วันจันทร์ที่ 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2565

ชีวิตชาวนา ที่ต้องจัดการเอง [มีคลิป]

ช่วงเก็บเกี่ยวผลผลิตข้าวนาปีที่ผ่านมา ชาวนาบางส่วนมีการปลูกมันสำปะหลังในพื้นที่ทำนาดังกล่าว โดยปลูกในพื้นที่ปลูกข้าว ใช้ระยะเวลาสั้น หรือเรียกว่า “มันปรัง” โดยนิยมปลูกช่วงเดือนมกราคม และจะมีการเก็บเกี่ยวผลผลิตก่อนที่จะหว่านข้าวในรอบปีนั้น ๆ คือช่วงเดือน มิถุนายน - กรกฎาคม หรือพอที่ขนาดของหัวมันสำปะหลังใหญ่พอจะตัดถอนเพื่อขายได้ และใช้พื้นที่ดังกล่าวนั้นหว่านข้าวต่อไป
ที่ตำบลโพธิ์กระสังข์ อำเภอขุนหาญ จังหวัดศรีสะเกษและพื้นที่ใกล้เคียง เป็นพื้นที่ที่ไม่มีคลองส่งน้ำหรือระบบน้ำชลประทาน ทำการเกษตรแต่ละอย่างต้องคอยดูฟ้าฝนเป็นหลัก และต้องเก็บเกี่ยวให้ทัน ไม่เช่นนั้นก็อาจจะเสียหายรวมถึงไม่สามารถจำหน่ายได้เลยก็เป็นได้ เมื่อต้นเดือนพฤษภาคม ที่ผ่านมา มีฝนตกติดต่อกันหลายวัน ประกอบกับน้ำที่ไหลบ่ามาจากทิศใต้คือเทือกเขาพนมดงรัก พรหมแดนไทย-กัมพูชา ไหลบ่ามาสมทบตามทางน้ำธรรมชาติที่เคยมีในอดีตท่วมพื้นที่แปลงนาของชาวบ้านกันทรอม กันทรอมน้อย มาสู่พื้นที่ตำบลโพธิ์กระสังข์ ซึ่งเป็นพื้นที่ต่ำ โดยพื้นที่นาดังกล่าวนั้นมีการปลูกพืชหลังนาอย่าง “มันสำปะหลัง” กำลังเป็นพืชที่ชาวนาปลูกไว้เพื่อหวังผลผลิตในการเก็บเกี่ยวเพื่อขายใช้จ่ายในครอบครัวนั่นเอง และเป็นอีกครั้งที่ชาวนาต้องเร่งเก็บเกี่ยวผลผลิตด้วยการ ตัดต้นมัน ถอน และตัดนำหัวมันขึ้นรถเพื่อขายกันอย่างเร่งรีบ ด้วยสภาพมันที่อยู่ใต้ดินและไม่ทนกับน้ำ ส่งผลให้หัวมันจะเน่าเสีย ไม่สามารถนำไปขายได้นั่นเอง
เฉลิมวงศ์ โพธิสาร เล่าว่า ปีนี้ เริ่มปลูกมันสำปะหลัง ตั้งแต่กลางเดือนมกราคมแล้ว ไปซื้อลำต้นมันสำปะหลังและไปขนมาเองด้วย เพื่อนำมาปลูกในแปลงนาที่เกี่ยวข้าวเสร็จ ดีกว่าปล่อยที่ไว้เปล่า ๆ และปีนี้ก็ถอนเร็วกว่าทุกปีเลยเพราะฝนตกมา มันบางส่วนก็เน่าแล้วด้วย และอีกอย่างคือเรามีรถเครื่องจักรทุ่นแรงของตัวเองด้วย ช่วยทุ่นแรงได้เยอะ ทั้งไถ ทั้งลากทั้งดึงโดยเราเอารถตุ๊กตุ๊กลงมาได้เลย
สมถวิล โพธิ์กระสังข์ เล่าเป็นแนวทางเดียวกันว่า ปีนี้ราคาขายมันสำปะหลังของเรา ดูเหมือนจะดีกว่าทุกปี ที่มันสำปะหลังสวยและกำลังโตได้เต็มที่ เพราะทุกปีที่ขายอยู่ที่ราคา 1-2 บาท / กิโลกรัมเท่านั้น แต่ปีนี้ราคาลานมันสำปะหลังเปิดที่ราคา 2.15 บาท / กิโลกรัม ทำให้ชาวนาที่ปลูกมันสำปะหลังช่วงฤดูแล้งเช่นนี้ยิ้มได้บ้าง อีกทั้งมีลานรับซื้อมันปะหลังเพิ่มขึ้นทำให้ผู้ปลูกมันสำปะหลังสามารถเลือกที่จะไปขายที่อื่นได้ด้วย แต่ที่น่าเศร้าใจที่สุดสำหรับคนปลูกมันสำปะหลังก็คือ ปีนี้ฝนตกและน้ำท่วมเร็วกว่าทุกปี ทำให้ต้องเร่งถอนและนำไปขายให้ทันกับมันที่มี ไม่เช่นนั้น มันจะเน่าเสีย ไม่สามารถขายได้ พอกลางวันก็ได้กินข้าวร่วมภาชน์กันได้บรรยากาศบ้านนอกดีครับ
เช่นเดียวกับ ตาน้อย เกษตรกรชาวบ้านบกสดำ เล่าให้ฟังขณะกำลังเร่งรีบถอนมันที่ถูกน้ำท่วมเกือบถึงหัวเข่าว่า ปีนี้น้ำฝนก็ตกตลอด และน้ำที่ไหลมาจากเทือกเขาพนมดงรักก็มาสมทบอีกรอบ ทำให้น้ำท่วมนาที่ปลูกมันสำปะหลังไว้อย่างรวดเร็ว เราต้องรีบถอน ถ้าปล่อยไว้อีก 2-3 คืน ในสภาพที่น้ำท่วมแบบนี้ หัวมันจะเน่าเสียแน่นอน และไม่สามารถทำอะไรได้เลย เพราะสภาพของมันสำปะหลังจะไม่ทนน้ำได้นานนั่นเอง
บุญธรรม โพธิ์ศรี บอกว่า ปีนี้แทบไม่ได้หยุดเลย ต้องไปช่วยพี่น้องเกือบทุกวัน เพราะแต่ละคนก็ต้องเร่งต้องรีบให้ทัน ก่อนที่มันสำปะหลังจะเน่าเสียหมด ช่วยกันคนละครั้ง คนละรอบ ตามวิถีชาวนาพวกเราที่ต้องช่วย ๆ กัน วิถีของเกษตรกรที่จะปลูกพืชชนิดใด ก็ย่อมต้องการผลผลิตกันทั้งนั้น แต่สำหรับชาวนาเขตตำบลโพธิ์กระสังข์และใกล้เคียง แม้ไม่มีคลองส่งน้ำหรือชลประทานแต่อย่างใด แต่ก็ได้แต่ภาวนาว่าขอให้ผลผลิตพืชต่าง ๆที่ปลูกไปนั้นได้ผลผลิตราคาดี ไม่เน่าไม่เสีย ฟ้าฝนตกต้องตามฤดูกาลก็พอ และหากจะให้ดีกว่านี้ หากรัฐบาลหรือผู้มีส่วนเกี่ยวข้องให้ความสำคัญกับเกษตรกรให้มาก เข้าใจ เข้าถึงรับรู้ถึงปัญหาต่าง ๆ แบบเป็นกันเองคงดีไม่น้อยเลย ชาวนาคงได้ลืมตาอ้าปากได้

ทุ่งกะบาลกะไบแห่งเทือกเขาพรมแดนไทย-กัมพูชา พื้นที่เปิดแห่งใหม่เหมาะกับนักเดินทางและนักประวัติศาสตร์

“บุญ” ต้องฟรี วัดไตรสามัคคี’ จ.ศรีสะเกษ ติดป้ายชัดเจน ทำบุญที่นี่ “ฟรี” ไม่เสียตังค์ [มีคลิป]

ที่วัดไตรสามัคคี ต.โดด อ.โพธิ์ศรีสุวรรณ จ.ศรีสะเกษ เป็นวัดท่องเที่ยวเชิงพุทธอีกแห่งของจังหวัดศรีสะเกษ ที่กำลังเป็นที่นิยมในการทำบุญของพุทธศา...