วันอังคารที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2562

ตลาดศีขรภูมิ ผนึกพลังจัดการตลาดจากชุมชนโดยชุมชนเพื่อชุมชน



ตลาดศีขรภูมิ ผนึกพลังจัดการตลาดจากชุมชนโดยชุมชนเพื่อชุมชน


ศีขรภูมิ คืออำเภอหนึ่งที่มีจุดเด่นของจังหวัดสุรินทร์ นั่นคือมีปราสาทอยู่ในตัวอำเภอ นั่นคือปราสาทระแงง มีความสวยงามแห่งองค์ปราสาทและมีความเป็นมาอย่างยาวนานน่าค้นหาและค้นคู่แก่การอนุรักษ์อย่างยิ่ง

ชุมชนในละแวกใกล้เคียงเกิดความคิดอยากสร้างรายได้ให้กับชุมชนด้วยหวังอยากเห็นการเติบโตของชุมชนเอง นำผลิตผล ผลิตภัณฑ์ของชุมชนและของเครือข่ายใกล้เคียงมาจำหน่ายหน้าองค์ปราสาท โดยได้ระดมความคิดและดำเนินการตลาดเพื่อชุมชนแห่งนี้ขึ้น โดยมีการจัดการเสวนาเกี่ยวกับทิศทางที่คนในชุมชนจะร่วมกันจัดการตลาดอย่างไร มีการเชิญผู้นำท้องถิ่น ผู้นำท้องที่ ผู้รู้ คณาจารย์ และปราชญ์ชุมชนมาร่วมแลกเปลี่ยนกันด้วย โดยในวันดังกล่าวได้มีนำออกร้านจากเครือข่ายหลายชุมชน เช่น กลุ่มสตรีบ้านระเวียง ต.ระแงง , กลุ่มสตรีบ้านหนองขอน ต.นารุ่ง, กลุ่มสตรีบ้านไทร ต.จารพัด รวมถึงมีการนำสินค้าจากชุมชนออกมาจำหน่ายด้วย สร้างความคึกคักให้กับผู้สนใจได้ไม่น้อยเลย

ดิฉันเป็นคนในชุมชนเอง เราเห็นรถทัวร์ผลัดกันมาจอดแต่ละเดือนเป็นจำนวนมาก เห็นมาจอดแต่เราไม่สามารถสร้างรายได้ให้เกิดการทัวร์เหล่านี้ได้เลย ซึ่งเราเองก็มีกลุ่มวิสาหกิจชุมชน มีผลิตภัณฑ์ชุมชนของเราเองโดยกลุ่มสัมมาชีพของพวกเรา เราน่าจะสร้างนวัตกรรมเป็นของฝาก เป็นของชำร่วย ของที่ระลึก ซึ่งก็น่าจะสร้างรายได้ให้เกิดกับชุมชนเราได้ด้วยอีกทางหนึ่ง” นันทิชา เต็งผักแว่น ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนบ้านปราสาท ต.ระแงง อ.ศีขภูมิ จ.สุรินทร์ กล่าวในกิจกรรม “ตลาดนัดประชารัฐคนไทยยิ้มได้” เมื่อวันที่ 5 เมษายน 2562


ขวัญชิต โพธิ์กระสังข์ รายงาน
#ปราสาทศีขรภูมิ











วันอาทิตย์ที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2562

เอาผีขึ้นเฮือน : ศรัทธาคนกับผี วิถีไทลาวขุนหาญแห่งบ้านโนนลัด อ.ขุนหาญ จ.ศรีสะเกษ | HUG HOUSE [สุขนี้ที่บ้านเรา]


เรื่อง / ภาพ ขวัญชิต โพธิ์กระสังข์

     ในความเรียบง่ายของไทบ้านอีสานเฮานั้น ยังมีวิถีประเพณี วัฒนธรรม ความเชื่อ ภาษา อาหารการกินและการปฏิบัติที่หลากหลายซ่อนอยู่ในนั้น ซึ่งนั่นคือมนต์เสน่หนึ่งของความเป็นอีสานบ้านเรา
     การเอาผีขึ้นเฮือน ฟังดูน่ากลัวแต่นี่คือพิธีกรรมหนึ่งของชาวไทอีสาน ที่สืบทอดมาตั้งแต่บรรพบุรุษ โดยเฉพาะฝั่งคนขุนหาญที่สื่อสารด้วยภาษาลาว บ้านโนนลัด บ้านดู่ บ้านขุนหาญและบ้านใกล้เคียง ต.ขุนหาญ อ.ขุนหาญ จ.ศรีสะเกษ

     ตามความเชื่อของชาวบ้าน เชื่อว่า ผู้ที่ตายแล้ว จะมีวิญญาณเร่ร่อนอยู่ที่บ้านของตัวเองอยู่ในสถานะอีกโลกหนึ่ง สามารถรับรู้และเห็นว่าคน(ลูกหลาน)ในโลกปัจจุบันทำอะไรอยู่บ้าง แม้จะรับรู้แต่ก็ไม่สามารถบอกกล่าวพูดคุยกับคนปกติได้ และไม่สามารถเข้ากับผีตนอื่น ๆ (ผีบรรพบุรุษที่ตายไปก่อนแล้ว) เพราะจะมีกลิ่นเหม็นสาบและคาวในรูปแบบของผี ด้วยเหตุว่ายังไม่ได้มีการทำพิธีล้างผี อาบน้ำอบน้ำหอมให้กับผีตนนั้น ๆ เสียก่อน
เครื่องเซ่น สำหรับข่าว (บอกกล่าว) ให้กับสิ่งลี้ลับได้รับรู้

     ชาวลาวขุนหาญ จึงต้องทำพิธี “เอาผีขึ้นเฮือน” คือการอัญเชิญผีตนนั้น ๆ มาอยู่บนบ้านและมีการอาบน้ำอบน้ำหอมให้ด้วย โดยจะต้องทำในช่วงเดือนคู่เท่านั้น คือ เดือน 2,4,6และ12 เป็นหลัก (เว้นในช่วงเข้าพรรษาถึงออกพรรษา) โดยพิธีกรรมนี้จะมีการอัญเชิญผีตนนั้น ๆ เข้ากับร่างทรง (ที่เป็นแม่หมอครูอ้อ) เป็นเจ้าพิธีในการอัญเชิญ และมีหมอแคนคอยบรรเลงแคนด้วยจังหวะเฉพาะ เพื่อบรรเลงเรียกให้ผีตนนั้น ๆ เข้ามาเพื่อรับรู้และมาพบปะญาติพี่น้องที่เป็นคน พูดจา ถามไถ่สารทุกข์สุขดิบกับผีบรรพบุรุษผ่านร่างทรง
     นี่คือเรื่องราววิถีความเชื่อ และการยึดถือปฏิบัติที่สืบทอดมาจากรุ่นสู่รุ่นกับคนไทชาติพันธุ์ลาว แห่งถิ่นขุนหาญ บ้านโนนลัด ต.ขุนหาญ อ.ขุนหาญ จ.ศรีสะเกษ

 

ข่าว-บอกกล่าว

โดยพิธีกรรมดังกล่าว จะไม่ได้ทำใหญ่โตนัก เป็นเพียงแต่พี่น้องและลูกหลานของผู้ตายมาร่วมเท่านั้น โดยก่อนจะทำพิธีกรรมนั้น ญาติพี่น้องต้องทำพิธีการ "ข่าว" เสียก่อน นั่นคือการบอกกล่าวให้กับสิ่งลี้ลับต่าง ๆ ที่มองไม่เห็น นับมาตั้งแต่พระแม่ธรณี ผีปู่ตา ผีเหย้าผีเรือน จนกระทั่งถืงวิญญาณบรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้ว โดยจะแบ่งเป็น 2 รูปแบบของการข่าว ได้แก่ การบอกกล่าวถึงพระแม่ธรณี, ผีปู่ตาและผีเหย้าผีเรือน นั้น จะต้องนำกับข้าวคาวหวานและจุดธูป-เทียนและจวยดอกไม้ ไปกระทำที่โคนต้นไม้ที่อยู่รอบบ้านเท่านั้น
เซ่นบอกพระแม่ธรณี, และผีเหย้าผีเรือน จะเซ่นริมโคนต้นไม้บนดิน


ส่วนการข่าวไปยังวิญญาณผีบรรพบุรุษนั้น จะกระทำด้วยการนำกับข้าวคาวหวานใส่ถาด และมีผ้าไหม มีการจุดธูป-เทืยนโดยจะกระทำบนบ้าน เรียกบอกผีบรรพบุรุษให้ทราบทุกตัวตน 
ซึ่งการข่าว มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นการขอให้ท่านเหล่านั้นรวมถึงผีบรรพบุรุษช่วยอำนวยเรียกขานหรือช่วยบอกต่อไปยังผีผู้ตายด้วยว่า ให้รีบมารับรู้และเข้ามาร่วมพิธีกรรมแต่โดยดี อย่าได้ขัดขวางหรือกระทำการใด ๆ ที่ขวางต่อการมาของผีผู้ตายโดยประการทั้งปวง
เซ่นบอกผีบรรพบุรุษ จะเซ่นข่าวบนบ้าน เพราะเป็นผีที่ทำพิธีการล้างผีและอยู่บนเรือนแล้ว

ขึ้นครู

     เมื่อมีการข่าวเรียบร้อยแล้ว ญาติของผู้ตาย ที่ประกอบไปด้วย สามีหรือภรรยาของผู้ตาย พี่และน้องรวมถึงลูกหลานของผู้ตาย จะรายล้อมรอบตัวแม่ครูนางอ้อ ที่เป็นผู้อัญเชิญและเป็นตัวแทนของการเข้ามาประทับร่างทรง และมีหมอแคนขนาบข้าง
     โดยก่อนจะเริ่มพิธี คณะเจ้าภาพหรือพี่น้องลูกหลานผู้จัดงานจะต้องถวายมอบขึ้นครูต่อผู้ประกอบพิธีกรรมทั้งสองท่านก่อน (คนละชุด) ซึ่งจะประกอบด้วย ถ้วยที่ใส่ข้าวสารมาจนเต็มและปักด้วยจวยใบตองที่เสียบปักด้วยดอกไม้ มีเทียนอีกหนึ่งคู่ปักบนถ้วยข้าวสาร มีน้ำอัดลมเหล้าขาวรวมถึงค่าขึ้นครู
แม่ครูหมอและหมอแคน ทำพิธีอัญเชิญครูบาอาจารย์ตัวเองให้รับรู้กับการกระทำพิธีกรรมนี้
     และภายในถาดก็จะมีผ้าแพร-ผ้าถุงไหม โสร่งไหม จวยใบตอง น้ำอบน้ำหอม เป็นเครื่องพิธีกรรมอีกชุดหนึ่งโดยมีมีดดาบยาวโบราณที่อยู่ในฝักผูดมัดด้วยฝ้าย บ่งบอกว่าฝ้ายเหล่านั้นคือสัญลักษณ์ของแม่หมอว่าผ่านมากี่งานและบ่งบอกถึงความศรัทธา ซึ่งมีดดาบดังกล่าวก็คือตัวแทนร่วมของการอัญเชิญสิ่งลี้ลับที่มองไม่เห็นเข้ามาสู่พิธีกรรมนี้ด้วย
     ซึ่งแม่ครูและหมอแคนเอง ก็มีการทำพิธีเพื่อเปิดทางเป็นอารัมภบทบอกกล่าวเทวดาผู้ปกปักษ์รักษาให้ทราบ ด้วยการจุดเทียน และอัญเชิญครูบาอาจารย์ของตัวเองเข้ามารับรู้และให้ดำเนินการผ่านไปด้วยดี

อัญเชิญเทพยดาและสิ่งลี้ลับเข้าสู่พิธีกรรม

ญาติผู้ตาย คารวะแม่หมอ
     ไม่นานนักเสียงแคนก็บรรเลงขึ้นด้วยจังหวะเฉพาะ และแม่ครูก็เริ่มด้วยการประนมมือนิ่งสักพักก็มีปฏิกิริยาด้วยการวนมือที่ประนมนั้นเป็นรูปวงกลมจากช้าเป็นเร็ว วนรอบ3-4รอบหรืออาจจะมากกว่านั้น ก่อนจะหยุดลงด้วยการปรบมือดังแล้วมองซ้ายขวา นั่นบ่งบอกถึงว่า ร่างทรงของแม่หมอนั้นมีสิ่งลี้ลับเข้าประทบทรงแล้ว ซึ่งก็คือผีบรรพบุรุษที่เข้ามากับเสียงแคนและการอัญเชิญนั่นเอง หากถ้าผีตนใดเข้ามาแล้ว ก็จะมีการพูดคุยกันประสาเหมือนลูกหลานถามไถ่กันสักพัก แล้วออกจากร่างทรงด้วยการที่แม่หมอนั้นกระทำเช่นเดียวกับตอนเริ่มแรก
แม่ครูหมอ อารัมภบทมนต์ ก่อนพิธีกรรมอัญเชิญผีบรรพบุรษประทับร่างทรง
ผลัดการเข้ามาเยี่ยมเยียนของผีบรรพบุรุษตนแล้วตนเล่า จนผีผู้ตายนั้นเข้ามาก็จะมีการใช้น้ำอบน้ำหอมลูบหน้าแม่ครูหมอเป็นข้อแตกต่างจากผีบรรพบุรุษตนอื่น ๆ ที่ไม่มีการใช้น้ำอบน้ำหอมลูบหน้า และต่อด้วยการผูกแขนและพูดคุย รวมถึงถามไถ่ผีผู้ตายนั้นว่า จะประสงค์จะอยู่ที่ไหน กล่าวคือ อยู่ร่วมกับผีบรรพบุรุษของตัวเองที่บ้านใหญ่ หรือจะอยู่ที่บ้านของตัวเอง (ในกรณีที่ผู้ตายแยกบ้านมาอยู่ต่างหาก) เมื่อคุยกันเสร็จสรรพรู้ถึงจุดประสงค์เป้าหมายแล้ว ก็จะมีการผูกฝ้ายกับขี้ผึ้งที่ปั้นเป็นรูปคนไว้ ว่านั่นคือตัวแทนของผีผู้ตายก่อนจะยกหิ้งขึ้นไว้ตามจุดที่ผีผู้ตายได้ต้องการไว้นั่นเอง
ขณะผีบรรพบุรุษเข้าประทับร่างทรง 

ปัจฉิมบทแห่งพิธีกรรม

     เมื่อพิธีการจบลง ลูกหลานญาติมิตรที่ร่วมพิธีกรรมก็ต่างจัดพาข้าวกินข้าวน้ำส่ามปลาร่วมกัน ก่อนแยกย้ายกันกลับบ้านทำภารกิจของตัวเองต่อไป




ขวัญชิต โพธิ์กระสังข์
บันทึกเรื่องราววิถีแห่งศรัทธา คนกับผี
05 พฤษภาคม 2562

ทุ่งกะบาลกะไบแห่งเทือกเขาพรมแดนไทย-กัมพูชา พื้นที่เปิดแห่งใหม่เหมาะกับนักเดินทางและนักประวัติศาสตร์

“บุญ” ต้องฟรี วัดไตรสามัคคี’ จ.ศรีสะเกษ ติดป้ายชัดเจน ทำบุญที่นี่ “ฟรี” ไม่เสียตังค์ [มีคลิป]

ที่วัดไตรสามัคคี ต.โดด อ.โพธิ์ศรีสุวรรณ จ.ศรีสะเกษ เป็นวัดท่องเที่ยวเชิงพุทธอีกแห่งของจังหวัดศรีสะเกษ ที่กำลังเป็นที่นิยมในการทำบุญของพุทธศา...