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2565

ห้องเรียน : [ เรียนรู้จากการฟัง ] บันทึกช่วยจำ เรื่องราวจากบ้านของเรา จากมุมของเรา เพื่อบ้านของเรา

ห้องเรียน : [ เรียนรู้จากการฟัง ] บันทึกช่วยจำ เรื่องราวจากบ้านของเรา จากมุมของเรา เพื่อบ้านของเรา
. “บางทีอยากจะลาออกแล้วนะ ไม่มีกำลังใจในการทำงานเลยในบางครั้ง เหนื่อยมากเลย แต่เราเห็นว่าการดูแลผู้ป่วยติดเตียงบ้านเรา พี่น้องเรา คนบ้านเรา เรามีความสุขที่ได้ทำนะ แต่เหมือนไม่มีกำลังใจเลย เพราะเรารายงานไปอยากให้คนที่ดูแลเรามาช่วยดูสภาพจริงบ้าง เป็นกำลังใจให้กันบ้าง ส่วนเรื่องผ้าอ้อม อาหารบำรุงผู้ป่วย หรืออุปกรณ์ต่าง ๆ นั้นไม่ต้องพูดถึงเลย ไม่เพียงพอแน่นอน” คำบอกเล่าจากคุณน้าสุพิศ ดวงมณี ประธาน อสม. หมู่ที่ 2 ตำบลโพธิ์กระสังข์ อำเภอขุนหาญ จังหวัดศรีสะเกษ ผู้รับบทบาทหน้าที่ CG หรือ Care Giver ในพื้นที่ เล่าให้ฟังในสายของวันพฤหัสบดีที่ 8 ธันวาคม 2565 ขณะที่มีโอกาสได้พบปะแลกเปลี่ยน ขอคำชี้แนะในกิจกรรมที่อยากขอคำปรึกษาและคำแนะนำจากท่าน
ใต้ต้นมะขามริมรั้วที่มีแคร่นั่งและกระท่อมหลังเล็กข้างบ้านอันแสนสะอาด ผมมีโอกาสได้พูดคุยแลกเปลี่ยนเพื่อขอนำแนะนำจากผู้นำชุมชนในกลุ่มต่าง ๆ และหนึ่งในนั้นคือ ประธานอสม. ผมเริ่มทักทาย ถามไถ่ตามประสาคนบ้านเดียวกัน และได้สอบถามนานาสาระจากคุณน้าที่เป็นประธานอสม. ได้รับรู้มากมาย และหนึ่งในนั้นคือเรื่องการทำหน้าที่ตามบทบาทที่บ้านเราไม่แตกต่างจากบ้านอื่น ๆ คือ บทบาทของ อสม.ทั้งรูปแบบ การทำงาน ภาระ หน้าที่ ผู้คนและกลุ่มงานต่าง ๆ เป็นการไต่ถามพูดคุยทั่วไป บางทีทำให้ฉุกคิดว่าบ้านเรามีเรื่องราวมากมายกว่าที่เราเห็น กว่าที่เราคิดว่ายังมีกลุ่มคนในชุมชนเราที่ทำงานหนักไม่น้อย ในนามที่เป็นคนชาวบ้านคนหนึ่ง ถูกมอบบทบาทแค่ตำแหน่ง “อสม.” อันหมายถึง อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน ซึ่งหากเอ่ยถึงบทบาทหน้าที่และค่าตอบแทนแล้ว อาจจะคนละเรื่องกันเลย และหนึ่งในการพูดถึงนานาสาระเหล่านั้น คือเรื่องได้รับบทบาทหน้าที่ CG หรือ Care Giver นักบริบาลชุมชน ที่ทำหน้าที่ในการดูแลผู้ป่วย ทุกระดับ ตั้งแต่ป่วยแต่ยังพึ่งพาตัวเองได้ ป่วยแบบมีญาติดูแล ป่วยแบบติดเตียง ป่วยหนัก หรืออีกมากมายในการเจ็บไข้ได้ป่วยที่ไม่ได้จำกัดเพียงอายุมากหรือน้อย นักบริบาลชุมชนต้องทำหน้าที่ในการเก็บรวบรวมข้อมูล รายงาน ดูแล และบางรายต้องดูแลอย่างใกล้ชิด ซึ่งการดูแลของนักบริบาลชุมชนนั้น ในหมู่ที่ 2 เองมี นักบริบาลชุมชน 3 คน มีผู้ป่วยในระดับต่าง ๆ กว่า 40 คน และเจ็บไข้ได้ป่วยหนักกว่า 10 คน “เรารายงานแต่ละกรณีของผู้ป่วยตลอด แต่บางครั้งก็อยากสะท้อนไปให้ผู้ดูแลหลักอย่างคุณหมอลงมาดูสภาพจริงบ้างนะ ผู้ป่วยบางรายเขาป่วยหนักจริง ๆ เราก็สงสารผู้ป่วย บางทีญาติผู้ป่วยเองก็มักจะมองว่าเราไม่ดูแลทั้งที่เขาก็พอดูแลได้บ้าง ซ้ำยังจะมาคอยพูด คอยโพสต์ต่อว่าเราอีก นี่ล่ะพิษภัยของ Social เนาะ ส่วนเรื่องผ้าอ้อม อาหารเสริมหรือนมต่าง ๆ นั้นไม่ต้องพูดถึงหรอก มันไม่เคยได้ทั่วถึง และอีกอย่างได้แต่คิดว่าอยากให้เพิ่มคนมาช่วยดูแลเพิ่มเติม แต่ก็ได้แต่คิดอีกเช่นกัน แต่เราก็คงทำหน้าที่ของเราเท่านี้ให้เต็มที่และทำให้ดีที่สุด” คุณน้าสุพิศ ดวงมณี กล่าวในบทบาทนานาสาระที่แลกเปลี่ยนกัน ผมได้แต่นั่งฟังและรับรู้ถึงอีกเรื่องราวที่เราอาจจะรู้ไม่ทั่วถึง ซึ่งก่อนหน้านี้เราพอรู้มาบ้างว่า บ้านเรามีการจัดการแบบไหนอย่างไร และคงมีปัญหาเรื่องนี้แน่ ๆ แต่ครั้งนี้ได้รับรู้อีกเรื่องที่น่าสนใจไม่น้อยเลย สายลมเย็นพัดพามาเป็นระยะ ไม่รู้ผ่านเวลาไปเท่าไหร่ การสนทนาที่ออกรสชาติ กับการได้นั่งฟังการบอกเล่าในหลายเรื่องผ่านไปผสมกับการแลกเปลี่ยนมุมมองต่าง ๆ นั้น ก่อนที่ผมจะขอเล่าสิ่งที่อยากแลกเปลี่ยนและขอคำชี้แนะในมุมมองที่บ้านเราอาจจะยังไม่เคยได้มี หรือไม่เคยได้จัดมันขึ้นมาเลย และได้รับการตอบรับและแนะนำมากมายจากมุมของผู้นำ ขอบคุณ ผู้นำชุมชนมากมาย หลากหลายกลุ่ม ที่ยังต้องขอคำแนะนำจากอีกหลายท่าน หลายคน กับสิ่งที่คิดอยากทำ อยากนำเสนอและขอความเห็นจากเหล่าท่านผู้รู้ต่าง ๆ . บันทึกช่วยจำ ขวัญชิต โพธิ์กระสังข์ 091265

ทุ่งกะบาลกะไบแห่งเทือกเขาพรมแดนไทย-กัมพูชา พื้นที่เปิดแห่งใหม่เหมาะกับนักเดินทางและนักประวัติศาสตร์

“บุญ” ต้องฟรี วัดไตรสามัคคี’ จ.ศรีสะเกษ ติดป้ายชัดเจน ทำบุญที่นี่ “ฟรี” ไม่เสียตังค์ [มีคลิป]

ที่วัดไตรสามัคคี ต.โดด อ.โพธิ์ศรีสุวรรณ จ.ศรีสะเกษ เป็นวัดท่องเที่ยวเชิงพุทธอีกแห่งของจังหวัดศรีสะเกษ ที่กำลังเป็นที่นิยมในการทำบุญของพุทธศา...