วันพุธที่ 20 มีนาคม พ.ศ. 2562

กวยวอแธรโพธิ์กระสังข์ เรียนรู้กวยอาเจียงสุรินทร์


อนุบาลโพธิ์กระสังข์ เรียนรู้-ชมหมู่บ้านช้างสุรินทร์


วันนี้ (พุธ 20 มีนาคม 2562) นักเรียนชั้นอนุบาล จากโรงเรียนบ้านโพธิ์กระสังข์
อำเภอขุนหาญ จังหวัดศรีสะเกษ ได้มีการกำหนดจัดทัศนศึกษาเรียนรู้นอกสถานที่ให้กับนักเรียนระดับชั้นอนุบาล 1-2 (อนุบาล5-6ขวบ) โดยมีเป้าหมายที่ศูนย์คชศึกษา (หมู่บ้านช้าง) และสุสานช้าง (วัดป่าอาเจียง) ตำบลกระโพ อำเภอท่าตูม จังหวัดสุรินทร์ และปิดท้ายที่สวนน้ำ เมืองใหม่การ์เด้น ตำบลรำดม อำเภอลำดวน จังหวัดสุรินทร์เช่นกัน

เด็ก ๆ สนใจกับการแสดงของช้าง
กิจกรรมดังกล่าว มีผู้ปกครองนักเรียนร่วมเดินทางด้วย เพื่อเป็นการเปิดโอกาสให้ผู้ปกครองคณะครูนักเรียนได้ร่วมกิจกรรมร่วมกัน ส่งผลให้เด็ก ๆ และผู้ปกครองสนุกสนาน ซึ่งหลายคนไม่เคยมาเที่ยวแห่งนี้เลย

วัดป่าอาเจียง อ.ท่าตูม จ.สุรินทร์
โดยคณะครูได้นัดหมายผู้ปกครองและนักเรียนในช่วงเช้าและขึ้นรถบัสจำนวน 2 คัน ให้ผู้ปกครองนั่งไปกับนักเรียนเป็นการดูแลช่วยกัน เป้าหมายแรกที่ศูนย์คชศึกษา ลานแสดงช้าง มาชมการแสดงความสามารถของช้างมากมาย อาทิ ช้างวาดภาพ ช้างเต้น ช้างเล่นกีฬา ซึ่งศูนย์คชศึกษาแห่งนี้เป็นชุมชนชาวกวยอาเจียง หรือที่รู้จักกันดีว่ากวยเลี้ยงช้าง พูดสื่อสารภาษาเดียวกับชาวกวยโพธิ์กระสังข์
ร่วมกันทำบุญสังฆทาน ณ วัดป่าอาเจียง อ.ท่าตูม จ.สุรินทร์
การแสดงความสามารถของช้างจบลง เด็ก ๆ ก็ออกมาเล่นสนามเด็กเล่นที่อยู่หน้าศูนย์แสดงช้างอย่างสนุกสนาน เพราะมีเครื่องเล่นจำนวนมาก ก่อนที่จะไปขึ้นรถมุ่งหน้าไปยังสุสานช้าง ที่วัดป่าอาเจียง ที่อยู่ห่างจากศูนย์คชศึกษาแห่งนี้เพียงหนึ่งกิโลเมตรเท่านั้น
นั่งพักรับประทานอาหารที่ศาลาปฏิบัติธรรม ก่อนที่จะขึ้นไปบนศาลาช้างด้านใน ผู้ปกครอง นักเรียนและคณะครูร่วมทำบุญถวายสังฆทานให้กับทางวัดตามกำลังศรัทธาก่อนจะไปสู่เป้าหมายต่อไป

ผ่อนคลายต่อที่สวนน้ำ เมืองใหม่การ์เด้น อ.ลำดวน จ.สุรินทร์
สวนน้ำ เมืองใหม่การ์เด้น คือสวนสนุกที่เหมาะอย่างยิ่งในการพักผ่อนในช่วงหน้าร้อนเช่นนี้ ตั้งอยู่ที่อำเภอลำดวน จังหวัดสุรินทร์ ตรวจสอบยอดนักเรียนและเปลี่ยนชุดและจ่ายค่าเข้าสถานที่แล้วก็สนุกสนานกันไป ผ่อนคลายได้เป็นอย่างดีสำหรับเด็ก ๆ
แม้จะอยู่ในสวนน้ำเช่นนี้ แต่บรรยากาศในวันนี้ เวลา 15.57 น. วัดได้ 36 องศา นับว่าอากาศยังอบอ้าวสุด ๆ ทีเดียว
เวลาแห่งความสนุกสนานสำหรับเด็ก ๆ หมดลงรวดเร็วทีเดียว ในการนั่งดูและให้กำลังใจของผู้ปกครองที่นั่งเกาะติดขอบสระ ราวกับนักกีฬามาเชียร์ทีมโปรดฟาดแข้งก็ไม่ปาน

16.15 น. ได้เวลาผลัดเปลี่ยนชุดและเดินทางทยอยขึ้นรถกลับ โดยภายในรถก็มีการขับร้องบรรเลงเพลงตลอดการเดินทางไม่แตกต่างจากตอนมานัก เพียงแต่บางคนอาจจะสนุกสนานและเผลอหลับระหว่างกลับนั่นเอง
18.10 น. รถจอดที่ลานสนามกว้างตลาดบ้านโพธิ์กระสังข์ ข้างโรงเรียนบ้านโพธิ์กระสังข์ คำล่ำลาและขอบคุณกัน ก่อนที่จะคำประกาศอีกครั้ง
“พรุ่งนี้ เรามาเรียนกันตามปกตินะคะ” คุณครูหวาน ของเด็ก ๆ กล่าวในเสียงภายในรถโดยสาร รถบัสคันหนึ่ง

ผู้ปกครองจูงมือลูกหลานตัวเองกลับภูมิลำเนา
ความสวัสดิภาพบังเกิดตลอดเส้นทางและเป็นประสบการณ์ครั้งหนึ่งของเด็ก ๆ กับช้างและความสนุกสนานที่ได้พานพบแห่งความทรงจำ

.
#ขุนหาญบ้านเรา
#khunhanhughouse
 20 มีนาคม 2562



สามารถดูลิงค์ยูทูปได้ที่ : 



































วันเสาร์ที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2562

“ทุ่งกะบาลกะไบ” เป็นคำศัพท์เขมร ที่แปลตามคำคือ กะบาล หมายถึง หัว, และกะไบ ก็คือ ควาย โดยรวมคือ ทุ่งหัวควาย นั่นเอง ชาวกวยหรือกูยเรียกว่า บรูปลอเตรียะ, บรูปลอตรี๊ เป็นอีกพื้นที่หนึ่งที่อยู่ชายแดน ตั้งอยู่ในตำบลบักดอง ไกลห่างจากบ้านเรือนหลังสุดท้ายไปประมาณร่วม 20 กิโลเมตร แต่การสัญจรสะดวกแล้วเพราะมีการเปิดเป็นแหล่งท่องเที่ยวแล้ว


#ขุนหาญบ้านเรา บริบทที่ราบสูงบนเทือกเขาชายแดน พนมดงรัก


หลายครั้งที่ตั้งใจอยากทำอะไรเพื่อบ้านเกิดของตัวเอง ซึ่งก็มีหลายอย่างด้วยกัน อย่างทำนั่นอย่างทำนี่ เต็มไปหมด ไม่รู้จะเริ่มจากสิ่งไหนดี ไม่ใช่เพราะว่าตัวเองว่างนักหรือเพราะเก่งกาจก็หาไม่
แต่ด้วยสำนึกข้างในที่คิดว่าอยากทำ และไม่ไปรบกวนใครสักเท่าไหร่นัก ซึ่งเราคงไม่สามารถทำอะไรที่มันไกลตัวหรือไกลความสามารถของเราได้เป็นแน่ สิ่งหนึ่งง่าย ๆ ที่พอจะทำได้โดยไม่ต้องใช้เงินทองหรือวัสดุอุปกรณ์ในการดำเนินการให้มาก นั่นก็คือ การเอาความคิดที่อยู่ในหัวคือสิ่งที่อยากทำนั่นล่ะ เอามาเขียนขีด บอกเล่า และนำออกมาสื่อสารในสิ่งที่เราอยากทำ กล่าวคือแค่ใช้ความคิดและเวลาเท่าที่ตัวเองมีนั่นล่ะ เอาออกมาทำให้เป็นรูปร่างเป็นรูปธรรมขึ้นมา
ผมพอมีความสามารถในการถ่ายภาพและวีดิโอบ้าง ก็อยากทำชิ้นนี้ในรูปแบบนี้ โดยเอาเรื่องราวของบ้านเราหรือสิ่งที่เราได้อยู่ หรือได้ไปพบเห็น นำมาตัดต่อนำเสนอต่อ แต่สิ่งนี้ต้องใช้พลังในการคิดในการออกแบบพอสมควรและต้องมีเวลาให้กับมันไม่น้อยเลย ถ้าจะทำจริง ๆ
... แต่การเขียนเรื่องราวน่าจะเป็นเรื่องง่ายกว่า แค่นำเรื่องราวมาเขียนต่อ รวบรวม เรียบเรียงให้พอเป็นเรื่องบ้าง เอาแบบว่าบ้านเราง่าย ๆ สื่อสารง่าย ๆ คงดี นี่ล่ะคือสิ่งที่พอจะทำได้โดยไม่ต้องใช้อะไรมากมายนัก คือการเขียน มันเป็นจุดเริ่มต้นที่ทุกท่านได้มาพบเจอกัน
#ขุนหาญบ้านเรา บริบทที่ราบสูงบนเทือกเขาชายแดน พนมดงรัก คือคำโปรย คำเกริ่นให้ชวนเห็น
แต่ไม่แน่ใจนักว่าจะพอชวนให้น่าติดตามหรือไม่ ผมใช้คำนี้เกริ่นนำ เพราะอยากเปิดตัวด้วยบริบทให้เห็นเสียก่อนว่า นี่ไงคือบ้านของเรา บริบทที่เราอยู่ ที่เราเกิด เราใช้ชีวิตอยู่คือที่นี่ ณ ตอนนี้
ซึ่งคำว่า #ขุนหาญ โดยในอดีตแล้วนั้น จะใช้คำว่า ขุนหาร  ซึ่งคำว่า ขุนคือ ตำแหน่งหนึ่งในบรรดาที่ตำแหน่งทั้งหลายบรรดามีนั่นเอง
ส่วนคำว่า หารเป็นชื่อของตัวบุคคล คือ นายหารหรือท่านหาร นั่นเอง ซึ่งแน่นอนว่าเป็นผู้ที่เก่งกล้ามีความสามารถเป็นบรรพบุรุษของพวกเรานั่นเอง ส่วนประวัติของท่านมีมากมายใน social
คำว่า ขุนหาร และ ขุนหาญ ปัจจุบันยังมีใช้ทั้งสองชื่อเลย โดย ขุนหาร นี้ ยังเป็นนามของวัดที่เก่าแก่ของพวกเรา คือวัดขุนหาร ตั้งอยู่ที่ตำบลขุนหาญ อำเภอขุนหาญ นั่นเอง
ขุนหาร อีกคำที่ยังใช้อยู่ นั่นคือ เป็นนามของคณะสงฆ์ หรือกลุ่มตำบลทางสงฆ์ ปัจจุบัน ตำบลขุนหาร รวมคณะสงฆ์ตำบลขุนหาญและตำบลโพธิ์กระสังข์ เป็นหนึ่งเดียวคือ คณะสงฆ์ตำบลขุนหาร นั่นเอง โดยมีพระครูสถิตธรรมาภิมณฑ์ (คำทูล ฐานธมฺโม) (อ่านว่า สะถิด-ทำมา-พิมน-คำทูน ถานะทำโม) เจ้าอาวาสวัดบ้านดู่ เป็นเจ้าคณะตำบลขุนหาร
ส่วนคำว่า ขุนหาญนั้น เป็นชื่ออำเภอนั่นเอง ก่อตั้งมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2501 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน ส่วนประวัติอื่นใดนั้น ใน Social ก็มากมีไม่น้อยเลย
และเพราะคำว่า ขุนหาญ นี้เป็นที่รู้จักมากกว่า คำว่า ขุนหาร และใช้กันจนเป็นปกติไปแล้ว จึงจะใช้คำว่า ขุนหาญ ให้เข้าใจกันเป็นแรกเริ่ม แต่หากตอนใดที่เอ่ยถึงคณะสงฆ์ขุนหาร ก็จักใช้คำว่า ขุนหาร ไปตามโอกาส
ขุนหาญ เป็นอำเภอหนึ่งที่อาณาเขตกว้างใหญ่มาก เพราะมีพื้นที่ที่เป็นภูเขาที่ติดกับชายแดนไทย-กัมพูชา ในตำบลบักดอง-กันทรอม
ประวัติศาสตร์ผู้คนอำเภอขุนหาญ มี 3 ชาติพันธุ์ คือ ลาว, เขมร, กวยหรือกูย(ส่วย) ลาวคือพี่น้องที่มีการอพยพถิ่นฐานเดิมมาจากประเทศลาว มีนครหลวงเวียงจันทน์เป็นต้น ที่เรียกกันว่า ลาวเวียง  เขมรคือพี่น้องที่มีการอยู่อาศัยตามป่าเขามาตั้งแต่บรรพบุรุษ ตั้งแต่ก่อนแบ่งอาณาเขตว่านี่คือดินของกูนั่นคือดินของมึงแต่เขมรแบบไทขุนหาญยังคงรักสามัคคีกันดีกับเขมรกัมพูชา ส่วนกวยหรือกูย หรือที่ทางการจะใช้คำศัพท์ว่า ส่วย ก็เป็นคนกลุ่มดั้งเดิมคล้าย ๆ กับพี่น้องเขมรนั่นเอง อยู่ตามป่าเขา ดำรงชีพนับถือผีป่าผีดงและมีศาสนาพุทธยึดเหนี่ยวจิตใจเฉกเช่นกับอีก 2 ชาติพันธุ์ดังกล่าวมาก่อน
คนไทยเรา โดยเฉพาะคนพื้นที่ จะเรียกพี่น้องประเทศกัมพูชาว่า เขมรหรือ แขมร์ โกรม” (อ่านว่า ขะแม โกรม) เป็นภาษาเขมรไทเรา แปลว่า เขมรต่ำ คือเป็นพี่น้องเขมรที่มีอาณาเขตอยู่ในที่ต่ำกว่าเรา ไม่ได้หมายถึง ความต่ำต้อยหรือเหยีดหยามศักดิ์ศรีกันไม่ กวยหรือกูยจะเรียกชาวกัมพูชาว่า เขมร เถือบหรือ เขมร ถาบโดยความหมายเดียวกันกับ แขมร์ โกรมนั่นเอง หรือถ้าลาวไทขุนหาญ จะเรียกกันว่า เขมรต่ำนั่นล่ะ
ด้วยอำเภอขุนหาญ มีอาณาเขตติดกับประเทศกัมพูชา แต่ทว่า ชุมชนหรือหมู่บ้านของชาวขุนหาญเราเองก็ไม่ได้อยู่ในพื้นที่ติดกับชาวกัมพูชาไม่ เป็นภูเขาสูงสลับกันขึ้นลง เรียกภูเขาลูกนี้ว่า พนมดงรักโดยสิ้นสุดภูเขาคือหน้าผา ด้านล่างจึงเป็นประเทศกัมพูชา
แต่ทว่ายุคไหนเป็นแดนดินของใครมาก่อนนั้น อันนี้ผู้เขียนเองไม่สามารถแบ่งให้เห็นเด่นชัดได้ อยู่ที่ดุลยพินิจของผู้มีการศึกษาและเรียนรู้เอาเอง

บนภูเขาพนมดงรัก ในเขตอำเภอขุนหาญ มีพื้นที่เป็นป่าเขา เป็นภูเขา เป็นพื้นที่ของทหารและหน่วยงานรัฐในการกำกับดูแลทั้งสิ้น และไม่ได้อนุญาตให้ผู้คนเข้าไปโดยพลการ นั่นเพราะพื้นที่เหล่านั้นเป็นพื้นที่ประวัติศาสตร์แห่งการสู้รบหรือการต่อสู้มาแล้วทั้งสิ้น ที่เรารู้จักกันดีว่า คอมมิวนิสต์บ้าง ผู้คนเห็นต่างทางการเมือง ทั้งของไทยและกัมพูชาเอง ซึ่งภูเขาเหล่านั้นอาจมีระเบิดหลงเหลือที่ไม่ได้มีการเก็บกู้หรือเก็บกู้ไม่หมดบ้าง อาจจะเกิดอันตรายทั้งสิ้น จึงมีการไม่อนุญาตให้ผู้คนเข้าไปโดยพลการ ยกเว้นได้รับการอนุญาตเป็นครั้งคราวไป
ทุ่งกะบาลกะไบเป็นคำศัพท์เขมร ที่แปลตามคำคือ กะบาล หมายถึง หัว, และกะไบ ก็คือ ควาย โดยรวมคือ ทุ่งหัวควาย นั่นเอง ชาวกวยหรือกูยเรียกว่า บรูปลอเตรียะ, บรูปลอตรี๊ เป็นอีกพื้นที่หนึ่งที่อยู่ชายแดน ตั้งอยู่ในตำบลบักดอง ไกลห่างจากบ้านเรือนหลังสุดท้ายไปประมาณร่วม 20 กิโลเมตร (คาดเดา) แต่การสัญจรสะดวกแล้วเพราะมีการเปิดเป็นแหล่งท่องเที่ยวแล้ว
ทุ่งกะบาลกะไบ อยู่บนที่สูง เป็นภูเขาและมีต้นไม้มากมาย แต่บางช่วงก็เป็นลานกว้าง หรือผลาญหินกว้าง ๆ เป็นเขตอนุรักษ์พันธุ์สัตว์ป่าพนมดงรัก มีเนื้อที่ประมาณ 2,000 ไร่

ถ้าย้อนกลับมามองพื้นที่ทุ่งกะบาลกะไบ จากพื้นราบอย่างเช่น ตำบลโพธิ์กระสังข์ ตำบลกันทรอม มองขึ้นไปทางทิศใต้จะเป็นภูเขา จะมีสภาพเป็นช่องว่างอยู่
บน กิง เฮย. มู อะนุ เคย แผล๊ แอ เผ๊าะ แอ เถ๊ะ แซง จี ทัง เขมร. (ที่ตรงนั้นล่ะ พ่อและเพื่อนเคยหาบเอาปลาร้าและพริกลงไปทางฝั่งเขมร)
... แผล๊ จี มูย ดอง. ฉาบ จี เตอะ เกิด อาทิดเลย เซาะ บรู แซง บรู.( หาบไปแต่ละรอบ กว่าจะไปถึง ขึ้นภูเขาลูกแล้วลูกเล่า)
... เตอะ บลูปลอเตรี๊ยะ แล้วกะแซงจีทัง เขมร ไอ โจด แซงเลย. (ถึงทุ่งกะบาลกะไบแล้ว จะชันลงเป็นหน้าผาเลย)
...คำพูดบอกเล่าของ พ่อทน โพธิ์กระสังข์ เป็นสำเนียงกวยทางตำบลโพธิ์กระสังข์ ขณะที่ชี้นิ้วให้ดูช่องโหว่เล็กๆ สุดลูกตาเท่าที่เห็นได้ ว่า ตรงนั้นล่ะ คือ ทุ่งกะบาลกะไบ

.
#ขุนหาญบ้านเรา
#khunhanhughouse
 09 มีนาคม 2562




#ขุนหาญบ้านเรา
#khunhanhughouse
 09 มีนาคม 2562

ทุ่งกะบาลกะไบแห่งเทือกเขาพรมแดนไทย-กัมพูชา พื้นที่เปิดแห่งใหม่เหมาะกับนักเดินทางและนักประวัติศาสตร์

“บุญ” ต้องฟรี วัดไตรสามัคคี’ จ.ศรีสะเกษ ติดป้ายชัดเจน ทำบุญที่นี่ “ฟรี” ไม่เสียตังค์ [มีคลิป]

ที่วัดไตรสามัคคี ต.โดด อ.โพธิ์ศรีสุวรรณ จ.ศรีสะเกษ เป็นวัดท่องเที่ยวเชิงพุทธอีกแห่งของจังหวัดศรีสะเกษ ที่กำลังเป็นที่นิยมในการทำบุญของพุทธศา...