ศรีสะเกษเป็นหนึ่งในจังหวัดของภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทยที่มีกลุ่มคนชาติพันธุ์ 4 กลุ่มหลัก คือ ลาว เขมร กวย,กูย และเยอ ซึ่งยังมีคนจีนอีกกลุ่มที่ไม่ค่อยได้พูดถึงนัก กระนั้นก็ตาม ภาษาวิถีวัฒนธรรมความเป็นศรีสะเกษก็มีการยึดโยงเอาความเป็นวัฒนธรรมคนลาวในอดีต สืบทอดมาจนถึงปัจจุบัน ซึ่งหลายอย่างก็คงอยู่สภาพเดิม หลายอย่างถูกปรับเปลี่ยนไป บางอย่างอยู่ในสภาพใกล้สูญหายกับยุคสมัย ไปกับกาลเวลา เช่นพิธี “ฮดสรง” ก็คือหนึ่งที่ใกล้สูญหายหรืออาจจะถูกให้ความสำคัญน้อยลงไป
ตำบลโพธิ์กระสังข์ อำเภอขุนหาญ จังหวัดศรีสะเกษ เป็นชุมชนชาวกวย,กูย มีวิถีวัฒนธรรมประเพณีที่ยึดเอาฮีตสิบสอง คองสิบสี่เช่นคนลาวเช่นกัน มีภาษาพูดเป็นของตัวเอง ปีนี้ 2564 นับว่าเป็นปีที่โชคดีของชาวกวยตำบลโพธิ์กระสังข์ ที่คณะสงฆ์ระดับตำบล ได้มีโอกาสได้แยกการปกครองออกจากตำบลขุนหารมาเป็นเอกเทศ เป็นคณะสงฆ์ตำบลโพธิ์กระสังข์ และในขณะเดียวกันได้มีการแต่งตั้งตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดรูปใหม่ของบ้านหนองขนาน คือพระสรรณ์ยา อภิลาโส เป็นพระอธิการสรรญ์ยา อภิลาโส ชาวกวยตำบลโพธิ์กระสังข์จึงได้มีมติการทำกิจกรรมเพื่อแสดงความกตัญญูและมุทิตาจิตให้กับเจ้าอาวาสรูปใหม่ดังกล่าว ด้วยพิธีกรรมพื้นบ้านที่เรียกว่า “ฮดสรง[1]” หรือ “สรงเดี๊อะคูเบือ” ตามประเพณีดั้งเดิมของชาวกวยและชาวลาวที่เคยปฏิบัติมาในครั้งอดีต
ซึ่ง ฮดสรง หรือพิธีกรรมการสรงน้ำพระ หรือที่ชาวกวยเรียกว่า “สรงเดี๊อะคูเบือ” นั้นเป็นแม้จะเป็นประเพณีพิธีกรรมที่สำคัญ แต่ชาวตำบลโพธิ์กระสังข์ก็จัดเพื่อมุทิตาแสดงความกตัญญูเคารพต่อเจ้าอาวาสรูปใหม่ โดยมีการแห่สมโภชเจ้าอาวาสรูปใหม่จากวัดโพธิ์กระสังข์ ซึ่งเป็นวัดเจ้าคณะตำบล มายังวัดบ้านหนองขนาน ระยะทางประมาณ 4 กิโลเมตร ได้รับความร่วมมือจากชาวตำบลโพธิ์กระสังข์มาตลอดเส้นทาง ก่อนจะมีการทำพิธีเจริญพระพุทธมนต์ ถวายไทยธรรมและการฮดสรง
พระครูสังวรวุฒิคุณ เจ้าอาวาสวัดไตรราษฎร์สามัคคี เล่าให้ฟังว่า พิธีฮดสรง เป็นประเพณีพิธีกรรมดั้งเดิมของคนลาว รวมถึงชาวกวย,กูยเราด้วย ซึ่งมีให้เห็นในเขตภาคอีสานของไทยเราเป็นหลัก แต่ปัจจุบันนี้หาชมได้ยากมากแล้ว เพราะโลกมันเปลี่ยนไป ความสำคัญต่าง ๆ ถูกลดน้อยลง แม้จะมีให้เห็นบ้างแต่ก็ไม่ได้บอกกล่าวให้คนได้รับรู้หรือมีลูกหลานได้เห็นความสำคัญนักแล้ว ชุมชนชาวกวยเราเองเห็นว่าเป็นโอกาสดีงามที่มีการสมโภชแสดงมุทิตาจิตแด่เจ้าอาวาสรูปใหม่ของวัดหนองขนานขึ้น จึงได้มีการจัดฮดสรง เป็นการบอกกล่าวให้ลูกหลานคนในชุมชนได้รับรู้และถือปฏิบัติเอาไว้ให้นานเท่านาน
ในขณะเดียวกันที่ผู้นำชุมชนเองก็ได้ให้ความสำคัญในการแสดงมุทิตาจิตครั้งนี้ด้วยเช่นกัน
นายจักรรินทร์ บุตรดี ผู้นำชุมชนบ้านหนองขนาน
กล่าวว่า ชุมชนเรารู้สึกดีใจและภูมิใจที่ได้มีโอกาสได้รับตราตั้งเจ้าอาวาสรูปใหม่แล้ว
โดยได้รับเมตตาจากพระเดชพระคุณเจ้าคณะภาคสิบมอบให้มา ชุมชนเราร่วมกับชาวตำบลโพธิ์กระสังข์ทั้ง
14 หมู่บ้านร่วมกันจัดการเพื่อแสดงมุทิตาจิตในครั้งนี้ แม้ว่าชุมชนบ้านหนองขนานเราจะเป็นชุมชนเล็ก
ๆ แต่ก็มีความรัก ความสามัคคี ให้ความสำคัญกับงานคณะสงฆ์ด้วยดีเสมอมา
เช่นเดียวกันที่นายเสวย พิมมาส ผู้นำชุมชนบ้านหนองขนาน กล่าวเสริมว่า ชุมชนเราไม่ได้จัดงานมุทิตาจิตอย่างเดียว แต่ยังได้นิมนต์เจ้าคณะตำบลขุนหาร (พระอุปัชฌาย์ของเจ้าอาวาส) และเจ้าคณะตำบลโพธิ์กระสังข์ และเจ้าอาวาสวัดไตรราษฎร์สามัคคี มาร่วมพิธีฮดสรง เปิดโอกาสให้พุทธศาสนิกชนตำบลเราและใกล้เคียงร่วมรดน้ำดำหัวไปในตัว เป็นสิริมงคลให้กับตัวเองและเป็นวันรวมญาติเนื่องในวันมหาสงกรานต์ด้วยเช่นกัน
แม้ชุมชนบ้านหนองขนานจะเป็นชุมชนเล็ก
ๆ ในเขตปกครองและคณะสงฆ์ของตำบลโพธิ์กระสังข์ แต่การจัดงานหรือประเพณีวัฒนธรรมต่าง
ๆ ล้วนแล้วแต่ให้ความสำคัญร่วมกันเสมอมา และพิธีการฮดสรงแบบโบราณที่ได้ยึดถือปฏิบัติมาช้านาน
แต่กาลเวลาที่ผ่านไป หากไม่ได้มีผู้นำหรือคนที่ให้ความสำคัญ สิ่งดีงามเหล่านั้นก็ถูกเลือนรางหายไปตามกาลเวลาได้เช่นกัน
แต่ที่ชุมชนชาวกวยตำบลโพธิ์กระสังข์
อำเภอขุนหาญ จังหวัดศรีสะเกษ ยังคงให้ความสำคัญกับประเพณีและวิถีดีงามนี้ จึงยังมีสืบทอดให้เห็นยังปัจจุบัน
[1] มูลนิธิสารานุกรมวัฒนธรรมไทย ธนาคารไทยพาณิชย์. (2542). สารานุกรมวัฒนธรรมไทยภาคอีสาน เล่ม 15. กรุงเทพ ฯ : มูลนิธิสารานุกรมวัฒนธรรมไทย ธนาคารไทยพาณิชย์.